การตลาดเรียลไทม์ด้วยทวิตเตอร์

ไม่เคยมีสื่อไหนที่ช่วยให้การส่งข้อความตรงถึงคนนับหมื่น แสน หรือแม้แต่นับล้านพร้อมกันในคลิกเดียว ทำได้ง่ายเท่ากับบน Twitter เพียงพิมพ์ข้อความแล้วกดส่งโดยไม่ต้องลงรูปสร้างอัลบั้ม ไม่ต้องสร้างระบบฐานข้อมูล และไม่ต้องออกแบบเว็บไซต์มารองรับ และที่สำคัญคือฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย

จากผลสำรวจของ ProBlogService.com พบว่าอัตราการคลิกลิงค์ (Click Through Rate หรือ CTR) บนทวิตเตอร์นั้นอยู่ที่ราว 4% สูงกว่า CTR ของแบนเนอร์โฆษณาทั่วไปซึ่งเท่ากับ 0.4% ถึงสิบเท่า และสูงที่สุดในบรรดาเว็บ Social Network ทั้งหมด

นั่นคือหากแบรนด์ๆ หนึ่งมี Follower 1 พันคนบนทวิตเตอร์ ลิงค์ที่ลงจะถูกคลิกเข้าไปดูถึง 40 คนในเวลาไม่กี่ชั่วโมง หรือมากกว่านั้นถ้า Follower เป็นกลุ่มแฟนที่เหนียวแน่นของแบรนด์

หากเป็นที่สหรัฐอเมริกา ทวิตเตอร์ของแบรนด์ใหญ่ๆ มี Follower กว่า 1 ล้านคน ทุกครั้งที่ลงลิงค์ใหม่ก็เป็นไปได้สูงที่จะมีผู้คลิกเข้าไปชมถึงราว 4 หมื่นคนภายในไม่กี่ชั่วโมง

ด้วยข้อมูลเหล่านี้ ทำให้นักการตลาดและภาคธุรกิจทั่วโลกจับตามองและรีบลงมาเล่น เพราะดูเหมือนว่าทวิตเตอร์เกิดมาเป็นเครื่องมือทางการตลาด ยิ่งกว่าเป็นเครื่องมือสื่อสารส่วนบุคคลเสียอีก รวมถึงหลายแบรนด์ในไทยที่ลงมาใช้งานทวิตเตอร์กันอย่างจริงจังถึงแม้ประมาณการผู้ใช้ทวิตเตอร์ในไทยจะยังอยู่ที่ราวๆ ไม่ถึง 3 หมื่นคน แต่ก็มีอัตราการเติบโตสูงเด่นถึงเดือนละหลายเท่า และนั่นหมายถึงยอดผู้ใช้ทวิตเตอร์ในไทยจะถึงหลักแสนได้ไม่ยากภายในปีนี้

ที่สำคัญ ทุกแบรนด์ ทุกธุรกิจ ต้องพูดคุยแบบคนกับคน เพราะหากแบรนด์ไหนบนทวิตเตอร์ที่พูดแต่เรื่องขายของเป็นประจำ ทำตัวไม่ต่างจากพื้นที่โฆษณา ต่อไปข้อความจากแบรนด์นั้นก็จะถูกมองข้าม หรือที่สุดคือถูกผู้บริโภคเลิก Follow ไปไม่ต่างกับการกดปิดโฆษณาบนเว็บทั่วไป

Twitter เหมาะจะใช้เป็นเครื่องมือการตลาดที่เจาะเฉพาะกลุ่ม (ไม่ Mass) เนื่องจากผู้บริโภคเลือกได้ว่าเขาจะติดตามแบรนด์นั้นๆ หรือไม่ และตัวเลข Follower ที่ได้ก็ใช้วัดผลได้ชัดเจนระดับหนึ่ง เพราะถ้าผู้บริโภคสนใจ ก็จะ Follow เอง ไม่ใช่การหว่าน Marketing Message ออกไปกว้างๆ ซึ่งมีทั้งผู้ที่ไม่สนใจและไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายด้วย

อย่างไรก็ตาม กระบวนการสร้างแฟนๆ ผู้ติดตามหรือ “Follower” นั้นต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง การตลาดบน Twitter จึงเป็นความสัมพันธ์ระยะยาวหรือตลอดไปแบบ “Foreverism” และต้องใกล้ชิด Tweet ข้อความอย่างสม่ำเสมอทั้งสองทางแบบ Interactive

เป้าหมายต่างๆ ของการใช้ Twitter เพื่อการตลาดนั้นมีหลากหลาย แต่สามารถจัดแบ่งกว้างๆ ได้ 5 ข้อ ดังที่ กติกา สายเสนีย์ ในฐานะ Business Director บริษัท m Interaction ซึ่งเป็นเอเยนซี่โฆษณาออนไลน์ ได้ไล่เรียงไว้ดังนี้

– ใช้บอกว่ากำลังทำอะไรอยู่ เช่นปล่อยข่าวสินค้ารุ่นใหม่ๆ ก่อนจะออก หรือข่าวเตรียมงานกิจกรรมต่างๆ
– ประกาศข่าวต่างๆ โดยอาจจะส่งหัวข้อข่าวพร้อมลิงค์ให้กดไปอ่านได้เต็มๆ อีกทีหนึ่ง
– เล่าบรรยากาศกิจกรรมทางการตลาด หรือการประชุมสัมมนา โดย Tweet ประเด็นหรือเล่าเหตุการณ์ต่างๆ เพื่อให้ผู้ที่ไม่มีโอกาสเข้าร่วมงานได้รู้ด้วยว่ามีเรื่องราวอะไรเกิดขึ้นบ้างแบบ Real Time
– แสดงความคิดเห็น เพื่อให้ดูเป็นมนุษย์ และใกล้ชิดผู้อ่านมากขึ้น ดูเป็นตัวจริงจากแบรนด์จากองค์กรนั้นจริงๆ ไม่ดูเป็นแหล่งรวมข่าวประชาสัมพันธ์เท่านั้น อย่างไรก็ตาม ต้องเป็นความเห็นที่เหมาะสมกับสถานการณ์ และไม่ก่อความขัดแย้งเกินไป
– สื่อสารและสร้างสัมพันธ์โดยตรงกับคนอื่นๆ ด้วย เช่นไป Follow และ Reply คนอื่นๆ ด้วย เพราะแค่เขียนหรือ Tweet อย่างเดียว ย่อมดูไม่น่าสนใจ เป็น Feed ข่าวทั่วๆ ไป และจะมีเพื่อนมา Follow น้อย หาเพื่อนใหม่ได้ยาก

หลายๆ แบรนด์ในไทยลองใช้ทวิตเตอร์มาระยะหนึ่งแล้ว และบุกอย่างจริงจังเต็มที่เมื่อมีกระแสการเมืองช่วยพาคนไทยเข้ามาเล่นหลักไม่กี่พันสู่หลายหมื่น และยังโตกว่านี้ได้อีกหลายเท่าอย่างรวดเร็ว โดยแต่ละองค์กรก็มีจุดประสงค์หลากหลาย ไม่ว่าการสร้างแบรนด์แบบบริษัทอสังหาริมทรัพย์อย่าง แสนสิริ, การสร้างแบรนด์ผ่านคอนเทนต์บันเทิงอย่าง อคาเดมี่ แฟนเทเชีย ให้มี Engagement ผูกพันบนทวิตเตอร์กับผู้ใช้ได้นานๆ และได้ทุกวันของ Pepsi ใน PepsiAF, การโปรโมตภาพยนตร์อย่างมีเทคนิคของบริษัทหนัง GTH, การโปรโมตสินค้าอย่างไม่ Hard Sell ผ่านทวิตเตอร์ของ สนพ. แจ่มใส ฯลฯ

แต่ละรายใช้เทคนิคเสริมที่หลากหลาย เช่น เกมตอบคำถามชิงรางวัลเพื่อดึงคนเข้าเว็บ – การใช้ร่วมกับสื่ออื่นๆ ทั้งเฟซบุ๊ก – ยูทูบ – เว็บไซต์ และกิจกรรมอีเวนต์ภายนอก – กระตุ้นให้ผู้อ่านส่งข้อความมาเป็น Content ให้แบรนด์, กับอีกหลากหลายกลยุทธ์อื่นๆ เป็นฐานสำคัญให้ต่อยอดไปสู่กลยุทธ์การตลาดบนทวิตเตอร์แบบอื่นๆ ได้อีกต่อไปไม่หยุดนิ่ง

ทั้งหมดนี้อาจยังไม่ใช่สูตรสำเร็จแน่นอน เพราะทุกรายยอมรับว่าอยู่ระหว่างทดลอง แต่ก็มีแง่มุมที่น่าสนใจและเป็นกรณีศึกษาชั้นดีของการตลาดบนทวิตเตอร์ในไทยได้