ลูกค้าเปลี่ยนไป “ไวไว” ต้องพลิกกลยุทธ์ ปั้นร้านอาหาร แตกไลน์ทำธุรกิจอาหารออร์แกนิก-สินค้าเกษตร

ต้องถือเป็น Strategic Move ครั้งสำคัญของ ไวไว ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เพราะนอกจากกระแสดิจิทัลเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค พบแบรนด์ลอยัลตี้ต่ำ และความนิยมในรสชาติสั้นลง กระแสสุขภาพยังเป็นแนวโน้มสำคัญ ทำให้ ไวไว ต้องปรับยุทธศาสตร์ทางธุรกิจครั้งใหญ่ แตกไลน์ขยายสู่โมเดล” ธุรกิจใหม่ ไม่จำกัดเฉพาะบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปอีกต่อไป

ปรีชา นภาพฤกษ์ชาติ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โรงงานผลิตภัณฑ์อาหารไทย จำกัด ผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูปภายใต้เครื่องหมายการค้า “ไวไว ควิกแสบ และซือดะ เปิดเผยว่า เนื่องจากปัจจุบันแนวโน้มธุรกิจอาหารมีการเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะความต้องการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเป็นส่วนใหญ่ ภายในปี 2568 ตลอดจนเทคโนโลยี่เข้ามามีบทบาทในโซเชียลมีเดีย ทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงอาหารที่เป็นทางเลือกใหม่ๆ มากขึ้น ส่งผลให้แบรนด์ลอยัลตี้ที่มีต่อสินค้าที่ออกวางตลาดแต่ละตัวลดน้อยลง บริษัทต้องนำจุดแข็งที่เป็นฐานธุรกิจเดิมมาต่อยอดเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า ด้วยการแตกโมเดลทางธุรกิจใหม่ขึ้นมาอีก 3 กลุ่ม 

กลุ่มธุรกิจแรก ได้แก่ ธุรกิจร้านอาหาร ควิกเทอเรส นำเส้นบะหมี่มาเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการ ทำเป็นอาหารจานหลักและอาหารทานเล่น ในราคาที่ย่อมเยา สาขาแรกได้ทดลองเปิดข้างหน้าโรงงานไวไวที่อ้อมใหญ่เมื่อ 2 ปีก่อน และมีแผนขยายสาขาที่ 2 ในเดือนพฤษภาคมนี้ ที่จังหวัดชลบุรี รวมถึงสาขาใหม่ที่จะเปิดในปีนี้อีก 3-5 สาขา ทั้งสาขาที่บริษัทลงทุนเอง และขายแฟรนไชส์

โดยตั้งเป้าในอีก 3-5 ปี ข้างหน้าจะเปิดร้าน ควิกเทอเรส” จำนวน 100 สาขาทั่วประเทศ และต่างประเทศ เช่น สิงคโปร์ ออสเตรเลีย อังกฤษ และฝรั่งเศส เป็นต้น

ธุรกิจที่ 2 แปรรูปผลผลิตทางการเกษตร โดยจะร่วมมือกับบริษัทที่มีชื่อเสียงในการผลิตผลิตผลทางการเกษตร พัฒนาแปรรูปเป็นผงปรุงรส และเครื่องเทศที่เน้นคุณภาพและความปลอดภัย เพื่อให้ขายในประเทศและต่างประเทศได้ เป็นการต่อยอดใช้ประโยชน์จากเครื่องจักรของบริษัท และส่งเสริมเกษตรกรไปในตัว 

ธุรกิจกลุ่มที่ 3 พัฒนาอาหารอนาคต รองรับแนวโน้มที่เกิดขึ้นทั่วโลก ที่ผู้บริโภคยุคใหม่ต้องการอาหารที่กินได้สะดวก รวดเร็ว ขณะเดียวกันก็ให้ความสำคัญกับสุขภาพ และความปลอดภัย รวมถึงอาหารต้องเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไป

สำหรับธุรกิจในกลุ่มนี้ บริษัทมอบหมายให้ วีระ นภาพฤกษ์ชาติ กรรมการและผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ เป็นผู้ดูแลธุรกิจในกลุ่มนี้ ซึ่งจะเน้นพัฒนาสินค้าที่มีนวัตกรรมใหม่ คำนึงถึงโภชนาการทางอาหารเป็นสิ่งสำคัญ เช่น อาหารเสริมสุขภาพ และอาหารเกษตรอินทรีย์ 

สำหรับแนวทางการพัฒนาอาหารเสริมสุขภาพ บริทได้ร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.) รวมถึงสนับสนุนทุนวิจัยให้กับอาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์อาหาร คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อพัฒนาสินค้าให้เป็นอาหารที่เพิ่มคุณค่าทางโภชนาการ และตอบสนองผู้บริโภคที่มีอาการแพ้สารอาหารบางกลุ่ม

เขา ยกตัวอย่าง ผลิตภัณฑ์เส้นบะหมี่สำหรับผู้ที่มีอาการแพ้ กลูเตน รวมถึงพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมทานที่ไม่ใส่สารกันบูด ตลอดจนบริษัทมีความสนใจมุ่งเน้นจะพัฒนาสินค้าให้ได้รับสัญลักษณ์ “Free Form” ซึ่งสัญลักษณ์นี้ คือมาตรฐานที่บ่งบอกถึงสินค้าที่ปราศจากสารปรุงแต่งต่าง 

นอกจากนี้ บริษัทได้เจรจาความร่วมมือกับเมืองนวัตกรรมอาหาร (Food Innopolis) เพื่อกำหนดแนวทางพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารเชิงสุขภาพ และกระบวนการผลิตโดยใช้นวัตกรรมใหม่ๆ พร้อมกับขยายความร่วมมือไปยังมหาวิทยาลัยและนักวิจัยในเครือข่ายของเมืองนวัตกรรมอาหารอีกไม่น้อยกว่า 16 แห่ง เพื่อนำงานวิจัยที่มีศักยภาพมาต่อยอดสำหรับพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารกลุ่มทางเลือกสุขภาพ (Healthy Choice) เช่น ผลิตภัณฑ์ที่มีโซเดียมต่ำ และน้ำตาลต่ำ เสริมคุณค่าทางอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น ไฟเบอร์ เพื่อตอบสนองแนวโน้มความต้องการสินค้าเพื่อสุขภาพสำหรับผู้บริโภคทุกเพศทุกวัย และอาหารเฉพาะกลุ่ม  

บริษัทหวังใจว่าธุรกิจใหม่ทั้ง 3 กลุ่ม จะสามารถเข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวันของผู้บริโภคทุกกลุ่ม ด้วยแผนการตลาดดังกล่าว บริษัทคาดว่าจะผลักดันยอดขายทั้งกลุ่มอยู่ที่ 10000 ล้านบาทในอีก 5-10 ปี และเพิ่มสัดส่วนรายได้จากการส่งออกจาก 15% เป็น 30%”