“เจ้าสัวเจริญ” จัดพอร์ตอสังหาฯ ต่อจิ๊กซอว์ธุรกิจแสนล้าน “โรงแรม-ค้าปลีก” ส่ง “แอสเสท เวิรด์” เข้าตลาด

กลุ่มอสังหาริมทรัพย์เป็น 1 ใน 5 ธุรกิจหลักของ TCC Group ของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี โดยมี “ทีซีซี แลนด์” เป็น Holding Company ลงทุนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์หลากหลาย ทั้งโรงแรม ศูนย์การค้า อาคารสำนักงาน ศูนย์ประชุม สนามกอล์ฟ โครงการมาสเตอร์แพลน และแลนด์แบงก์

ในกลุ่มอสังหาฯ ได้มีการจัดพอร์ตโฟลิโอ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AWC ลงทุนอสังหาฯ 2 กลุ่มหลัก คือธุรกิจโรงแรมและการบริการ และธุรกิจอสังหาฯ เพื่อการพาณิชย์ มูลค่าเกือบ “แสนล้านบาท” ภายใต้การกุมบังเหียนของ วัลลภา ไตรโสรัส” บุตรสาวคนที่ 2 ของเจ้าสัวเจริญ

แอสเสท เวิรด์ ได้ยื่นแบบไฟลิ่งต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อขอเสนอขายหุ้น IPO วันนี้ (11 มิ.ย. 2562) มีเป้าหมายระดมทุนเพื่อปรับวิธีการทำงานแบบสากลและต้องการเติบโตในยุคต่อไปหลังการบริหารของยุคครอบครัว โดยเงินที่ระดมทุนได้จะนำไปขยายการลงทุนต่อเนื่อง ใช้หนี้สถาบันการเงินและใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน

วัลลภา ไตรโสรัส

คัดโปรเจกต์ไพรม์โลเคชั่นเข้าพอร์ต   

 วัลลภา ไตรโสรัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า AWC ลงทุนอสังหาฯ 2 กลุ่มธุรกิจหลัก ได้แก่ กลุ่มธุรกิจโรงแรมและการบริการ (Hospitality) ซึ่งเป็นพันธมิตรเชนโรงแรมระดับโลก ได้แก่ แมริออท ฮิลตัน อินเตอร์คอนติเนนตัล โฮเต็ล กรุ๊ป มีเลีย บันยันทรี และโอกุระ

โดยมีโรงแรมที่เปิดดำเนินการแล้ว 10 แห่ง จำนวน 3,432 ห้อง โรงแรมที่อยู่ระหว่างการพัฒนาหรือมีแผนพัฒนา 5 แห่ง จำนวน 1,528 ห้อง นอกจากนี้ได้เซ็นสัญญาซื้อโรงแรมอีก 12 แห่ง เพื่อพัฒนาในช่วง 5 ปี รวมจำนวนโรงแรมที่อยู่ในมือ 8,000 ห้อง

Bangkok Marriott Marquis

กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ (Retail and Commercial Building) พื้นที่รวม 6 แสน ตร.ม. แบ่งเป็น อสังหาฯเพื่อประกอบกิจการค้าปลีก (Retail and Wholesale) จำนวน 10 โครงการ พื้นที่รวม 3.4 แสน ตร.ม. ได้แก่ สถานที่ท่องเที่ยวแนวไลฟ์สไตล์ คอมมูนิตี้ช้อปปิ้งมอลล์ คอมมูนิตี้ มาร์เก็ต รวมทั้งอสังหาฯ เพื่อประกอบกิจการการค้าส่ง โครงการที่มีชื่อเสียง เช่น เอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์, เกตเวย์ แอท บางซื่อ, พันธุ์ทิพย์ พลาซ่า ประตูน้ำ และโครงการตะวันนา บางกะปิ

และกลุ่มอาคารสำนักงาน จำนวน 4 โครงการ พื้นที่รวม 2.7 แสน ตร.ม. โครงการที่โดดเด่น คือ อาคารเอ็มไพร์ ทาวเวอร์ และอาคารแอทธินี ทาวเวอร์

“อสังหาฯ ที่คัดเข้ามาอยู่ในพอร์ตโฟลิโอของ AWC เป็น Prime Property และ Prime Location ย่านซีบีดี ที่สร้างรายได้แล้วในปัจจุบัน จึงเชื่อว่าจะได้รับความสนใจจากนักลงทุน”

Empire Tower

ทรัพย์สิน Freehold 90%

จุดแข็งของ AWC คือการลงทุนในโครงการอสังหาฯ ที่มีแนวโน้มเติบโตทั้งกลุ่มโรงแรมเจาะตลาดกลางถึงสูง ทั้งคนไทยและนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางมาไทย ปีนี้คาดการณ์ไว้ที่ 38 ล้านคน อัตราการเข้าพักโรงแรมของ AWC อยู่ที่ 80% นอกจากนี้ยังมีศักยภาพเจาะตลาด MICE โครงการอสังหาฯ ของ AWC ส่วนใหญ่เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ (Freehold) สัดส่วน 90% ปัจจุบันราคาที่ดินในไทยยังต่ำกว่าภูมิภาคเอเชีย โครงการจึงมีมูลค่าเพิ่มในอนาคต

“ประเทศไทยยังเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ตัวเลขนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นทุกปี ท่องเที่ยวเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักของประเทศ ที่มีศักยภาพเติบโตสูง”

ในปี 2559 AWC มีรายได้ 9,411 ล้านบาท ปี 2560 รายได้ 10,998 ล้านบาท และปี 2561 รายได้ 12,415 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากกลุ่มโรงแรมและบริการ 60% และอสังหาฯเพื่อการพาณิชย์ 40% โดยช่วง 3 ปีที่ผ่านมารายได้เติบโตเฉลี่ยปีละ 15%

Asiatique

กลุ่มอสังหาฯ ของ ทีซีซี กรุ๊ป ที่มี “ทีซีซี แลนด์” เป็นบริษัทโฮลดิ้ง มีการลงทุนในอสังหาฯ หลายรูปแบบ โดยบทบาทของ AWC ลงทุนธุรกิจโรงแรมและการบริการ และธุรกิจอสังหาฯเพื่อการพาณิชย์ ที่มีรายได้จากค่าเช่า นอกจากโครงการที่ AWC มีอยู่แล้ว หากต้องการลงทุนในอสังหาฯ ที่อยู่ภายใต้การลงทุนของทีซีซี แลนด์ โครงการอื่นๆ ในกลุ่มโรงแรมและอสังหาฯ เพื่อการพาณิชย์ รวมทั้งแลนด์แบงก์ที่อยู่ในมือของทีซีซี แลนด์ AWC สามารถเข้าไปซื้อโครงการหรือที่ดินมาพัฒนาใหม่ได้เช่นกัน

สำหรับโครงการมิกซ์ยูสย่านพระราม 4 ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นบิ๊กโปรเจกต์ ONE Bangkok พื้นที่ 104 ไร่ มูลค่า 1.2 แสนล้าน โครงการสามย่านมิตรทาวน์ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เป็นธุรกิจอสังหาฯ แยกการบริหารออกจาก AWC