เมื่อปลาเร็วกินปลาช้า “ซีพีแรม” ต้อง Disrupt ตัวเอง แตกธุรกิจ ตู้ขายอาหารอัตโนมัติ-รับจัดเลี้ยง

ถึงแม้จะเป็นองค์กรใหญ่ แต่ซีพีแรมก็ประเมินแล้วว่า หากไม่อยากถูก “Disrupt” ด้วยคู่แข่ง ก็ต้อง “Disrupt” ตัวเอง “เพราะยุคของปลาไวกินปลาช้า ปลาใหญ่ก็ถูกกินมาแล้ว ช้านิดเดียวก็แพ้ได้”

ทำให้ วิเศษ วิศิษฏ์วิญญู กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพีแรม จำกัด ตัดสินใจ Transformation องค์กร ด้วยแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี (2561-2565) เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ โดยเฉพาะความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป

สิ่งที่ซีพีแรมพบคือ เทคโนโลยีและไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ผู้บริโภคมีความต้องการเฉพาะเจาะจงและเฉพาะทางมากขึ้น รวมถึงการขยายตัวของเขตเมือง (Urbanization), การก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ, ความต้องการในอาหารเพื่อสุขภาพและความนิยมในการบริโภคมังสวิรัติเพิ่มมากขึ้น

ซีพีแรมใส่เกียร์เดินหน้าแบบเต็มสูบ เพื่อบรรลุเป้าหมายที่จะมีรายได้เติบโตอย่างน้อยปีละ 10% ต่อเนื่องทุกปี โดยในปี 2565 ตั้งเป้าจะมียอดขายกว่า 30,000 ล้านบาท ขณะที่ยอดขายปี 2561 อยู่ที่ 18,000 ล้านบาท คาดว่ายอดขายปี 2562 จะปิดที่ 20,000 ล้านบาท

ขณะเดียวกันก็ต้องเติบโตด้วย Technology Driven พัฒนาเทคโนโลยีของตัวเอง เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ที่ดีตอบโจทย์ลูกค้า รวมไปถึงระบบจัดจำหน่ายและกระจายสินค้าที่รวดเร็วและแม่นยำ

“ความท้าทายคือ จะต้องบุกตลาดที่ซีพีแรมยังไม่เคยทำมาก่อนทั้งในเชิงลึกและเชิงกว้าง เช่น คนที่มีปัญหาด้านการขบเคี้ยว และย่อยยาก สินค้าสำหรับผู้สูงอายุและเด็กอ่อนแล้ว (ข้าวต้มหมู) และเร็วๆ นี้จะมีอาหารสำหรับผู้ป่วยที่ต้องการบริโภคอาหารที่เฉพาะเจาะจงกับโรคภัยไข้เจ็บที่เป็นอยู่ เช่น อาหารสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน”

วิเศษ ย้ำว่า

ซีพีแรม 4.0 จะต้องแบบพลิกหน้ามือเป็นหลังมือ ทำแบบค่อยเป็นค่อยไปไม่ได้ เหมือนดักแด้ลอกคราบแล้วเป็นผีเสื้อทันที ไม่ได้ตายแต่เกิดใหม่ในขณะที่มีชีวิตอยู่

แผนยุทธศาสตร์ 5 ปี ของซีพีแรม ประกอบไปด้วย

1. Organization Transformation

การเปลี่ยนแปลง “คน” ให้เชื่อมั่นและเห็นพ้องต้องกันกับทิศทางที่บริษัทฯ จะก้าวต่อไปในอนาคต เป็นการปรับ Mindset ของพนักงานทุกคน ปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์กร (Restructure) และตั้งสำนักงานใหม่ เช่น สำนักเทคโนโลยีและนวัตกรรม และสำนักกลยุทธ์และความยั่งยืนองค์กร (ช่วยสนับสนุนด้านเทคโนโลยีให้กับเกษตรกร)

ขณะเดียวกันก็เปลี่ยนการบริหารงานจากเดิมที่ยึดเอาผลิตภัณฑ์เป็นที่ตั้ง มาเป็นยึดโลเกชั่นของโรงงานแทน โดยโรงงานแต่ละแห่งจะทำหน้าที่เป็นหน่วยธุรกิจ (Business Unit) โดยหัวหน้าจะมีอำนาจในการตัดสินใจในเรื่องสำคัญๆ ได้ทันที เพื่อให้ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างรวดเร็ว และคล่องตัวมากขึ้น

นอกจากนี้ยังนำไอเดียของคนรุ่นใหม่เพื่อปลุกปั้นธุรกิจใหม่ๆ ตามแนวทางของสตาร์ทอัพ และนำเทคโนโลยี Smart Office และ Online Conference มาใช้ เพื่อให้สื่อสารกันระหว่างโรงงานแต่ละแห่งได้อย่างรวดเร็ว

2. New Business (Vending Machine, Catering Service)

การปั้นธุรกิจจะมองหาโอกาสใหม่ๆ ที่เป็น New S Curve โดย 2 ธุรกิจใหม่ที่ซีพีแรมหมายมั่นปั้นมือว่าจะเป็นบ่อเงินบ่อทองในอนาคต คือ Vending Machine ที่เกิดจากโครงการ entrepreneurship ซึ่งส่วนหนึ่งจะพัฒนาเป็น Vending Cafe ที่รวบรวม Vending Machine และพื้นที่สำหรับนั่งกินอาหาร โดยอยู่ระหว่างทดลอง ให้บริการที่ซีพี ทาวเวอร์ 1 สีลม ได้ 4 เดือนแล้ว คาดว่าจะได้โปโตไทป์ที่สมบูรณ์ภายในไตรมาส 2 ปีนี้ และจะเปิดตัวต่อไป โดยจะจัดจำหน่ายอาหารพร้อมรับประทานของซีพีีแรมเองเป็นหลักและพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญในอาหารประเภทอื่นๆ  

โดยจะเป็นศูนย์กลางทำหน้าที่บริหารจัดการและนำส่งสินค้าไปยัง Vending Machine ต่างๆ จำนวน 2 แห่ง แห่งแรกคือซีพี ทาวเวอร์ สีลม รองรับพื้นที่แถบสีลม สามย่าน สุริวงศ์ เป็นต้น โดยแต่ละแห่งจะรับผิดชอบ Vending Machine 30-50 จุด คาดว่าภายในปีนี้จะมีทั้งสิ้นราว 80-100 จุด

“เป็นการขยายช่องทางจำหน่ายเองด้วย เพื่อใกล้ชิดกับลูกค้ามากกว่าเคย เช่น ถ้าอยู่คอนโด อาบน้ำใส่ชุดนอนแล้วแต่หิวขึ้นมา ต่อให้มีเซเว่นฯ ใกล้ๆ ก็ตาม แต่เมื่อจะลงมาหาอะไรกินที่ Vending Machine ได้เลย ช่องทางนี้จะสะดวกกว่า” 

ธุรกิจใหม่อีกอย่าง คือ Catering Service จะมุ่งไปที่โรงเรียนกับโรงงานเป็นหลัก โดยทำในรูปแบบของสวัสดิการที่โรงเรียนหรือโรงงานจัดให้ ตอนนี้อยู่ในระหว่างทำการทดลองในโรงงานแถบบางพลี 2 แห่ง คาดว่าภายในปี 2563 จะให้บริการอย่างจริงจัง

3. Digitalization

สร้างความรู้ ความเข้าใจให้กับพนักงาน ให้มี Digital Literacy และมี Digital Experience ต้องใช้ให้เป็น มีการฝึกอบรม และวัดผลชัดเจน เพื่อเน้นการทำงาน

ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ผ่านระบบ CP Connect นำข้อมูลทั้งหมดขึ้นระบบคลาวด์ เพื่อการทำงานที่โปร่งใส สามารถวิเคราะห์และตัดสินใจได้รวดเร็ว

4. Robotization

หุ่นยนต์มาทดแทนแรงงานไร้ฝีมือหรือไม่ต้องใช้ทักษะสูง แต่ทำงานภายใต้สภาพแวดล้อมที่เป็นอุปสรรค เช่น ร้อนจัด และหนาวจัด หรืองานที่ทำซ้ำๆ เพราะในอนาคตแรงงานต่างชาติก็จะหดหาย เช่น การหยิบเต้าหู้ได้ไม่แตก รวมถึงการหยิบขนมจีบใส่กล่องได้

นอกจากนี้ จะใช้ระบบ Robot Process Automation (RPA) ที่ใช้ภายในงานสำนักงาน งานบริหารจัดการเอกสาร และการออกอินวอยซ์ต่างๆ ก็จะลดการพึ่งพิงคนด้วย

5. FTEC (Food Technology Exchange Center)

ร่วมกับนักวิจัยทั้งในและต่างประเทศ โดยจะเน้นการพัฒนาเทคโนโลยี 3 ประเภทหลัก ได้แก่ Robotech, Digitech และ Biotech ทั้งนี้ซีพีแรมได้จัดสรรงบประมาณในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมนี้ 1% ของยอดขายต่อปี หรือปีละ 150-200 ล้านบาท