สร้างแบรนด์ด้วย URL

การโพสต์ข้อความบนทวิตเตอร์นั้นถูกจำกัดไว้แค่ครั้งละไม่เกิน 140 ตัวอักษร ทำให้ยากที่จะโพสต์ที่อยู่เว็บ (URL.) ซึ่งส่วนใหญ่มักจะยาวลงไปได้ ทำให้บริการย่อที่อยู่เว็บเช่น bit.ly เป็นที่นิยมอย่างสูง เพราะสามารถย่อที่อยู่ยาวๆ เช่น http://www.positioningmag.com/magazine/details.aspx?id=82327 ให้เหลือแค่ http://bit.ly/15mak6 ได้

ฉะนั้นใน Twitter จึงปรากฏคำว่า bit.ly บ่อยถี่ยิบ และบางแบรนด์ก็เห็นจุดนี้จึงหยิบไปเป็นไอเดีย เปิดบริการให้ย่อที่อยู่เว็บบ้าง เช่น Coke ในสหรัฐฯ ที่เปิด CokeURL.com หวังจะปรากฏบนหน้าจอทวิตเตอร์ของทั้งผู้ทวีตส่งข้อความและผู้อ่านทุกคนแบบเดียวกับที่ bit.ly เป็นอยู่

ส่วนในไทยก็เริ่มด้วย SiriURL ของแสนสิริ บริการแบบนี้จึงกลายมาเป็นเครื่องมือช่วยส่งให้ชื่อแบรนด์เจ้าของระบบ โชว์ติดตาผู้ใช้ สร้างการจดจำซึมลึกได้แทบทุกวันและระยะยาวตามจำนวนครั้งที่ผู้ใช้ทวิตเตอร์เปิดดู

นอกจากนี้ที่อยู่เว็บจำนวนมหาศาลแห่งก็จะถูกจัดเก็บไว้ในระบบฐานข้อมูล เจ้าของบริการสามารถนำมาประมวลผลได้ว่ากลุ่มเป้าหมายของตัวเองชอบเข้าเว็บไหนกันบ้าง เผื่อจะนำไปใช้ตัดสินใจลงโฆษณาอย่างได้ผลยิ่งกว่า เพราะแน่ใจว่าผู้ที่เห็นโฆษณานั้น ส่วนหนึ่งได้ผ่านการผ่านตารับรู้จดจำชื่อแบรนด์มาแล้ว

และหากวิเคราะห์จัดหมวดที่อยู่เว็บจำนวนมหาศาลที่ผู้ใช้ป้อนเข้ามารวมกันให้ดี ก็จะรู้ได้ว่ากลุ่มเป้าหมายของแบรนด์บนโลกออนไลน์นั้นสนใจเรื่องเกี่ยวกับอะไรบ้าง สนใจเรื่องไหนมากที่สุด โดยแยกแยะจากประเภทเนื้อหาของเว็บที่กลุ่มคนเหล่านี้เข้าชม

เช่น CokeURL อาจจะพบว่า ที่อยู่เว็บส่วนใหญ่ที่ผู้ใช้ส่งมาย่อช่วงนี้ มีจำนวนมากที่เกี่ยวกับการไปเที่ยวทะเล นำไปสู่การตัดสินใจจัดอีเวนต์ส่งเสริมการตลาดตามริมหาดดังๆ เป็นต้น

จากที่กระแสทวิตเตอร์กำลังบูมและโตไวสุดขีดในไทย บริการสร้างแบรนด์ผ่านที่อยู่สั้นจึงเป็นอีกเครื่องมือที่น่าสนใจ ซึ่งนักการตลาดที่ต้องการยิงชื่อแบรนด์ของตนไปสู่สายตานักเล่นทวิตเตอร์ในไทยต้องศึกษาและหาทางประยุกต์ใช้ให้เร็วที่สุด