แม้ Strategic Alliance จะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นเทรนด์ที่ทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ในยุคเศรษฐกิจผันผวน ที่ใครๆ ก็ต่างต้องหาที่พึ่ง ร่วมกันแชร์ทั้งเงินทุนและฐานลูกค้า เพื่อก้าวต่อไปในโลกธุรกิจอย่างมั่นคง และประสบความสำเร็จในระยะยาว ไม่ว่าจะแบรนด์เล็กแบรนด์ใหญ่ก็ต้องสรรหาพันธมิตรที่จะช่วยกันผลักช่วยกันดันให้ธุรกิจเติบโตด้วยกันทั้งสิ้น
ข้อมูลจาก Booz Allen Hamilton บริษัทดาวรุ่งด้านที่ปรึกษาด้านการวางแผนกลยุทธ์ของสหรัฐอเมริกา รายงานว่า 18% ของรายได้ของบริษัทที่มี Strateg Alliance มาจากพันธมิตร
พรศิริ โรจน์เมธา เอ่ยถึงแผนการลงทุนธุรกิจครั้งใหม่ของเกรฮาวด์ คาเฟ่ ที่หลังจากแตกแบรนด์ Another Hound by Greyhound ที่สยาม พารากอน เมื่อ 4 ปีก่อน ซึ่งเกี่ยวข้องกับ Strategic Alliance โดยตรงว่า
“กลุ่มลูกค้าเราโตขึ้น ขณะเดียวกันแบรนด์เราก็โตขึ้น เราต้องการจับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นคนรุ่นใหม่ วัยรุ่นมากขึ้น นี่จึงเป็นที่มาของแบรนด์ใหม่ คอนเซ็ปต์ใหม่ที่จะใส่ความเป็นเอนเตอร์เทนเมนต์เข้าไป แต่ยุคนี้ไม่ใช่ยุคข้ามาคนเดียว ต้องมีคนช่วยกันผลักช่วยกันดัน ธุรกิจถึงจะเติบโตได้เร็วและลดความเสี่ยง” พรศิริบอกถึงความเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ของเกรฮาวด์ คาเฟ่ ที่จะต้องมีพันธมิตรที่แนบแน่นอย่างน้อย 3 ราย หนึ่งในนั้นจะเป็นเจ้าของศูนย์การค้า
ครั้งนี้ต้องลงทุนมากกว่า 20 ล้านบาท กับร้านใหม่พื้นที่ 400-500 ตารางเมตร จำนวน 300 ที่ จากปกติ 150-240 ตารางเมตร
รวมถึงมีแผนการขยายธุรกิจไปต่างประเทศด้วยระบบแฟรนไชส์ โดยกำลังพิจารณาที่ฮ่องกง สิงคโปร์ และญี่ปุ่น ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าของเกรฮาวด์ คาเฟ่ อยู่แล้ว
“ต้องหาพันธมิตรที่ดีในเมืองนั้นๆ เป็นมืออาชีพในการจัดการร้านอาหาร ภายใน 2 ปี คงต้องไป จาก SMEs จะต้องเป็น Multinational ให้ได้”
ด้านโออิชิเองแม้จะวาง Positioning เป็น King of Japanese Restaurant ในไทย แต่ก็ต้องอาศัยความแข็งแกร่งของพันธมิตรจากญี่ปุ่น ในการนำธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นรูปแบบอื่นๆ เข้ามาเปิดบริการในไทย ภายใต้การดำเนินงานของโออิชิ กรุ๊ป ได้แก่ ไมโดะโอกินิ โชกุโดะและล่าสุด คาโซกุเตะ มาตอกย้ำ Positioning ดังกล่าวให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันก็เป็นการลบจุดด้อยที่คู่แข่งพยายามโจมตีถึงความไม่ใช่ต้นตำรับอาหารญี่ปุ่นแท้ๆ
ส่วนเซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น (CRC) ก็เป็นอีกค่ายที่มองหา Strategic Alliance อย่างต่อเนื่อง ล่าสุดเป็นความร่วมมืออีกขั้นกับพันธมิตรเดิม คือ เพจวัน โฮลดิ้ง จากสิงคโปร์ ในการเปิดตัวธุรกิจหนังสือต่างประเทศโดยจัดตั้งบริษัทใหม่ชื่อ บริษัท เซ็นทรัล เพจวัน ไทยแลนด์ จำกัด เพื่อความก้าวหน้าอีกขั้นของธุรกิจ
หรือในกรณีของดีแทคกับโวดาโฟนที่ต่างอาศัยจุดแข็งของกันและกันในการบุกตลาดสื่อสารเมืองไทย โดยดีแทคจะได้ประโยชน์ในแง่ของการเข้าถึงสินค้า อุปกรณ์ และบริการหลากหลายประเภทของโวดาโฟนแต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย ขณะเดียวกัน ยังจะได้ประโยชน์จากประสบการณ์ของโวดาโฟนทางด้านการบริหารซัพพลายเชน การพัฒนาเทคโนโลยี การเพิ่มกลุ่มลูกค้าองค์กรขนาดใหญ่ และการพัฒนาการทำงานร่วมกันระหว่างเครือข่าย ขณะที่โวดาโฟนได้เปิดตลาดใหม่ในเอเชีย เป็นต้น
ทั้งนี้การหาคู่หูในโลกธุรกิจอาจเป็นได้หลายรูปแบบ ทั้งการลงทุนร่วมกัน หรือการควบกิจการและหรือเทกโอเวอร์ซึ่งจะมีให้เห็นอย่างหนาตาในปี 2553 อย่างแน่นอน