เพลง “30 ยังแจ๋ว” อาจเป็นเพลงในฝันของ “Walkman” เครื่องเล่นเพลงพกพายอดฮิตในอดีต ที่โซนี่จัดงานครบรอบ 30 ปีให้เมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา
แทนที่จะเป็นผลิตภัณฑ์ล้ำสมัยสุดไฮเทค แต่ Product Knowledge ครั้งนี้ขอพาคุณนั่งไทม์แมชชีนกลับไปในยุคที่ “iPod” ยังไม่เกิด เพื่อไปดูอดีต ปัจจุบัน และอนาคตของเครื่องเล่นเพลงพกพาที่ปฏิวัติวิถีการฟังเพลงระหว่างการเดินทางครั้งใหญ่ที่สุดในโลกอย่าง “Walkman” ซึ่งมีอายุย่างเข้า 31 ปีแล้วในเดือนนี้ (สิงหาคม 2009)
ประวัติศาสตร์ของ Walkman เริ่มต้นนับตั้งแต่การวางตลาดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 1979 ตลอด 30 ฝน 30 หนาวที่ผ่านมา Walkman ผ่านการเปลี่ยนแปลงจากเครื่องเล่นเทปคลาสเซต มาเป็นเครื่องเล่นแผ่นซีดี เครื่องเล่นแผ่นมินิดิสก์ (แผ่นซีดีเวอร์ชั่นจิ๋ว) ก่อนจะมาเป็นเครื่องเล่นไฟล์เพลงดิจิตอลในที่สุด
แนวคิดของ Walkman นั้นเกิดขึ้นจาก Masaru Ibuka ผู้ร่วมก่อตั้งโซนี่ที่ต้องการสร้างอุปกรณ์ฟังเพลงระหว่างเดินทางข้ามประเทศ โดยมองว่าการฟังเพลงบนเครื่องบันทึกเทปคลาสเซตที่มีอยู่ในสมัยนั้นไม่มีความสะดวกสบายด้วยประการทั้งปวง ทั้งในแง่น้ำหนักและขนาดที่ใหญ่โต วิศวกรของโซนี่ Nobutoshi Kihara จึงลงมือออกแบบ Walkman บนกระดาษโดยใช้วิธีหลับตาและจิตนาการถึงเครื่องเล่นเทปที่จะทำให้ผู้ใช้ฟังเพลงได้ทุกที่ทุกเวลาโดยไม่รบกวนคนรอบข้าง เช่น ขณะกำลังเดินข้ามถนน หรืออยู่ในห้องสมุด
Walkman รุ่นแรกจึงถือกำเนิดขึ้นในรูปลักษณ์สมุดเล่มหนา มาพร้อมน้ำหนัก 390 กรัม (14 ออนซ์) ราคาจำหน่าย 33,000 เยน (ราว 9,900 บาท)
ในที่สุด Walkman ถูกวางจำหน่ายแม้แนวคิดของอิบูกะจะไม่ได้แรงตอบรับที่ดี เนื่องจากผู้ค้าปลีกในขณะนั้นต่างเชื่อว่าเครื่องเล่นเทปที่ไม่มีคุณสมบัติบันทึกเทปนั้นมีโอกาสน้อยมากที่จะประสบความสำเร็จ แต่แล้วทุกสิ่งพิสูจน์ให้เห็นว่าแนวคิดของอิบูกะนั้นถูกต้อง เมื่อ Walkman กลายเป็นสินค้าสำคัญที่เปลี่ยนโฉมโซนี่จากบริษัทสัญชาติญี่ปุ่นธรรมดาท่ามกลางพนักงาน 20 คนในปี 1946 ให้กลายเป็นบริษัทระดับโลกในไม่กี่เดือน โดยโซนี่สามารถจำหน่าย Walkman ได้ 30,000 เครื่องในช่วง 2 เดือนแรก ก่อนจะขยายไปเป็น 50 ล้านเครื่องในช่วง 10 ปี
ที่มาของชื่อ Walkman นั้นแบ่งเป็นหลายกระแส บ้างว่ามาจากความนิยมของฮีโร่ยอดมนุษย์ซูเปอร์แมนในสมัยนั้น บ้างก็ว่ามาจากชื่อยี่ห้อเครื่องบันทึกเสียง Pressman ที่มีอยู่ในตลาดเมื่อ 30 ปีที่แล้ว นอกจาก Walkman เราอาจเคยได้ยินชื่อ “Soundabout” เนื่องจากโซนี่เคยมีแผนใช้ชื่อนี้เพื่อทำตลาดในสหรัฐฯ และใช้ชื่อ “Stowaway” ในอังกฤษ แต่แล้วก็เปลี่ยนใจเพราะชื่อ Walkman นั้นติดหูคนทั่วโลก โดยคำว่า Walkman ได้รับการบันทึกลงในพจนานุกรม Oxford English Dictionary ด้วยในปี 1986
น่าเสียดายที่การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ไม่ได้เพิ่มมนต์ขลังให้ชื่อ Walkman โดยเฉพาะระยะหลังที่เครื่องเล่นเพลงอย่าง iPod สามารถทะลวงตลาดเครื่องเล่นเพลงดิจิตอลได้สำเร็จ ประกอบกับโซนี่ไม่สามารถสร้างกระแสฮิตขั้นเทพให้กับคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กแบรนด์ Vaio และกล้องดิจิตอลแบรนด์ Cyber-shot ได้อย่างที่ Walkman เป็นมาตลอดหลายปี สิ่งที่เกิดขึ้นคือโซนี่ต้องประกาศผลดำเนินงานขาดทุน 9.89 หมื่นล้านเยน (ประมาณ 2.9 หมื่นล้านบาท) ในปีการเงิน 2008 ซึ่งสิ้นสุดเมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เป็นการขาดทุนครั้งแรกในรอบ 14 ปี และคาดว่าโซนี่จะขาดทุนเพิ่มขึ้นอีกในปีนี้
ปัจจุบัน โซนี่ประกาศว่าสามารถจำหน่าย Walkmans ได้ 7 ล้านเครื่องตลอดปี 2008 เพิ่มขึ้นจาก 5.8 ล้านเครื่องที่เคยทำได้ในปี 2007 โดยยอดจำหน่ายเครื่องเล่นเพลงพกพาทั้ง Walkman และเครื่องเล่นเพลงดิจิตอลรุ่นใหม่มีจำนวนทั้งสิ้นราว 385 ล้านเครื่องทั่วโลก เทียบกับแอปเปิลที่ประกาศความสำเร็จในการจำหน่าย iPod ทะลุ 100 ล้านเครื่องไปตั้งแต่ปี 2007 ทั้งที่เปิดตัวรุ่นแรกเมื่อปี 2001 เท่านั้น ทำสถิติเป็นเครื่องเล่นเพลงพกพาที่มียอดขายเติบโตเร็วที่สุดในประวัติศาสตร์
นักวิเคราะห์พูดถึงช่องว่างระหว่าง Walkman และ iPod ว่ายากมากที่โซนี่จะไล่ตามได้ทัน ทั้งในแง่การปะทะกันซึ่งหน้าและการขยายฐานตลาดที่ตัวเองมี แม้ว่าโซนี่จะพยายามหาจุดขายให้ Walkman อย่างสม่ำเสมอ (บางรุ่นของ Walkman มีรูปร่างคล้ายขนม Jelly Bean ได้รับเสียงตอบรับจากตลาดพอสมควร) โดยเชื่อว่าสิ่งเดียวที่โซนี่จะสามารถสร้างเอกลักษณ์ได้ชัดเจนที่สุดคือเครื่องเกม PlayStation 3 และ PlayStation Portable (PSP) แต่ก็ยังต้องทำให้มีความชัดเจนของผลิตภัณฑ์มากกว่านี้
สำหรับอนาคต โซนี่เชื่อว่า Walkman X-series ที่มาพร้อมหน้าจอสัมผัสนั้นจะช่วยกระตุ้นตลาดได้ ขณะเดียวกันยังมีข่าวว่าซีอีโอโซนี่อย่าง Howard Stringer ได้เปิดตัวทีมผู้บริหารชุดใหม่พร้อมแผนรวมแผนกฮาร์ดแวร์อิเล็กทรอนิกส์และแผนกคอนเทนต์ความบันเทิงเข้าด้วยกัน โครงสร้างบริษัทใหม่นี้เองที่หลายคนเชื่อว่าอาจมีการเปลี่ยนแปลงในธุรกิจการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของโซนี่ครั้งใหญ่ในอนาคต
แม้อนาคตของ Walkman ในวัยเลย 30 ปีจะไม่ได้อยู่ในตำแหน่งเบอร์หนึ่งอย่างในอดีต แต่ก็ต้องยอมรับว่า Walkman คืออุปกรณ์ที่ปฏิวัติวิถีการฟังเพลงของประชากรโลกได้อย่างเป็นรูปธรรมที่สุด โดยโซนี่จะจัดนิทรรศการรำลึก 30 ปี Walkman ที่โชว์รูมสำนักงานใหญ่ต่อเนื่องจนถึงวันที่ 25 ธันวาคมนี้
Yuki Kobayashi ประชาสัมพันธ์โซนี่กล่าวกับสื่อมวลชนว่าสิ่งที่โซนี่จะทำคือการมุ่งมั่นจำหน่าย Walkman ต่อไป เพื่อให้ 30 ปีที่ผ่านมาเป็นหลักไมล์ที่สำคัญของการเปลี่ยนแปลงสำหรับโซนี่ ไม่ใช่ให้ Walkman กลายเป็นเพียงชิ้นส่วนของประวัติศาสตร์อันเกรียงไกร
รู้หรือไม่
นิตยสาร BBC ฉลอง 30 ปี Walkman ด้วยการขอความร่วมมือเด็กชายวัย 13 ปีนาม Scott Campbell ให้งดใช้ iPod ของตัวเองแล้วเปลี่ยนมาใช้ Walkman รุ่นดึกเป็นเวลา 1 สัปดาห์แทน โดย Campbell บอกว่าเพื่อนส่วนใหญ่ที่ได้เห็น Walkman พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “นึกภาพไม่ออกเลยว่าพ่อแม่เราใช้กล่องใหญ่โตหน้าตาประหลาดนี้ได้อย่างไร”
Campbell บอกว่า พ่อได้เล่าให้เขาฟังแล้วว่า Walkman มีขนาดใหญ่ ก็เขาไม่คิดว่ามันจะใหญ่เท่าหนังสือเล่มหนึ่งเช่นนี้ แถมสีก็ยังมีเพียงเฉดเดียวคือเทา ทั้งที่เก็ดเจ็ดในยุคนี้มีให้เลือกครบเฉดสีรุ้ง
ปรากฏว่า Campbell ต้องใช้เวลานานกว่า 3 วันจึงจะรู้ว่าต้องกลับด้านเทปเพื่อฟังเพลงอีกด้าน
ปฏิกิริยาของเพื่อนรายอื่นที่เห็น Walkman ของ Campbell บางคนหัวเราะเยาะว่า “ตอนนี้ไม่มีใครเค้าใช้กันแล้วเพื่อน” บางคนบอกว่า “ยอดไปเลย” ขณะที่อีกคนบอกว่า “คราวนี้ไม่มีทางทำหายแน่”