ไม่เปลี่ยน อยู่ลำบาก “วิลล่า มาร์เก็ต” พลิกเกมรบค้าปลีก ทรานส์ฟอร์มซูเปอร์มาร์เก็ต สู่ออนไลน์เต็มตัว!

บทความโดย : สาวิตรี รินวงษ์ 

ท่ามกลางตลาดค้าปลีกที่แข่งดุ บิ๊กเพลเยอร์แห่ผุดโมเดลร้านยิบย่อย เพื่อเจาะกลุ่มเป้าหมายผู้บริโภคที่แตกเป็น “เซ็กเมนต์” มากขึ้น ซูเปอร์มาร์เก็ตเอง นอกจากจะมีอยู่ในห้าง ยังขยายตัวไปนอกห้าง และมีฟอร์แมทใหม่ๆเกิดขึ้น แต่ “วิลล่า มาร์เก็ต” ซูเปอร์มาร์เก็ตสัญชาติไทย ที่วาง Positioning เจาะตลาดเฉพาะหรือ Niche Market มาตลอด 43 ปี

“Small but Beautiful” วรรคทองของ “สุรพงษ์ ภูสนาคม” ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วิลล่า มาร์เก็ท เจพี จำกัด ชี้คาแร็กเตอร์ของแบรนด์ซูเปอร์มาร์เก็ตอย่าง “วิลล่า มาร์เก็ต”

การยืนหยัดอยู่ได้ในสมรภูมิค้าปลีกได้ยาวนาน “วิลล่า มาร์เก็ต” มีการปรับตัวอยู่ตลอดเวลา และการวางบทบาทเป็น Niche Market ทำให้ขยับตัวค่อนข้างง่าย เมื่อแบรนด์ย่างสู่วัย 44 ปี อีกการปรับที่ผู้บริโภคจะได้เห็นนั่นคือนำซูเปอร์มาร์เก็ต Transform สู่ดิจิทัลเต็มตัว ทำให้ช่องทางการช้อปปิ้ง “ออฟไลน์” ผ่านหน้าร้าน เป็น “หนึ่งเดียว” กับช่องทาง “ออนไลน์” มากขึ้น เพื่อรับกับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป “พิศิษฐ์ ภูสนาคม” ประธานกรรมการบริหาร บริษัทวิลล่า มาร์เก็ท เจพี จำกัด กล่าว

การทรานส์ฟอร์มแรก บริษัทได้จับมือกับ ธนาคารไทยพาณิชย์” หรือเอสซีบี ทุ่มงบหลักสิบล้านบาท พัฒนาแอปพลิเคชั่น “VPlus Wallet” ที่ไม่แค่ตอบโจทย์สังคมไร้เงินสด (Cashless society) แต่แอปดังกล่าวยังเป็นช่องทางในการซื้อสินค้าได้ รวมถึงสามารถสะสมคะแนนเพื่อรับสิทธิประโยชน์ หรือ Loyalty Program จากวิลล่า มาร์เก็ตได้ด้วย เช่น นำคะแนนไปแลกไมล์การบินไทย เปลี่ยนเงินใน Wallet เป็นคะแนนเพื่อแลกรางวัล หรือเปลี่ยนคะแนนให้เป็นเงิน เป็นต้น ซึ่ง “พิศิษฐ์” บอกว่าบริษัทเป็นซูเปอร์มาร์เก็ตรายแรกในเอเชียที่รวมทั้ง Cashless และ Loyalty Program มาไว้ด้วยกัน เรียกว่ามีแอปเดียวทำได้ทั้งช้อป จ่ายเงิน และแลกของรางวัลครบ

VPlus Wallet ยังทำออกมาเอาใจฐานลูกค้าของวิลล่า มาร์เก็ตสุดๆ เพราะบริษัทจะไม่มีการ “จัดแบ่ง” (Classified) ลูกค้าว่าเป็นคนรวยมาก รวยน้อย แต่ก็รู้กันดีว่าขาช้อปของร้านแห่งนี้กระเป๋าหนัก เพราะสินค้าแต่ละรายการที่นำมาขายล้วนเป็นของนอก หรือแบรนด์ดังจากต่างประเทศทั้ง Exclusive มีที่เดียวไม่พอ คุณภาพค่อนข้างสูงด้วย สินค้าจึงคัดกรองกลุ่มเป้าหมายกำลังซื้อสูงโดยอัตโนมัติ และกลุ่มเป้าหมายดังกล่าวก็ “รักสะดวกสบาย” สุดๆ

หลังลอนซ์ VPlus Wallet เพียง 1 เดือน บริษัทมียอดดาวน์โหลดแอปแล้วราว 3 หมื่นราย ในสิ้นปีนี้ตั้งเป้าที่ 1 แสนราย นอกจากนี้ จะดึงสมาชิกที่ถือบัตร VPlus Card ที่มีราว 250,000 ราย ให้เปลี่ยนมาอยู่บนแพลตฟอร์มดิจิทัลดังกล่าวด้วย 

มีแอปพลิเคชั่นไม่พอ สเต็ปต่อมาคือการร่วมกับเอสซีบี พัฒนาเว็บไซต์ shoponline.villamarket.com ซึ่งเป็นหน้าร้านออนไลน์ที่ให้ผู้บริโภคซื้อสินค้าได้ไม่ต่างจากร้านออฟไลน์เลยด้วยซ้ำ เพราะมีสินค้าทุกอย่างเหมือนกับสโตร์ ของนอก ของแพง อาหาร (Food) และไม่ใช่อาหาร (Non-food) มีมาครบ แค่จากนี้ไปช้อปสะดวกขึ้นด้วยปลายนิ้วตลอด 24 ชั่วโมง ส่วนการรับสินค้าลูกค้าเลือกได้ว่าจะให้ส่งเดลิเวอรี่ หรือรับที่สาขา ซึ่งขณะนี้กำลังทดลองให้บริการส่งสินค้าในรัศมี 5 กิโลเมตร (กม.) จากสาขาสุขุวิท 33 และรับสินค้าที่สาขาเดียวกัน ก่อนให้บริการอย่างเป็นทางการเดือนพฤษภาคมนี้

ส่วนการชำระเงินทำได้ทั้งผ่านบัตรเครดิต บัตรเดบิต และตัดจากบัญชีของธนาคารไทยพาณิชย์ผ่านบริการ SCB Payment Gateway บนหน้าเว็บไซต์ได้

“Transform” ธุรกิจครบเครื่อง แต่การขยายสาขาซูเปอร์มาร์เก็ต ยืนยันว่าไม่ชะลอ โดยปีนี้ยังคงวางเป้าหมายเปิด 4-5 สาขา ลงทุนเฉลี่ยน 30-40 ล้านบาทต่อสาขา จะให้น้ำหนักลงทุนช่วงไตรมาส 3 ซึ่งเป็นจังหวะที่บริษัทมีความพร้อมทุกด้าน และจะเน้นทำเลกรุงเทพฯ เป็นหลัก

ปัจจุบันวิลล่า มาร์เก็ต มีสาขาให้บริการประมาณ 34 สาขา ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด และส่วนใหญ่เป็นร้านขนาดกลางพื้นที่ 1,000ตารางเมตร (ตร.ม.) อยู่ในทำเลทองห้อมล้อมด้วยคนมีกำลังซื้อสูง   

“ทิศทางการขยายธุรกิจซูเปอร์มาร์เก็ตของเรา การขยายสาขาไม่ได้ชะลอตัวลง เรายังคงทำทุกอย่างตามที่ควรจะเป็น คือเปิดร้านใหม่ต่อเนื่อง เพราะมองว่าดิจิทัล หรืออีคอมเมิร์ซไม่ได้เข้ามา Depress Store ร้าน แต่ทุกวันนี้ผู้บริโภคอยู่กับหน้าจอมือถือตลอด โจทย์จึงต้องโฟกัสการ Integrate ออนไลน์และออฟไลน์ ให้เป็นหนึ่งเดียวกัน” พิศิษฐ์ ย้ำ

การทำให้อีคอมเมิร์ซและสโตร์ผสานเป็นหนึ่ง นอกจากลดรอยต่อการช้อป บริษัทต้องการสร้างประสบการณ์ใหม่ ตอบสนองความต้องการของลูกค้า ยิ่งกว่านั้นยังจะพยายามทำให้แพลตฟอร์มออนไลน์เอื้อประโยชน์กับซัพพลายเออร์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการสั่งซื้อ เพื่อทราบสินค้าไหนหมด ออเดอร์ไหนต้องส่ง รวมถึงด้านโลจิสติกส์ ที่ต้องทันเกมทันกันทุกช่องทางทั้งหน้าร้านออนไลน์และออฟไลน์ด้วย  

ช่องทางขายไม่ได้มีแค่นั้น เพราะแนวโน้มของธุรกิจค้าปลีกในอนาคต พิศิษฐ์ มองว่ายังมีเทคโนโลยีอื่นๆ เข้ามามีบทบาทเพิ่ม เช่น บล็อกเชน การแบ่งปัน (Sharing Economy) เป็นต้น ซึ่งบริษัทพร้อมปรับวิลล่า มาร์เก็ตให้ทันกระแสตลอด

“โลกธุรกิจยุคนี้ต้องแชร์ มีเครือข่ายพึ่งพาอาศัยกัน อย่างโซเชียลมีเดียเห็นชัด และการที่เราทรานสฟอร์เมชั่นสู่กระแสนี้ เพราะต้องการพาลูกค้า ซัพพลายเออร์ เข้าสู่โลกเดียวกัน มีข้อมูลบนพื้นฐานเดียวกัน โดยมีดิจทัลเป็นเครื่องมือเชื่อมต่อ ถ้าทำสำเร็จจะลดต้นทุนการดำเนินงานทั้งระบบซัพพลายเชน ส่วนต่างต้นทุนยังนำมาเพิ่มประโยชน์ให้ผู้บริโภคด้วย”  

อย่างไรก็ตาม การทรานส์ฟอร์มธุรกิจสู่ดิจิทัลจะเห็นภาพชัดสมบูรณ์ใน 2 ปีข้างหน้า และบริษัทได้ตั้งเป้าหมายใน 5 ปีข้างหน้า จะมียอดขายจากช่องทางออนไลน์ 5% ขณะที่เป้าหมายรายได้ปีนี้ตั้งเป้าโต 10% จากปีก่อนมีรายได้ราว 6,000 ล้านบาท เติบโตต่ำกว่าเป้าหมายเล็กน้อย และมีสัดส่วนยอดขายจากสินค้าหมวดอาหาร 70% และไม่ใช่อาหาร 30%

การปรับตัวครั้งนี้แล้ว จะทำให้ “วิลล่า มาร์เกต” เป็นซูเปอร์มาร์เก็ตที่เล็กแต่สวยไม่สร่างอยู่หรือไม่ ต้องติดตามตอนต่อไป.