เมื่อดิจิทัลไล่ล่า Marks & Spencer ต้องยกเครื่ององค์กรสู่ Digital Transformation เต็มตัว

Marks & Spencer (M&S) ธุรกิจค้าปลีกชื่อดังจากอังกฤษ ต้องเร่งปรับกลยุทธ์ทางการตลาดเพื่อความอยู่รอด หลังจากที่ถูกคลื่นเทคโนโลยีและโลกดิจิทัลซัดเข้ามา จนทำให้ยอดขายลดลงและเตรียมปิดสาขากว่า 100 แห่งภายในปี 2022

โดยขณะนี้ M&S อยู่ระหว่างมองหาแนวทางการทำธุรกิจภายใต้แนวความคิด “one brand, one set of values and one culture” หรือรวมคุณค่าและวัฒนธรรมเดียวเอาไว้ภายใต้แบรนด์เดียว พร้อมทั้งปรับสู่โหมด digital transformation เพื่อปรับตัวเข้าสู่การทำดิจิทัลอย่างเต็มกำลัง

รวมไปถึงการเป็นธุรกิจที่มีแนวคิดแบบ digital-first พร้อมกับการเขย่าโครงสร้างธุรกิจเดิม ด้วยการประกาศนโยบายลดการขายผ่านหน้าร้าน หลังจากผลกำไรก่อนหักภาษีลดลงถึง 62.1% จาก 176.4 ล้านปอนด์ในปีที่แล้ว เหลือเพียง 66.8 ล้านปอนด์ และเหลือเพียง 66.8 ล้านปอนด์

สตีฟ โรว์ ประธานกรรมการบริหาร M&S (Steve Rowe, CEO) กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมภายในองค์กรเป็นหนทางที่เร็วที่สุดที่จะทำให้บริษัทกลายเป็นเบอร์ 1 ของธุรกิจเชิงออนไลน์ที่มีความคล่องตัวและเป็นเชิงพาณิชย์มากขึ้น

เพราะที่ผ่านมา M&S บริหารองค์กรแบบระบบราชการ มีความช้า ซับซ้อนและยุ่งยากมากเกินไป ทั้งยังไม่คล่องตัวเพียงพอ จึงต้องปรับเปลี่ยนเพื่อการเติบโตในอนาคต โดยเริ่มจากคนและโครงสร้างเพื่อให้ง่ายต่อการปรับตัว

“ถ้าเปรียบกับการวิ่งมาราธอน ตอนนี้เราก็จะอยู่ประมาณไมล์ที่ 3 หรือ 4 ซึ่งเราต้องจำไว้ว่านี่คือสเกลของการเดินทางที่เราเดินอยู่ถ้าเราต้องการจะทำให้ M&S กลับมามีความพิเศษโดดเด่นอย่างแท้จริงอีกครั้ง”

แม้จะถูกตั้งคำถามว่า ทำไมถึงไม่เปลี่ยนแปลงให้รวดเร็วกว่านี้ สตีฟ โรว์ ตอบว่า

บริษัทกำลังทำงานในด้านดิจิทัล แต่สิ่งที่จำเป็นคือเร่งการเปลี่ยนแปลงและต้องทำให้แน่ใจว่า ทางเรามีผู้คนและทีมที่เหมาะสม และโฟกัสถูกจุด ซึ่งทางแบรนด์มีพาร์ตเนอร์ด้านเทคโนโลยีเป็นจำนวนมากอยู่แล้ว

สิ่งที่ M&S กำลังทำอยู่จะเห็นได้ว่า พร้อมรับมือกับโลกธุรกิจที่เปลี่ยนไปมาอย่างรวดเร็ว พร้อมทั้งคำนึงถึงจุดแข็งและจุดอ่อนภายในองค์กร ด้วยการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม ทำให้พวกเขาพร้อมต่อกรกับความท้าทายใหม่ๆ ที่เข้ามา

ทั้งนี้ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม สิ่งที่ M&S คอนเฟิร์มว่าจะเกิดขึ้นแน่ ๆ คือการปิดสาขาร้านเสื้อผ้าและของใช้ในบ้านมากกว่า 100 แห่งภายในปี 2022 พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงชนิดแตกต่างจากหน้ามือเป็นหลังมือของร้านที่เหลืออยู่.

Source