แอร์ไลน์แข่งดุ “บางกอกแอร์เวย์ส” เข้าชิง “ดิวตี้ฟรี” หวังปั๊มรายได้เพิ่ม

“ธุรกิจสายการบิน” ถือเป็นตลาดที่มีการแข่งขันรุนแรง โดยเฉพาะการจัดโปรโมชั่นราคาตั๋วโดยสาร การปรับตัวของราคาน้ำมันในตลาดโลก ที่ส่งผลให้มีต้นทุนเพิ่มและอัตราทำกำไรต่ำ ปี 2561 สายการบินส่วนใหญ่จึงมีรายได้และกำไร “ลดลง” แนวทางการปรับตัวจึงมองหาการลงทุนธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องและมีผลตอบแทนสูง เพื่อโอกาสทำกำไรเพิ่มขึ้น นอกจากธุรกิจสายการบิน

“บางกอกแอร์เวย์ส” เป็นอีกหนึ่งในสายการบินที่ผลประกอบการปี 2561 ลดลง โดยรายได้รวมอยู่ที่ 27,943 ล้านบาท ลดลง 1.9% กำไรสุทธิ 263 ล้านบาท ลดลง 68.8%

พุฒิพงษ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA กล่าวว่าปัจจุบันรายได้หลักของบริษัทมาจากธุรกิจสายการบิน  “บางกอกแอร์เวย์ส” หรือคิดเป็นสัดส่วน 74% แต่เป็นธุรกิจที่มีการแข่งขันสูง จากการจัดโปรโมชั่นตั๋วโดยสารของสายการบินโลว์คอสต์ ทำให้อัตราผลตอบแทนจากการลงทุน (yield) เติบโตช้า ปี 2562 บริษัทตั้งเป้าการเติบโตไว้เพียง 1% เมื่อเทียบ ปี 2561 ที่ขยายตัวในอัตรา 0.5% ขณะที่ก่อนหน้านั้นปี 2559 ยิลด์ติบลบ 9% จากการเล่นสงครามราคาของสายการบินต่างๆ

ประมูลดิวตี้ฟรีหนุนรายได้

แนวทางการดำเนินธุรกิจของบริษัท จึงมองหาโอกาสการลงทุนใน “ธุรกิจที่ไม่ใช่สายการบิน” (non- airline) โดยบริษัทจะเข้าประมูลสัมปทานจำหน่ายสินค้าปลอดภาษี (Duty Free) และพื้นที่เชิงพาณิชย์ของ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.ที่กำลังหมดสัญญาสัมปทานในปี 2563 ในสนามบินสุวรรณภูมิ ภูเก็ต หาดใหญ่ และเชียงใหม่

สำหรับความคืบหน้าล่าสุด ทอท. คาดว่าจะเปิดจำหน่าย “ทีโออาร์” ดิวตี้ฟรีและพื้นที่เชิงพาณิชย์ได้ในเดือนมีนาคม 2562 คาดว่าจะได้ผู้ชนะประมูลในเดือนกันยายน 2562 โดยผู้ชนะประมูลมีเวลา 1 ปี ในการลงทุน ก่อนหมดสัญญาสัมปทานกับรายเดิม

ปัจจุบันยังไม่มีผู้ประกอบการรายใดเห็นทีโออาร์การประมูลดิวตี้ฟรีและพื้นที่เชิงพาณิชย์ว่าจะออกมาในรูปแบบใด แต่บริษัทมีความพร้อมในการร่วมประมูลทุกเงื่อนไข โดยมีพันธมิตร 2 ราย จากเอเชียและยุโรป ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการบริหารดิวตี้ฟรีและพื้นที่เชิงพาณิชย์ที่จะเข้าร่วมประมูลในครั้งนี้

“การเข้าร่วมประมูลดิวตี้ฟรี เพื่อต้องการขยายธุรกิจที่มีอัตราผลตอบแทนสูงเพิ่มขึ้น วางเป้าหมายรายได้จากธุรกิจไม่ใช่สายการบินสัดส่วนเพิ่มเป็น 40-50% ในอีก 4-5 ปีข้างหน้า จากปัจจุบันอยู่ที่ 26%”

นอกจากนี้บริษัทได้จับมือกับพันธมิตร 5-6 ราย เพื่อเข้าประมูลสัมปทานพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา ให้เป็นเมืองการบิน ซึ่งจะเปิดยื่นซองในวันที่ 21 มีนาคมนี้ ทั้งโครงการระยะเวลาสัญญา 50 ปี ซึ่งจะมีมูลค่าการลงทุนราว 2-3 แสนล้านบาท แต่ช่วง 10 ปี ประเมินการลงทุน 1 แสนล้านบาท บริษัทจะเป็นผู้ถือหุ้นหลัก 30% ในบริษัทที่เข้าร่วมประมูลกับพันธมิตร โดยเตรียมเงินลงทุนระยะแรกไว้ 30,000 ล้านบาท

ธุรกิจเกี่ยวข้องแนวโน้มโต

ปัจจุบันธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการบินมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง อาทิ ธุรกิจครัวการบินกรุงเทพ (Bangkok Air catering – BAC) มีส่วนแบ่งการตลาด 25% ลูกค้า 20 สายการบิน, ครัวการบินกรุงเทพภูเก็ต มีลูกค้า 12 ราย และกูร์เมท์ พรีโม่ มีลูกค้า 12 ราย

ปีนี้ ครัวการบินกรุงเทพ เตรียมเปิดเพิ่มเติมอีก 1 แห่ง คือ ครัวการบินกรุงเทพ ที่สนามบินเชียงใหม่ในไตรมาส 2 และธุรกิจร้านอาหาร ซึ่งปัจจุบันให้บริการร้านอาหาร Brasserie 9 ร้านอาหารฝรั่งเศสแบบดั้งเดิม ร้านอาหาร Al Saray ร้านอาหารเลบานีสและอาหารอินเดีย ปีนี้มีแผนจะเปิดให้บริการร้านอาหารเรือนนพเก้า อาหารไทยตำรับชาววังเพิ่มเติมอีก 1 แห่ง

ด้านธุรกิจบริการภาคพื้น บริษัทการบินกรุงเทพเวิลด์ ไวด์ ไฟล์ท เซอร์วิส จำกัด (BFS Ground) ปี 2561 มีส่วนแบ่งการตลาด 56% มีลูกค้าเพิ่มขึ้น 5 ราย รวมเป็น 79 สายการบิน และบริษัท ดับบลิวเอฟเอสพีจี คาร์โก้ จำกัด (BFS Cargo) มีส่วนแบ่งการตลาด  49% มีลูกค้าเพิ่ม 1 ราย รวมเป็น 69 สายการบิน

ปี 62 รายได้โต 3.5%

พุฒิพงษ์ กล่าวว่าปี 2562 ตั้งเป้ารายได้เติบโต 3.5% จำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 3% มีจำนวน 6.16 ล้านคน และอัตราบรรทุกผู้โดยสาร (Load Factor) อยู่ที่ 70% โดยกลยุทธ์ในธุรกิจการบินจะเปิดเส้นทางบินใหม่ที่ยังไม่มีสายการบินอื่นให้บริการ 3 เส้นทาง โดยใช้กรุงเทพฯ (สุวรรณภูมิ) สมุย และเชียงใหม่ เป็นศูนย์กลางทางการบิน ครอบคลุมเมืองสำคัญหรือแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของภูมิภาคเอเชีย

เส้นทางบินแรกเปิดให้บริการแล้ว คือ กรุงเทพฯ-คัมรัน (เวียดนาม) และเตรียมเปิดอีก 2 เส้นทางบิน เชื่อมจากจังหวัดเชียงใหม่ คือ เชียงใหม่-กระบี่ (เที่ยวเดียว) เริ่มวันที่ 31 มีนาคม 2562 และ เชียงใหม่-หลวงพระบาง (สปป. ลาว) เริ่มให้บริการ 2 เมษายน 2562 นอกจากนี้ รวมทั้งเพิ่มความถี่เที่ยวบินในเส้นทางที่ได้รับความนิยม อาทิ กรุงเทพฯ-ดานัง (เวียดนาม) จาก 7 เที่ยวบิน เป็น 14 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ และกระบี่-กรุงเทพฯ จาก 21 เที่ยวต่อสัปดาห์เป็น 28 เที่ยวต่อสัปดาห์ ปัจจุบันบางกอกแอร์เวย์สมีความแข็งแกร่งในเส้นทางเชื่อม CLMV และจะมุ่งขยายตลาดนี้ต่อเนื่อง

ลงทุนเครื่องบิน-สนามบินสุโขทัย

ปีนี้วางแผนลงทุน 1,800 ล้านบาท ด้านอากาศยาน อาทิ การจัดซื้อเครื่องบินแบบเอทีอาร์ 72-600 จำนวน 2 ลำ โดยมีแผนรับเครื่องบินในไตรมาส 2, การจัดซื้ออะไหล่เครื่องบินสำรองเพื่อรองรับการซ่อมบำรุง, การปรับปรุงสภาพภายใน (Cabin Refurbishment) ของเครื่องบินแบบแอร์บัสระยะเวลา 2 ปี (2562-2563)

นอกจากนี้มีแผนลงทุนในโครงการขยายและพัฒนาสนามบินสุโขทัย 958 ล้านบาท เพื่อสร้างโรงซ่อมบำรุงอากาศยานและพัฒนาพื้นที่ภายในสนามบินเพิ่มเติม รวมทั้งแผนขยายและพัฒนาสนามบินตราด โดยจะพัฒนาพื้นที่สนามบินบางส่วนและขยายทางวิ่งของเครื่องบินเพิ่มเติม มูลค่า 334 ล้านบาท

การลงทุนพัฒนาระบบงานด้านไอที 193 ล้านบาท ประกอบไปด้วย การเปลี่ยนระบบให้บริการผู้โดยสารเพื่อใช้ในการสำรองที่นั่ง (PSS) เป็นระบบอะมาดิอุส (Amadeus) และการเปลี่ยนระบบสนับสนุนการปฏิบัติการบิน

ลุยตลาด OTA 

วรงค์ อิศรเสนา ณ อยุธยา รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายการขาย บริษัทการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปีนี้จะเน้นการขายบัตรโดยสารผ่านระบบออนไลน์มากขึ้น โดยเฉพาะช่องทางตัวแทนจำหน่ายออนไลน์ (Online Travel Agency หรือ OTA) จากทั่วโลก อาทิ TripAdvisor, Expedia, eDreams, make my trip, Skyscanner เป็นต้น รวมแล้วกว่า 20 ราย หลังจากปีที่ผ่านมาสายการบินได้พัฒนาระบบในองค์กรเพื่อรองรับการเชื่อมต่อกับแพลตฟอร์มการขายดิจิทัล รองรับพฤติกรรมการซื้อบัตรโดยสารของลูกค้าปัจจุบัน

ปัจจุบันสัดส่วนการขายบัตรโดยสารยังมาจากช่องทางเอเย่นต์ หรือเทรดดิชันนอล 80% ช่องทางออนไลน์หรือเว็บไซต์ของบางกอกแอร์เวย์สเอง 20% หลังจากปีนี้ขยายช่องทาง OTA วางเป้าหมายสัดส่วนยอดขายจากช่องทางดังกล่าวไว้ 10%.