ต้องใช้เวลาถึง 5 ปี ในการก้าวมาถึงจุดเริ่มต้น การจัดทำ “เรตติ้ง” ทีวีไทย ในนาม MRDA องค์กรกลางที่ทีวีดิจิทัลจัดตั้งขึ้นมาดูแลการทำเรตติ้ง “มัลติสกรีน” หลังจากมีคำสั่ง คสช. มาตรา 44 ออกมาสนับสนุนการจัดทำเรตติ้ง โดย กสทช. เตรียมจัดสรรเงินประเดิม 431 ล้านบาท ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงสำคัญในรอบกว่า 30 ปี
แม้มีความพยายามจัดทำเรตติ้งทีวีใหม่ตั้งแต่ปี 2557 จากความร่วมมือของมีเดีย เอเยนซีและผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ในนามสมาคมวิจัยเพื่อพัฒนาสื่อ (ประเทศไทย) หรือ MRDA แต่ก็ต้องสะดุดจากการขาดแหล่งเงินทุนในช่วง Set Up ระบบ ด้วยทีวีดิจิทัลหลายช่องยังไม่มีความสามารถในการจ่ายเงินสนับสนุนในช่วงเริ่มต้นที่ต้องใช้เวลาวางระบบและรอตัวเลขเรตติ้งอีก 1 ปี เพราะมีภาระต้องจ่ายเงินซื้อข้อมูลเรตติ้งปัจจุบันกับนีลเส็น การจ่ายเงิน 2 ทางจึงเป็นภาระหนักของทีวีดิจิทัลในขณะนั้น
ทางออกคือหาเงินทุนมาช่วยในช่วงเริ่มต้น MRDA ใช้เวลาเกือบ 2 ปีในการของบประมาณสนับสนุนการจัดทำเรตติ้งจาก กสทช. กระทั่งล่าสุด คำสั่ง คสช. มาตรา 44 เพื่อแก้ปัญหากิจการโทรคมนาคมและทีวีดิจิทัล ระบุไว้ใน ข้อ 14 ว่ากรณีทีวีดิจิทัลมีการรวมตัวเพื่อจัดตั้งองค์กรกลางเกี่ยวกับการสำรวจความนิยมช่องทางการโทรทัศน์ เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมทีวีดิจิทัล โดยให้สำนักงาน กสทช. จัดสรรเงินจำนวนหนึ่งสำหรับใช้ดำเนินการ
กสทช. เคาะงบหนุนเรตติ้ง 431 ล้าน
จากคำสั่ง มาตรา 44 ดังกล่าว ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช.ได้ชี้แจงงบประมาณสนับสนุนการจัดทำเรตติ้งให้กับอุตสาหกรรมทีวีดิจิทัล ด้วยการจัดสรรเงินประเดิมจำนวน 431 ล้านบาท
โดย สุภาพ คลี่ขจาย นายกสมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิทัล (ประเทศไทย) กล่าวว่า ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา สมาคมฯ ได้ร่วมกับ MRDA ขับเคลื่อนการทำเรตติ้งทีวีใหม่ รูปแบบ Multi Screen Rating เพื่อสำรวจผู้ชมทั้งจอทีวี, มือถือ, แท็บเล็ต, พีซี ตามพฤติกรรมผู้ชมทีวีปัจจุบันที่ดูผ่านหลายอุปกรณ์ พร้อมกับเสนอของบประมาณจาก สำนักงาน กสทช. ผ่านกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) เพื่อสนับสนุนงบประมาณจัดทำเรตติ้งในช่วงเริ่มต้น ล่าสุดได้กำหนดไว้ในคำสั่ง คสช. มาตรา 44 หลังจากนี้ สมาคมฯ และ MRDA จะประชุมสรุปแนวทางการจัดทำเรตติ้งใหม่อีกครั้ง ตามหลักเกณฑ์ที่คณะทำงาน กสทช.จัดตั้งขึ้นเพื่อดูแลเรื่องนี้
MRDA จับมือ 5 พาร์ตเนอร์ทำเรตติ้ง
ขณะที่ วรรณี รัตนพล นายกสมาคมวิจัยเพื่อพัฒนาสื่อ (ประเทศไทย) หรือ MRDA กล่าวว่าหลังจาก “กันตาร์ มีเดีย” ยกเลิกสัญญาทำเรตติ้งกับ MRDA ในเดือนกันยายน 2560 ก็ได้เดินหน้าหาพันธมิตรที่จะมาจัดทำระบบเรตติ้งใหม่ จากเดิมที่มี “กันตาร์ มีเดีย” รายเดียว ได้ปรับรูปแบบใหม่มีพาร์ตเนอร์ที่จะมาทำงานร่วมกัน 5 ราย
ประกอบด้วย 1.บริษัทที่ทำสำรวจกลุ่มตัวอย่างพื้นฐาน (establishment survey) จำนวน 30,000 ตัวอย่าง 2.บริษัทที่ดูแล Panel Management จำนวน 3,000 ตัวอย่าง 3.บริษัทที่ดูแลด้านมิเตอร์ เทคโนโลยี จากต่างประเทศ 4.บริษัทที่ดูแลซอฟต์แวร์ จากต่างประเทศ และ 5. CESP จากฝรั่งเศส องค์กรตรวจสอบ (Audit) การจัดทำข้อมูลเรตติ้งที่มีมาตรฐานระดับโลก
ปัจจุบันการจัดทำเรตติ้งทีวีทั่วโลก หากไม่ใช้เรตติ้งของ 4 บริษัท คือ นีลเส็น, กันตาร์ มีเดีย, จีเอฟเค และวิดีโอรีเสิร์ช ก็จะแยกการทำงานเป็นส่วนๆ และทำงานร่วมกับพาร์ตเนอร์หลายรายในรูปแบบเดียวกับที่ MRDA กำลังดำเนินการ ในภูมิภาคนี้ก็มีที่ อินเดีย สิงคโปร์
หลังจากได้รับเงินสนับสนุนจาก กสทช. จะเริ่มกระบวนการได้ทันที โดยใช้เวลา 1 ปี ก่อนจะเริ่มรายงานข้อมูลเรตติ้งส่งให้กับสมาชิกทีวีดิจิทัลและเอเยนซีที่ร่วมลงขันจ่ายเงิน เพื่อซื้อเรตติ้ง
วรรณี ย้ำว่า MRDA เป็นองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร หากมีสมาชิกจำนวนมากขึ้นมาช่วยจ่ายเงินซื้อข้อมูลเรตติ้ง จะทำให้ค่าใช้จ่ายต่อรายจะลดลง ปัจจุบันกำลังติดต่อช่องทีวีจากต่างประเทศในแพลตฟอร์มดิจิทัล เข้ามาเป็นสมาชิกเพิ่มเติม นอกจากนี้ยังมีผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศมา Audit เรตติ้ง ซึ่งจะทำให้ข้อมูลมีความน่าเชื่อถือ และยังได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานราชการ
“MRDA ทำเพื่ออุตสาหกรรมสื่อและเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร การจัดทำเรตติ้งใหม่ในครั้งนี้ เรากำลังเปลี่ยนประวัติศาสตร์การทำเรตติ้งทีวีในประเทศไทย ในรอบ 30 ปี”
MAAT ใช้เรตติ้งใหม่
ขณะที่ ไตรลุจน์ นวะมะรัตน นายกสมาคมมีเดียเอเยนซี่และธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย (MAAT) กล่าวว่า ปัจจุบัน MRDA เป็นองค์กรอิสระที่จะดูแลการทำเรตติ้งทีวีในประเทศไทย โดย MAAT จะรับรองข้อมูลเรตติ้ง และสมาชิกมีเดีย เอเยนซี จะใช้อ้างอิงตัวเลขในการวางแผนสื่อ
การทำเรตติ้งใหม่จะเป็นรูปแบบ “มัลติสกรีน” จากจอทีวีและการชมทีวีผ่านสมาร์ทดีไวซ์ต่างๆ รวมเป็นฐานข้อมูลเรตติ้งเดียวกัน โดยสมาชิกที่ซื้อเรตติ้งจะได้ข้อมูลจากออฟไลน์และออนไลน์เป็นชุดเดียวกันโดยไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่ม คาดว่า MRDA จะเริ่มกระบวนการทำเรตติ้งปลายปี 2562 และใช้เวลา 1 ปีในการเก็บข้อมูลก่อนใช้ได้จริงในปี 2563
ในฝั่งทีวีดิจิทัล สุรินทร์ กฤตยาพงศ์พันธุ์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท บางกอก มีเดีย แอนด์ บรอดคาสติ้ง จำกัด ผู้บริหารช่อง “พีพีทีวี” มองว่า การจัดทำระบบเรตติ้งใหม่รูปแบบ “มัลติสกรีน” ที่ MRDA จะดำเนินการเป็นการวัดจากกลุ่มตัวอย่างเดียวกัน (Single Source) ที่จะทำให้เห็นพฤติกรรมผู้ชมได้ชัดเจนว่าดูทีวีผ่านช่องทางใด เป็นเวลาเท่าไหร่ ซึ่งสะท้อนพฤติกรรมการดูทีวีในยุคนี้และเทคโนโลยีในการรับชม จะทำให้รู้ว่าคนนิยมดูทีวีผ่านอุปกรณ์ใด เพื่อปรับรูปแบบการนำเสนอและพัฒนารายการที่เหมาะกับผู้ชม ทำให้ทีวีดิจิทัลมีข้อมูลที่แม่นยำและส่งผลดีต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมทีวีในยุคดิจิทัล
จับตา “ช่อง 7-นีลเส็น”
แม้จะมีความชัดเจนการสนับสนุนงบประมาณจัดทำเรตติ้งใหม่จาก กสทช. แต่ยังต้องจับตาความเคลื่อนไหวของทีวีดิจิทัล “ช่อง 7” ที่ปัจจุบันยังคงจุดยืนไม่ร่วมเป็นสมาชิก MRDA เพื่อใช้เรตติ้งใหม่ รวมทั้ง “ช่อง 8” ที่ยังไม่เข้าร่วมกับ MRDA ว่าจะมีท่าทีอย่างไรต่อไป
เช่นเดียวกันกับ “นีลเส็น” ผู้จัดทำเรตติ้งทีวีในประเทศไทยมากกว่า 30 ปี ที่ผ่านมานีลเส็นมีการพัฒนาระบบวัดเรตติ้งมาอย่างต่อเนื่องเช่นกัน โดยเดือนมิถุนายน 2559 ได้เพิ่มกลุ่มตัวอย่างจาก 2,000 ครัวเรือนเป็น 3,000 ครัวเรือน
ปี 2560 ได้จัดทำ “เรตติ้ง มัลติสกรีน” หรือ Digital Content Ratings (DCR) ปัจจุบันมีทีวีดิจิทัล 3 ช่องใช้บริการอยู่ คือ ช่อง 7, เวิร์คพอยท์ และไทยรัฐทีวี
หากประเมินความเชี่ยวชาญและความพร้อมในการทำเรตติ้งทีวี “มัลติสกรีน” วันนี้ และสามารถใช้รีพอร์ตได้ทันที “นีลเส็น” ถือว่ามีความพร้อมมากที่สุด
แต่การเลือกใช้บริการวัดเรตติ้งหลังจากนี้ คงต้องขึ้นอยู่กับผู้ได้รับใบอนุญาต “ทีวีดิจิทัล” เป็นผู้ตัดสินว่าจะให้องค์กรกลางที่จัดตั้งขึ้น ทำงานด้านเรตติ้งกับใคร.
ข่าวเกี่ยวเนื่อง
- MRDA ควงคู่กันตาร์ ชิงผู้วัดเรตติ้งทีวี เขย่าบัลลังก์นีลเส็น พลิกโฉมหน้าโฆษณา
- ใครจะอยู่ใครจะไป ? ศึกชิงบัลลังก์ วิจัยเรตติ้ง นีลเส็น VS สมาคมมีเดียฯ