พฤติกรรมของคนรุ่นใหม่ที่ไม่อยากตื่นเช้ามาเข้าทำงานให้ทันภายใน 9 โมงเช้า และเลิกงานหลัง 6 โมงเย็น ฝ่ากระแสรถติดทั้งเช้าและเย็น ทนทำงานที่ตัวเองไม่ได้ชอบ ขาดอิสระในการคิด เป็นปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้คนวัยทำงานส่วนหนึ่งหันมาทำอาชีพอิสระ หรือ “ฟรีแลนซ์” กันมากยิ่งขึ้น
มีการคาดคะเนว่าปัจจุบันมีคนไทยที่ระบุว่าตัวเองคือ “ฟรีแลนซ์” มากถึง 2 ล้านคน เติบโตเฉลี่ย 300,000 – 600,000 คนในทุกปี ในส่วนของฝั่งผู้จ้างงานเองก็มีความนิยมจ้างงาน Outsource เพราะสามารถลดค่าใช้จ่ายได้ถึง 60% เมื่อเทียบกับการจ้างงานประจำในบางตำแหน่ง
2 ปัจจัยนี้ทำให้มูลค่าการจ้างงานของฟรีแลนซ์เติบโตเฉลี่ยปีละ 15-30% มีมูลค่าอยู่ที่ 36,000 ล้านบาท ทั้งในช่องทางออฟไลน์และออนไลน์ ซึ่งออนไลน์มีสัดส่วนอยู่ประมาณ 10% นับเป็นมูลค่าธุรกิจอันหอมหวานของ “ฟาสต์เวิร์ค” สตาร์ทอัพอายุ 3 ปี ที่เพิ่งได้รับการระดมทุน ซีรีส์ A รวมวงเงินที่ได้รับการระดมทุนทั้งหมด 180 ล้านบาท
สตาร์ทอัพมีจุดเริ่มต้นจาก Pain Point ที่มองเห็นในตลาด เช่นเดียวกับ “ฟาสต์เวิร์ค” ที่มอง Pain Point ของทั้งฝั่งผู้จ้างและผู้ถูกจ้าง โดยฝั่งผู้จ้างคือที่หาคนมีความสามารถได้ยาก เพราะต้องถามจากคนใกล้ตัว และยังมีปัญหาเรื่องเงินที่บางครั้งได้รับไปแล้วก็ไม่ยอมส่งงาน ส่วนฟรีแลนซ์ที่ใช้เวลากว่า 50% ในการหางานรวมถึงเงินที่มีโอกาสไม่ได้รับ
ฟาสต์เวิร์คจึงเข้ามาในลักษณะเว็บไซต์ที่รวบรวมและให้บริการจัดหางานสำหรับฟรีแลนซ์มืออาชีพ เป็นพื้นที่กลางให้ทั้ง 2 ฝ่ายมาเจอกัน โดยเป็นตัวกลางในการจ่ายเงินด้วย ตรงนี้เองที่ฟาสต์เวิร์คบอกว่าต่างจากเว็บไซต์หางานอื่นๆ ที่ต้องไปตกลงกันเอง และส่วนใหญ่เป็นการหางานไปทำออฟไลน์ ไม่ได้ทำในออนไลน์
ปัจจุบันมีฟรีแลนซ์ที่อยู่ในระบบทั้งหมด 30,000 ราย ใน 70 หมวดหมู่ โดยหมวดหมู่งานที่เป็นที่นิยมซึ่งมีการจ้างงานมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1. Graphic and Design 35% 2. การตลาดและโฆษณา 20% 3. Web and Programming 15% 4. เขียนและแปลภาษา 10% และ 5. งานภาพและเสียง อื่นๆ 20%
อีกหนึ่งจุดที่ดึงดูดฟรีแลนซ์คือมีโบนัส ถ้าทำได้ตามที่กำหนด โดยโบนัสจะมากน้อยจะมาจากระบบฟาสต์เวิร์คสกอร์ที่แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม Pro Hot และ New โดยจะให้เป็นการทำงานรายสัปดาห์, รายเดือน และรายปี โดยฟรีแลนซ์ที่อยู่ในระบบมีรายได้ตั้งแต่ 7,000 – 100,000 บาทต่อเดือน
ด้านผู้จ้าง ที่ผ่านมามีการจ้างงานฟรีแลนซ์ทั้งหมดแล้ว 300,000 คน 75% เป็นลูกค้ารายย่อย 30% เป็นลูกค้าองค์กร โดยโมเดลหารายได้มาจาก 2 ส่วนคือ หักค่าธรรมเนียมการจ้าง 10% จากฟรีแลนซ์และรับงานจากองค์กรต่างๆ
ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาฟาสต์เวิร์คได้ทดลองไม่เก็บค่าธรรมเนียม 10% เพื่งจูงใจให้ฟรีแลนซ์เข้ามาในระบบมากขึ้น รายได้ที่หายไปจะถูกทดแทนจากองค์กรต่างๆ หรือโมเดลอื่นๆ เช่นโฆษณา
แผนธุรกิจในปี 2019 ฟาสต์เวิร์คจะเปิดหมวดหมู่ในกลุ่มไลฟ์สไตล์มากขึ้น เช่น งานวิศวกรตรวจรับบ้าน, งานดูดวง, นักดนตรี, ช่างถ่ายรูป และช่างแต่งหน้า เป็นต้น เพื่อให้ฟาสต์เวิร์คเข้าถึงกลุ่มลูกค้าและเป็นที่รู้จักมากขึ้น
เป้าหมายของฟาสต์เวิร์คไม่ได้อยู่แค่ในไทย แต่เป็นการสยายปีกเข้าไปยังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก่อนหน้านี้ 9 เดือนได้ขยายเข้าไปในอินโดนีเซียซึ่งมีตลาดหาฟรีแลนซ์มีขนาดที่ใหญ่กว่าไทย 4 เท่าตัว และการที่ประชาชนมีจำนวนมาก ความต้องการหางานจึงมากไปด้วย ตอนนี้ที่อินโดนีเซียมีฟรีแลนซ์ในระบบ 8,000 – 9,000 คนแล้ว
วสะ สุภาโชค เอี่ยมสุรีย์ หนึ่งในผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการบริหาร (Founder & CEO) บริษัท ฟาสต์เวิร์ค เทคโนโลยีส์ จำกัด กล่าวว่า
“ควาทท้าทายที่เจอตอนนี้คือ ประเมินการเติบโตในระดับที่ต่ำไป เมื่อแผนที่วางไว้มีขนาดไม่ใหญ่มาก แต่ในอินโดนีเซียปรากฏว่าไปได้ดีมาก ทำให้การเพิ่มทั้งคนและทีมงานเป็นไปอย่างมีอุปสรรค ซึ่งเราต้องเรียนรู้ให้ไว”
ภายในปี 2019 “ฟาสต์เวิร์ค” ตั้งเป้ามูลค่าการจ้างงานที่เกิดขึ้นในแพลตฟอร์ม 500 ล้านบาท ซึ่งเป็นการเติบโตสูงกว่า 3 เท่าตัว มากกว่าสตาร์ทอัพปรกติที่มักจะโต 1-3 เท่า โดยวางแผนขยายไปประเทศอื่นๆ อีก แต่อยู่ในระหว่างศึกษาอยู่.