นอกจากธุรกิจ “เครื่องดื่ม” แล้ว ค่ายบุญรอดฯ ยังหันมาเอาจริงเอาจังกับ “ธุรกิจอาหาร” เพราะมองว่าเป็นปัจจัย 4 ที่ผู้บริโภคต้องทาน และที่สำคัญเป็นสินค้าที่ไมได้รับผลกระทบจาก “ดิจิทัล ดิสรัปชั่น” อย่างที่หลายธุรกิจต้องเผชิญ
สเต็ปการลงทุนธุรกิจอาหารของค่ายบุญรอด และสิงห์ คอร์ปอเรชั่น ให้น้ำหนักทั้งการผลิตอาหาร ซึ่งได้เตรียมขยายทั้งอาหารสำเร็จรูป และอาหารพร้อมทาน รวมถึงการสร้างเครือข่าย “ซัปพลายเชน” เพราะถือเป็นกลไกสำคัญในการ กระจายสินค้าเข้าสู่ตลาดโลก หากสำเร็จจะใช้เป็นโมเดลในการขยายธุรกิจเครื่องดื่ม
หลังจากที่ ภูริต ภิรมย์ภักดี หัวเรือใหญ่ของสิงห์ คอร์ปอเรชั่น และยังนั่งประธานกรรมการบริหาร Singha Ventures ได้ประกาศลงทุน 3 อุตสาหกรรมหลัก คือ สินค้าอุปโภค บริโภค, สร้างเครือข่ายซัปพลายเชน และระบบไอทีหลังบ้าน (อ่าน ไม่อยากโดนดิสรัปต์ ! “สิงห์” ควัก 800 ล้าน ลงทุนสตาร์ทอัพดาวรุ่ง แตกพอร์ตธุรกิจ)
คราวนี้มาถึงคิว ปิติ ภิรมย์ภักดี กรรมการผู้จัดการธุรกิจซัปพลายเชนและกรรมการบริหาร บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ที่รับลูกไปขยายผลต่อ เพราะปิตินอกจากจะเป็นหัวเรือใหญ่เรื่องจัดจำหน่ายแล้ว ส่วนตัวยังมีธุรกิจ ซอสต๊อด ที่สร้างความฮือฮามาแล้ว
ปิติ ได้เปิดเผยถึงการจัดตั้ง บริษัท ฟู้ด แฟคเตอร์ จำกัด เพื่อสร้างเครือข่ายการดำเนินธุรกิจอาหาร ทั้งตลาดภายในไทยและต่างประเทศ โดยวางแผนกรอบการลงทุนในระยะ 3 ปีข้างหน้า (2561-2563) จะใช้เม็ดเงินลงทุนในกลุ่มธุรกิจ 5,000 ล้านบาท ลงทุนในบริษัท ฟู้ด แฟคเตอร์ จำกัด ในวงเงินประมาณ 2,500 ล้านบาท และลงทุนกลุ่มธุรกิจซัปพลายเชน ในบริษัทบุญรอดบริวเวอรี่ 2,500 ล้านบาท
เป้าหมายในการจัดตั้ง บริษัท ฟู้ด แฟคเตอร์ จำกัด คือการสร้างเครือข่ายพันธมิตรเชื่อมต่อช่องทางธุรกิจอาหารสู่ตลาดโลก (Network) เน้นการ “ร่วมทุน” กับกลุ่มผู้ประกอบการท้องถิ่นในแต่ละประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาได้เจรจากับผู้ประกอบการท้องถิ่นหลายราย ในจำนวนนี้มีอยู่ 3-4 รายที่อยู่ระหว่างการเจรจาร่วมทุน
ทั้งนี้หลังจากได้ข้อสรุปการร่วมลงทุนภายในไตรมาสสองแล้ว เชื่อว่าความร่วมมือที่เกิดขึ้นจะช่วยสร้างฟู้ดเน็ตเวิร์กให้กับสินค้ากลุ่มอาหารของบุญรอดฯ ให้มีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น
“การขยายกลุ่มธุรกิจอาหารในช่วงที่ผ่านมานั้น กลุ่มบุญรอดฯ จะอาศัยเครือข่ายของเบียร์สิงห์ ในการขยายตลาดเป็นหลัก แต่หลังจากจัดตั้งบริษัท ฟู้ด แฟคเตอร์ จำกัด จะช่วยให้ทางกลุ่มเพิ่มช่องทางในการขยายตลาดกว้างมากขึ้น โดยเฉพาะการขยายตลาดในต่างประเทศ”
เปิดเครือข่ายธุรกิจอาหารบุญรอดฯ
ปิติ บอกว่า สาเหตุที่บริษัทให้ความสำคัญกับการสร้างเครือข่ายช่องทางจัดจำหน่ายอาหาร เพื่อศึกษาและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด บุญรอดได้มีการจัดตั้ง ฟู้ด แล็บ ในจังหวัดปทุมธานี เพื่อการวิจัยและพัฒนาอาหารอยู่แล้ว
ส่วนเครือข่ายบริษัทผลิตอาหารในเครือบุญรอดฯ ได้สนับสนุนการขยายตลาดของธุรกิจอาหาร อาทิ
- บริษัท เฮสโกโซลูชั่น จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจซอสปรุงรส และอาหารพร้อมทาน
- บริษัท มหาศาล จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจข้าวตราพันดี เป็นต้น
โดยปัจจุบันกลุ่มธุรกิจอาหารในเครือบุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด รวมมีมูลค่าทางธุรกิจอาหารในมือประมาณ 2,500 ล้านบาท
แผนการดำเนินธุรกิจอาหารของกลุ่มบุญรอดฯ จากนี้ไป เน้นการพัฒนาอาหารไทยเป็นหลัก โดยจะมีการพัฒนาทั้งอาหารสำเร็จรูปพร้อมทาน อาหารแช่แข็ง เพื่อตอบสนองความต้องการผู้บริโภคที่มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น
ในช่วงปีแรกจะให้ความสำคัญกับตลาดไทย โดยวางเป้าว่าจะมีสัดส่วนรายได้จากตลาดในประเทศ 80% และรายได้จากตลาดต่างประเทศ 20% และจะทยอยเพิ่มสัดส่วนรายได้จากตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้นภายในสามปี
อย่างไรก็ดี การขยายตลาดในต่างประเทศจะให้น้ำหนักการขยายตลาดในกลุ่มประเทศยุโรปก่อน เนื่องจากสินค้ามีราคาดีและสามารถสร้างกำไรได้สูง รวมถึงการขยายตลาดอาเซียนควบคู่กัน
นอกจากนี้ยังวางแผนโยกฐานการผลิตของบริษัท เฮสโกโซลูชั่น จำกัด จากกระทุ่มแบนและบริเวณย่านบางนา มาที่โครงการ “World Food Valley Thailand” จังหวัดอ่างทอง เพื่อรองรับกับความต้องการในอนาคต ขณะเดียวกันในโครงการดังกล่าวมีความพร้อมทางด้านการผลิตช่วยลดต้นทุนลงได้
นอกจากนี้ยังได้จัดตั้งบริษัทเอสบีพี ดิจิทัล เซอร์วิส จำกัด ดำเนินธุรกิจทางด้านดิจิทัล เพื่อรองรับกับโลกดิจิลทัล ซึ่งมีผลทำให้ธุรกิจต้องปรับตัว
3 ปี ต้องสร้างรายได้ 1.5 หมื่นล้าน
เป้าหมาย 3 ปี ภายใต้ 3 บริษัทใหม่ของบุญรอดฯ สามารถสร้างรายได้แตะ 15,000 ล้านบาท จากปัจจุบันโครงสร้างรายได้มาจากกลุ่มซัปพลายเชนราว 2,500 ล้านบาท และกลุ่มธุรกิจอาหาร 2,500 ล้านบาท และหากธุรกิจอาหารของบุญรอดฯ บุกตลาดต่างประเทศได้สำเร็จ มีแผนใช้โมเดลธุรกิจอาหารเป็นต้นแบบการขยายธุรกิจเครื่องดื่ม เพื่อเปิดตลาดต่างประเทศในอนาคตอีกด้วย.