ด้วยจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตไทยเพิ่มขึ้น “4 เท่า” ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จาก 9.3 ล้านคน ในปี 2551 พุ่งมาขึ้นมาที่ 45 ล้านคนในสิ้นปี 2561 ด้วยตัวเลขนี้ได้เปลี่ยน “สนามการแข่งขัน” รวมทั้งเทคโนโลยีและเครื่องมือการทำตลาด เพื่อเข้าถึงผู้บริโภคยุคใหม่
ข้อมูลสรุปสถิติธุรกิจ “อีคอมเมิร์ซ” ปี 2561 ของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สพธอ.) หรือ ETDA รายงานมูลค่าอยู่ที่ 3.2 ล้านล้านบาท เติบโต 14% ปีนี้ประเมินยังไปได้ต่อด้วยการเติบโต 20% สร้าง “นิวไฮ” ต่อเนื่อง
ปัจจัยการเติบโตของตลาดอีคอมเมิร์ซดังกล่าว สะท้อนให้เห็นถึงพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปตามยุค รวมทั้งการพัฒนาของเครื่องมือสื่อสารการทำตลาด และจำนวนคนไทยเข้าถึงอินเทอร์เน็ตในอัตราเพิ่มขึ้นต่อเนื่องด้วยราคาการใช้งานที่ถูกลง ล้วนส่งผลให้ตลาดอีคอมเมิร์ซไทยยังมีโอกาสเติบโต ทั้งจำนวนผู้ซื้อและผู้ขายผ่านออนไลน์เพิ่มมากขึ้น
ประเทศไทยถือว่าเป็นประเทศที่อีคอมเมิร์ซ B2C (Business to Consumer) เติบโตเป็นอันดับ 1 ของอาเซียน โดยปี 2561 มูลค่าอยู่ที่ 8.65 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 14% จากปัจจัยจำนวนพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ และอีมาร์เก็ตเพลสเพิ่มขึ้น รวมทั้งความเชื่อมั่นในเทคโนโลยีระบบอีเพย์เมนต์ที่สะดวก การขนส่งรวดเร็วทำให้ผู้บริโภคหันมานิยมซื้อของออนไลน์อย่างต่อเนื่อง
ปี 2561 พบว่าตลาดอีคอมเมิร์ซไทย กลุ่มเอ็นเตอร์ไพรส์ (ธุรกิจที่มีรายได้เกิน 50 ล้านบาท) มีมูลค่า 1.97 ล้านล้านบาท เติบโต 8.70% ขณะที่กลุ่มเอสเอ็มอี (รายได้ต่ำกว่า 50 ล้านบาท) มีมูลค่า 6.07 แสนล้านบาท เติบโต 20.39%
กลุ่มเอ็นเตอร์ไพรส์ มีการใช้เครื่องมือสื่อสารการตลาดสินค้าและบริการ ผ่านช่องทางออฟไลน์และออนไลน์ ด้วยมูลค่าที่แตกต่างกัน
- น้อยกว่า 1.2 ล้านบาท 46.15%
- น้อยกว่า 6 ล้านบาท 23.07%
- น้อยกว่า 12 ล้านบาท 7.69%
- น้อยกว่า 120 ล้านบาท 15.38%
- มากกว่า 120 ล้านบาท 7.69%
ส่วนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีโฟกัสทำการตลาดผ่านช่องทาง ออนไลน์ 69.92% และ ออฟไลน์ 30.08% แพลตฟอร์มออนไลน์ยอดนิยม คือ เฟซบุ๊ก 93.94% จากการ Boost Post และ Boost Ads เพื่อเข้าถึงลูกค้าที่ตรงกลุ่มเป้าหมาย
ชูบิ๊กดาต้านำเสนอสินค้าใหม่
สุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สพธอ.) หรือ ETDA กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวว่า ด้วยมูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซขนาด 3.2 ล้านล้านบาท ในปีที่ผ่านมา และปี 2562 ยังเติบโตไม่ต่ำกว่า 20% หรือมูลค่า 3.8 ล้านล้านบาท ทั้งจำนวนผู้ค้าออนไลน์ และนักช้อปออนไลน์ที่เพิ่มขึ้น จากผู้เข้าถึงอินเทอร์เน็ตไทยกว่า 45 ล้านคน
เทรนด์การทำตลาดอีคอมเมิร์ซหลังจากนี้ จะเห็นการนำข้อมูล หรือ Big Data มาพัฒนาธุรกิจอีคอมเมิร์ซมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มเอ็นเตอร์ไพรส์ ที่พบว่าใช้บิ๊กดาต้าวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภค เพื่อนำเสนอสินค้าใหม่ๆ 100% , ใช้เพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการผู้บริโภคอย่างแม่นยำและการวางแผนด้านการตลาด 92.85% และใช้วิเคราะห์ปัจจัยแวดล้อม กำหนดยุทธศาสตร์การจำหน่ายสินค้า 85.71%
กลุ่มเอ็นเตอร์ไพรส์ ใช้งบประมาณสำหรับการทำบิ๊กดาต้า และการวิเคราะห์ดาต้า (Data Analytics) ด้วยงบประมาณ 10-50 ล้านบาทต่อปี มีสัดส่วนถึง 30.76%
ได้เวลา AI ลุยอีคอมเมิร์ซ
นอกจากนี้ธุรกิจเอ็นเตอร์ไพรส์มีการใช้ ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) มาช่วยดำเนินธุรกิจด้านการบริหารและจัดการบริหารลูกค้าแล้ว 76.93% และกลุ่มที่ยังไม่มีการพัฒนาด้าน AI 23.07%
ในกลุ่มเอ็นเตอร์ไพรส์ที่นำเทคโนโลยี AI มาใช้งาน ได้จัดสรรงบประมาณสำหรับพัฒนา AI ต่อปีมีสัดส่วนต่างกัน โดยกลุ่มที่ใช้ต่ำกว่า 1 ล้านบาท อยู่ที่ 38.46% งบประมาณ 1-5 ล้านบาท 23.07% งบประมาณ 5-10 ล้านบาท 7.69% และงบประมาณ 10-50 ล้านบาท 7.69%
วัตถุประสงค์การใช้งาน AI ในการพัฒนาสินค้าและบริการของกลุ่มเอ็นเตอร์ไพรส์
- ช่วยให้บริการ เช่น Chatbot, CRM เพื่อให้ข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว 69.23%
- ใช้ในด้านอื่นๆ เช่น Claim Analytics, Underwriting, Notification 23.07%
- วิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภคเพื่อตัดสินใจซื้อ 15.38%
- ช่วยตัดสินใจด้านการบริหาร 15.38%
- พัฒนาผลิตภัณฑ์ 7.69%
อีคอมเมิร์ซไทยไปนอก
ไม่เพียงแต่ตลาดอีคอมเมิร์ซไทยเท่านั้นที่ผู้ประกอบการสามารถหาโอกาสทำเงินได้ เพราะสินค้าไทยเป็นที่ต้องการให้ตลาดต่างประเทศเช่นกัน เพราะวันนี้แพลตฟอร์มออนไลน์ “อีมาร์เก็ตเพลส” สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้ทั่วโลก
เมื่อวิเคราะห์จุดแข็งของประเทศไทยที่เป็นเมืองน่าเที่ยวติดอันดับ 4 ของโลก และสินค้าไทยก็เป็นที่ชื่นชอบของหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็น
• เวียดนาม
ชอบสินค้าอุปโภคบริโภคของไทย เครื่องสำอาง และสินค้าเกี่ยวกับเด็ก ที่ผ่านมาการค้าไทยไปเวียดนามเติบโตเพิ่มขึ้น 12% ทุกปี การส่งออกสินค้าไทยไปเวียดนามวางเป้าหมายปี 2563 มูลค่าการค้า 2 หมื่นล้านดอลลาร์
• อินโดนีเซีย
นิยมสินค้าไทยหลายประเภท ยอดสั่งซื้อผ่านอีคอมเมิร์ซ อันดับต้นๆ เช่น ผัดไทยสำเร็จรูป, บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป, ปลาหมึกอบ, สแน็กถั่วลิสง, นมอัดเม็ด
• อินเดีย
สินค้าที่นิยมสั่งซื้อจากไทยอันดับต้นๆ คือ สินค้าที่เกี่ยวกับการปรุงอาหารไทย, เครื่องสำอาง, สินค้าสปา และน้ำมันเหลือง หรือน้ำมันทาแก้ปวดเมื่อย
• จีน
ชอบเครื่องสำอาง สมุนไพร เสื้อผ้าและกระเป๋า และอาหารสด
ปัจจุบัน ETDA ได้สนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยทั้งกลุ่มเอ็นเตอร์ไพรส์และเอสเอ็มอี ทำตลาดอีคอมเมิร์ซในตลาดต่างประเทศ ด้วยการใช้แพลตฟอร์มท้องถิ่นของแต่ละประเทศ เช่น ในจีน ใช้ TMall , Alibaba, VIP.com , JD.com รวมทั้งการใช้ระบบขนส่งสินค้า B2C ผ่าน โกลบอล แพลตฟอร์มต่างๆ เพื่อช่วงชิงโอกาสจากตลาดอีคอมเมิร์ซที่กำลังขยายตัวทั่วโลก.
ข่าวเกี่ยวเนื่อง