น่าจะเป็นหัวข้อของการสนทนาที่ยังไม่ล้าสมัยไปสักทีเดียว เกี่ยวกับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย ในขณะที่หลายๆ ฝ่ายมองว่าพิษเศรษฐกิจยังคงมีแนวโน้มของการเรื้อรังไปอีกนาน และสิ่งหนึ่งที่ไม่สามารถปฏิเสธได้ก็คือผลกระทบที่มีต่อทัศนคติและพฤติกรรมของผู้บริโภค ซึ่งมีความสำคัญอย่างมากต่อการดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน
บริษัท ฟาร์อีสท์ ดีดีบี ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นกับกลุ่มตัวอย่างเพศชายและเพศหญิงที่มีอายุระหว่าง 30-50 ปี จำนวน 200 คน ในเขตกรุงเทพฯ ผ่านทาง Insights Springboard ซึ่งเป็นเครื่องมือการศึกษาเบื้องลึกของผู้บริโภคที่สามารถทำให้เข้าใจเกี่ยวกับทัศนคติ และความต้องการของผู้บริโภคและสังคมแวดล้อม ทีมงานเชื่อว่าโดยหลักๆ แล้ว ผลการสำรวจในครั้งนี้น่าจะสามารถนำเสนอภาพการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคให้กับผู้ประกอบการ รวมถึงผู้ผลิตสินค้าและบริการต่างๆ ได้ ณ ระดับหนึ่ง
จะอีกนานแค่ไหน ???
หลายๆ คนคงจะมีภาพอยู่ในใจว่าสถานการณ์ของการที่เศรษฐกิจตกต่ำเช่นนี้จะดำเนินไปอีกนานแค่ไหน เราเริ่มจากการพยายามทำความรู้จักกับกลุ่มตัวอย่างเสียก่อนเกี่ยวกับในประเด็นดังกล่าวข้างต้น ซึ่งพบว่ากลุ่มเป้าหมายมากถึง 53% มีความเห็นว่า ลักษณะของเศรษฐกิจเช่นนี้น่าจะกินเวลาไปอีกสัก 1-2 ปี ในขณะที่กลุ่มเป้าหมายอีก 29% มองว่า สถานการณ์ดังกล่าวอาจจะดำเนินไปอีก 3-4 ปี และกลุ่มเป้าหมายที่เหลืออีก 18% มีความเห็นว่าตนเองอาจจะต้องตกอยู่ในสถานการณ์เช่นนี้ไปอีกมากกว่า 4 ปี
ระยะเวลาที่คาดว่าสภาวะเศรษฐกิจถดถอยจะยังคงอยู่ต่อไป
น้อยกว่า 1 ปี 3%
1-2 ปี 50%
3-4ปี 29%
มากกว่า 4 ปี 18%
N = 200
ใครๆ ก็ประหยัด
จากการที่ทีมงานเข้าร่วมสังเกตการณ์การสำรวจในครั้งนี้ พบว่า มีกลุ่มเป้าหมายเพียงบางส่วนเท่านั้นที่บอกว่า สภาวะเศรษฐกิจในขณะนี้ไม่มีผลกระทบต่อตนเองเลย บ้างก็ให้เหตุผลว่าเป็นเพราะตนเองยังคงเป็นผู้ที่มีเงินเดือนประจำ บ้างก็ให้เหตุผลว่าตนเองมีลักษณะการดำเนินชีวิตอย่างพอเพียงอยู่แล้วเป็นปกติ จึงมองว่าตนเองไม่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว
ในขณะที่กลุ่มเป้าหมายส่วนใหญ่ยอมรับว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อตนเองในหลายๆ รูปแบบ ทั้งต่อตนเองรวมถึงครอบครัว และยังอาจจะมีผลต่อสุขภาพจิตอีกด้วย หลายๆ คนรู้สึกว่าค่าครองชีพแพงขึ้น ในขณะที่รายได้ไม่ได้มากขึ้นตามสัดส่วน ทำให้ตนเองรู้สึกเครียดและเบื่อหน่ายกับชีวิตท่ามกลางความฝืดเคืองของเศรษฐกิจ บางคนบอกว่ารายได้ที่หาเริ่มไม่พอใช้จ่ายเหมือนที่เคย ในขณะที่บางคนรู้สึกกังวลต่อไปถึงสิ่งที่จะเกิดตามมาในอนาคต นั่นก็คือการเลิกจ้างงาน เป็นต้น
และเมื่อทีมงานสัมภาษณ์ป้อนคำถามเกี่ยวกับวิธีการรับมือกับการใช้ชีวิตในสภาวะเศรษฐกิจถดถอยในขณะนี้ พบว่า กลุ่มเป้าหมายส่วนใหญ่เริ่มมองหาวิธีการในหลายๆ รูปแบบแตกต่างกันไปตามแต่แนวคิดของแต่ละคน ดังแสดงในภาพด้านล่าง
วิธีการรับมือกับสภาวะเศรษฐกิจถดถอย
ไม่ฟุ่มเฟือย/ประหยัดใช้แต่ของจำเป็น 78%
รอบคอบเรื่องค่าใช้จ่าย/กำหนดค่าใช้จ่ายต่างๆ/วางแผนการใช้เงิน 13%
ใช้ชีวิตแบบพอเพียง/ใช้จ่ายพอดีตัว 9%
ใช้จ่ายตามปกติ 9%
ปรับตัวและยอมรับกับสถานการณ์ 5%
ทำงานหารายได้เพิ่มทางอื่นๆ 4%
อื่นๆ(เช่นซื้อสินค้าราคาถูก/ของลดราคา ออมเงิน ใช้ทุกสิ่งทุกอย่างอย่างคุ้มค่า) 8%
N=200
โลกเปลี่ยนหรือมุมมองเปลี่ยน
ในการสำรวจความคิดเห็นในครั้งนี้ ทางทีมงานได้แบ่งเนื้อที่ส่วนหนึ่งของแบบสอบถามเพื่อทำการศึกษาว่าทัศนคติโดยทั่วๆ ไปของกลุ่มเป้าหมายนั้นมีแนวโน้มของสัญญาณการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใดได้บ้าง ซึ่งผลวิจัยในภาพรวมพบว่า 78% ของกลุ่มเป้าหมายนั้นมองว่า “ปัญหาทุกปัญหาสามารถแก้ไขได้” ในขณะเดียวกัน 67% ของกลุ่มเป้าหมายมีความเห็นว่า “ตนเองนั้นต้องยิ่งสนใจดูแลสุขภาพมากขึ้นในสภาวะเศรษฐกิจถดถอยเช่นนี้”
อย่างไรก็ตาม เมื่อนำข้อมูลดังกล่าวมาวิเคราะห์เพิ่มเติม เพื่อศึกษาถึงความแตกต่างที่เกิดขึ้นระหว่างกลุ่มตัวอย่างที่อายุน้อยกว่า (30-35 ปี) กับกลุ่มตัวอย่างที่มีอายุมากกว่า (36-50 ปี) ทางทีมงานพบว่า ระหว่างกลุ่มเป้าหมายสองกลุ่มดังกล่าว มีข้อแตกต่างกันทางความคิดในบางประเด็น
ทัศนคติโดยทั่วๆ ไปของกลุ่มเป้าหมาย
ฉันมองว่าปัญหาทุกปัญหาสามารถแก้ไขได้ อายุ 30-35 ปี 83% อายุ 36-50 ปี 71%
ฉันต้องการจะมีอายุยืนยาว โดยมีคุณภาพชีวิตที่ดีด้วย อายุ 30-35 ปี 74% อายุ 36-50 ปี 76%ฃ
ในภาวะเศรษฐกิจถดถอยแบบนี้ทำให้ฉันยิ่งต้องสนใจดูแลสุขภาพตนเองมากยิ่งขึ้น อายุ 30-35 ปี 62% อายุ 36-50 ปี 43%
ฉันพร้อมที่จะทำสิ่งแปลกใหม่และแตกต่างจากเดิม อายุ 30-35 ปี 47% อายุ 36-50 ปี 49%
ฉันรู้สึกพึงพอใจกับการใช้ชีวิตในปัจจุบัน อายุ 30-35 ปี 39% อายุ 36-50 ปี 48%
หมายเหตุ อายุ 30-35 ปี N= 120 อายุ 36-50 ปี N=80
สถานการณ์เปลี่ยน…พฤติกรรมเปลี่ยน
นอกจากนั้น เนื้อหาอีกส่วนของการสำรวจในครั้งนี้ก็สามารถชี้ให้ผู้อ่านเห็นถึงภาพหรือความเคลื่อนไหวทางด้านพฤติกรรมของกลุ่มเป้าหมายในหลายๆ ประเด็น ซึ่งแสดงตัวเลขของจำนวนกลุ่มตัวอย่างที่เห็นด้วยต่อประเด็นต่างๆ ต่อไปนี้
ความคิดเห็นเกี่ยวกับพฤติกรรมการจับจ่ายซื้อสินค้า
ฉันมีการวางแผนลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นลงตลอดช่วงระยะ 3 เดือนที่ผ่านมา 80%
ฉันมีการวางแผนล่วงหน้าก่อนซื้อของทุกครั้งมากขึ้นกว่าแต่ก่อน 80%
ฉันจะใช้เวลาวันหยุดเสาร์/อาทิตย์พักผ่อนที่บ้านเพื่อทำกิจกรรมร่วมกับครอบครัวมากกว่าจะออกไปเดินเที่ยวตามห้างสรรพสินค้า 70%
ฉันมักจะซื้อสินค้าในจำนวนที่พอใช้ ไม่ซื้อเก็บเหมือนเมื่อก่อน แม้ว่าสินค้านั้นจะจัดโปรโมชั่นลดราคาก็ตาม 65%
ฉันใช้เวลาซื้อของในห้างสรรพสินค้าน้อยลงกว่าแต่ก่อน เพราะต้องการหลีกเลี่ยงการซื้อสินค้าที่ไม่จำเป็น 56%
ฉันมีความสนใจที่จะซื้อสินค้าเฮาส์แบรนด์ทดแทนสินค้ามียี่ห้อมากขึ้นกว่าแต่ก่อน 55%
N=200
สำหรับผู้ประกอบการสินค้าประเภทอุปโภคบริโภคแล้ว จะเห็นได้ว่าในปัจจุบันผู้บริโภคมีแนวโน้มของการระมัดระวังในเรื่องของค่าใช้จ่ายมากขึ้น มีการวางแผนล่วงหน้าก่อนการจับจ่ายซื้อของมากขึ้น ดังนั้น ผู้ประกอบการและผู้ผลิตสินค้าคงต้องทำงานหนักมากขึ้นในการที่จะค้นคว้าหากลยุทธ์ทางการตลาดรวมถึงการสื่อสารประชาสัมพันธ์ในอันที่จะสร้างหรือผลักดันสินค้า/บริการของตนเองให้เข้าไปอยู่ในรายชื่อสินค้าที่กลุ่มเป้าหมายจะจับจ่ายซื้อของแต่ละครั้งให้ได้มากที่สุด