นอกจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำแล้ว ความหวาดกลัวจากโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ที่ทำให้คนไทยอยู่บ้านมากขึ้น และนั่นคือที่มาของเทรนด์ “Stay-in” แสดงให้เราเห็นถึงพฤติกรรมภายในบ้านอันหลากหลายของผู้บริโภคยุคใหม่ โดยเฉพาะคนเมือง อันส่งผลต่อการเติบโตของสินค้าและบริการที่มีความสะดวกสบาย ขณะเดียวกันก็ส่งผลกระทบต่อสินค้าและบริการบางประเภทอย่างชัดเจน
กนกกาญจน์ ประจงแสงศรี รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและวิเคราะห์ข้อมูล บริษัท ไอพีจี มีเดียแบรนด์ส จำกัด บอกว่า อัตราการบริโภคภายในบ้าน หรือ In-home consumption เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ธุรกิจจัดส่งอาหาร หรือดิลิเวอรี่ เติบโตถึง 20% โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่ามีมูลค่ามากกว่า 3,000 ล้านบาทต่อปี โตไม่โตพิซซ่า ฮัท เคเอฟซี ก็ถึงกับมีบริการดิลิเวอรี่ ออนไลน์เหมือนต่างประเทศแล้ว
ขณะเดียวกัน ตัวเลขที่สอดรับกันคือ คนกรุงเทพฯ ดูหนังน้อยลง โดยข้อมูลจากเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ๊ป รายงานว่า จำนวนคนที่มาโรงภาพยนตร์ ในช่วงมกราคม – มิถุนายน 2552 ในเขตกรุงเทพฯ มีจำนวน 9.9 ล้านคน ติดลบ 7% นั่นหมายความว่า คนใช้ชีวิตนอกบ้านเพื่อแสวงหาความบันเทิงน้อยลงนั่นเอง
ส่วนข้อมูลจากสมาคมวิจัยการตลาดแห่งประเทศไทย (สิงหาคม 2552) รายงานว่า คนกรุงเทพฯ 36% ใช้เวลาที่บ้านมากขึ้น และ 29% ทานข้าวที่บ้านมากขึ้น
สอดคล้องกับผลวิจัยของโลว์ในเรื่อง Food for Thought ที่พบว่าคนไทยมีพฤติกรรมทำอาหารรับประทานที่บ้านมากขึ้น ทั้งจากปัญหาเศรษฐกิจรวมถึงไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนแปลงไป
“เป็นพฤติกรรมที่น่าสนใจ เมื่อคนรุ่นใหม่นิยมทำอาหารรับประทานเอง แต่ไม่ได้หมายความว่าพวกเขามานั่งต้มน้ำซุปเอง หั่นผัก แล่เนื้อเอง แต่พวกเขาใช้ไมโครเวฟให้เกิดประโยชน์ จากเดิมอาจใช้อุ่นอาหารถุง ใช้สำหรับอาหาร Ready-to-Eat แต่ตอนนี้ใช้สำหรับปรุงอาหารง่ายๆ ที่ใช้เวลาไม่นาน เช่น นำเนื้อไก่ Ready-to-Cook บวกกับเซตแกงจืดผักรวมสำเร็จรูปจากซูเปอร์มาร์เก็ตและใส่เครื่องปรุงรสอย่างคนอร์ลงไปแล้วนำเข้าไมโครเวฟ เป็นต้น” เสาวณีย์ นพปราชญ์ ผู้จัดการฝ่ายบริหารองค์ความรู้-วางแผนเชิงกลยุทธ์ โลว์ ประเทศไทย ให้รายละเอียด
ดังนั้น นอกจากอาหารพร้อมทานที่เติบโตมาก่อนหน้าแล้ว เครื่องปรุงสำเร็จรูปต่างๆ หรือ Ready-made seasoning ก็มีทิศทางดี เพราะทำให้คนรุ่นใหม่สามารถทำอาหารรับประทานเองได้ง่ายๆ เช่น เครื่องปรุงรสโลโบ (ลาบ-น้ำตก, กุ้งอบวุ้นเส้น, แหนมเนือง ฯลฯ) โรซ่าพริกไทยดำ และรายล่าสุด คือ อูมามิจากอายิโนะโมโต๊ะ
ขณะที่การออกแพ็กเกจอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงสำหรับครัวเรือนของผู้ประกอบการค่ายต่างๆ ก็ส่งผลให้ผู้บริโภคใช้เวลาอยู่ที่บ้านทำกิจกรรมออนไลน์ทั้งเพื่อการทำงานและความบันเทิงส่วนตัวอย่างจริงจังมากขึ้น และเป็นการหลีกเลี่ยงที่จะสูญเสียเวลาอันมีค่าไปกับการเดินทาง
เมื่อผู้บริโภคส่งเสียงร้องออกมาแล้วว่าพวกเขาอยู่ที่ใด เป็นหน้าที่ของนักการตลาดแล้วแหละว่าจะไปเคาะประตูบ้านพวกเขาด้วยวิธีใด ถึงจะทำให้พวกเขาเปิดรับและยอมรับแบรนด์ของคุณเขามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต