Facebook GAMES ธุรกิจหมื่นล้านสะท้านโลก

จากตัวเลขของผู้ใช้งาน Facebook เมื่อเดือนธันวาคม 2009 ทะลุ 350 ล้านคน แต่ละคนที่ใช้เวลาเฉลี่ยบน Facebook เฉลี่ย 25 นาทีต่อวัน มีรายงานที่น่าสนใจว่าสิ่งที่ดึงดูดเวลาได้มากที่สุดบน Facebook นั้นก็คือเกมที่ชื่อ “FarmVille” ซึ่งเป็นเกมที่มีผู้เล่นมากที่สุดใน Facebook เป็นเสมือน “ชุมชนปลูกผัก” ที่มีคนอยู่กว่า 69 ล้านคน มากกว่า Twitter ที่กำลังมาแรงทั่วโลกเสียอีก

“เกมบน Facebook ยุคแรกๆ 2 – 3 ปีก่อนส่วนใหญ่เป็นเกมสั้นๆ ใช้เวลาเล่นไม่นาน ไม่ต้องเข้าไปเล่นบ่อยมาก แต่ทุกเกมก็ค่อยๆ ปรับเปลี่ยนไปเป็นแบบที่เห็นทุกวันนี้ คือมีกติกาที่ทำให้ผู้เล่นติด ต้องเล่นให้นานที่สุด และบ่อยที่สุด” อรรถวุฒิ เวศรานุรักษ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท ADapter เอเยนซี่สื่อออนไลน์ ให้ข้อสังเกตจากประสบการณ์ของตัวเองที่เล่นเกมบน Facebook มานานถึง 3 ปี ตั้งแต่ยุคแรกๆ ที่มีเกม “Zombie”, “Vampire” ที่ใช้เวลาเล่นสั้นๆ จนมาถึงปัจจุบันที่เป็นยุคของเกมเช่น “Farmville” และ “Restaurant City” ที่ต้องเล่นนานๆ และเข้าทุกวัน

ความสำเร็จจากการดึงดูดได้ทั้ง “เวลา” และ “ความถี่” ทำให้เกมบน Facebook ยุคนี้เป็นสื่อใหม่ที่ดึงดูดเม็ดเงินการตลาดได้ นอกจากรายได้หลักที่มากขึ้นมหาศาล เพราะการที่ผู้ใช้ให้เวลาและความสำคัญกับตัวเกมมาก ก็ย่อมทำให้มีส่วนหนึ่งถึงกับยอมจ่ายเงินจริงแลกกับ “พลังพิเศษ”, “ของวิเศษ” บางอย่างที่จะช่วยให้เล่นเกมสนุกขึ้นและได้เปรียบขึ้น เกิดความสุขในเกมที่ถือได้ว่าเป็นทางออกจากความเครียดน่าเบื่อหน่ายในชีวิตจริงได้อย่างหนึ่ง

“จุดหนึ่งที่ทำให้คนติดเกม Facebook ก็คือสังคมในเกม ผู้เล่นสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนในเกมได้ เช่น เข้าไปช่วยรดน้ำต้นไม้ของฟาร์มเพื่อนใน Farmville แวะเข้าไปเยี่ยมบ้านเพื่อนใน Pet Society ทุกวันเพื่อจะได้รับเงินในเกมเพิ่ม จ้างเพื่อนมาเป็นพนักงานในเกม Restaurant City เพื่อจะได้คะแนน Experience เพิ่มอีก” อภิศิลป์ ตรุงคกานนท์ นักเขียนและผู้บรรยายด้านสื่อออนไลน์ ชี้ถึง Positioning ที่มีร่วมกันของเกมทั้งหลายบนFacebookยุคนี้ที่ใช้เป็นพลังมัดใจผู้บริโภคทั่วโลก

อภิศิลป์เริ่มเล่น Facebook ตั้งแต่ปี 2550 โดยเล่นเพื่อสื่อสารพูดคุยกับเพื่อนๆ แล้วจากนั้นจึงมาเริ่มเล่นเกมน่าจะราวปี 2551 เกมแรกที่เขาได้ลองเล่นคือเกมฝึกสมองและความไวที่ชื่อ Who Has The Biggest Brain? ของค่าย Playfish ต่อมาเริ่มเล่น Word Challenge, Pet Society, Restaurant City, Crazy Planets, Happy Farm และ Friends For Sale ด้วยความที่เล่นเกมมาแล้วหลากหลาย อภิศิลป์จึงเข้าใจภาพรวมและเสน่ห์ที่มีร่วมกันของเกมทั้งหลายบน Facebook

นอกจากการเล่นเกมด้วยตัวเองแล้ว อภิศิลป์สั่งสมมุมมองที่มีต่อเกมบน Facebook จากการเปิดเว็บ Playfish.in.th ขึ้นเมื่อเดือนเมษายน 2552 เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมเทคนิคการเล่นเกมบน Facebook รวมถึงเป็นศูนย์กลางการหาเพื่อน และแลกเปลี่ยน “ของในเกม” หรือที่เรียกว่า “Item” ด้วย ซึ่งเขาเองใช้เว็บนี้เป็นทั้งแหล่งบันเทิงส่วนตัวและเป็นสื่อใหม่ที่หารายได้พิเศษจากพื้นที่โฆษณาได้เหมือนเว็บไซต์สื่อทั่วไป

อภิศิลป์สังเกตพฤติกรรมของคนใน Playfish.in.th พบว่ามีผู้เล่นไม่น้อยที่ยอมจ่ายเงินจริงๆ มาแลกเงินในเกมเพื่อนำไปซื้อ Item ที่จะช่วยให้เล่นเกมอย่างได้เปรียบกว่าและสนุกขึ้น เป็นที่มาของโมเดลธุรกิจของผู้ผลิตเกมเหล่านี้ที่อภิศิลป์สรุปว่ามีแหล่งรายได้ทั้งหมด 3 แหล่ง

แหล่งรายได้แรกและเป็นก้อนใหญ่สุด ก็คือการขาย Item ในเกม ส่วนแหล่งที่สองคือบางเกมจะให้ผู้เล่นไปซื้อสินค้าจริงๆ แล้วนำรหัสที่ติดมากับกล่องสินค้ามาแลก Item พิเศษในเกม นับเป็นการใช้เกมช่วยสร้างยอดขายสินค้าจริง นอกจากนี้แหล่งที่สามก็คือซื้อเนื้อที่ติดป้ายโฆษณาในเกม เช่นในฉากของเกม

พฤติกรรมคนบน Facebook ที่สรุปมานั้น เป็นเหมือนกันทั้งทั่วโลกและในไทย ดังที่อรรถวุฒิสรุปไว้สอดคล้องกับอภิศิลป์ว่า “พฤติกรรมบนโลกออนไลน์ มักจะเกิดขึ้นเหมือนกันๆ ทั่วโลก คนไทยก็เป็นไม่ต่างกับคนทั่วโลกเท่าไหร่”

ความร้อนแรงในตัวเลขผู้ใช้ดึงดูดให้ปัจจุบันบริษัทเกมบน Facebook มีหลากหลาย แต่มีรายใหญ่ระดับโลกอยู่ 2 แบรนด์ คือ Zynga กับ Playfish ที่ต่างก็มีมูลค่ากิจการเป็นหลักร้อยล้านดอลลาร์จากการขาย Item ในเกม เช่น Zynga ที่เพิ่งตั้งขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายน 2007 ที่สหรัฐอเมริกา ทำรายได้ราว 100 ล้านเหรียญในปี 2008 และพุ่งขึ้นเป็น 250 ล้านดอลลาร์แล้วในปีต่อมา ด้วยเกมดังๆ เช่น Farmville, Mafia’s War

ส่วน Playfish นั้นก่อตั้งในลอนดอน ประเทศอังกฤษ เมื่อปี 2007 เช่นกัน ปัจจุบันมีรายได้ปีละประมาณ 75 ล้านดอลลาร์ มีเกมดังๆ เช่น Who has the Biggest Brain? จากนั้นก็เป็น Pet Society, Restaurant City และ Barn’s Buddy ดึงดูดให้บริษัท Electronics Art เจ้าของเกมออฟไลน์ดังระดับโลกอย่าง The Sims, Fifa, Need For Speed ลงทุน 400 ล้านดอลลาร์เข้าซื้อกิจการบริษัท Playfish ไปเมื่อปลายปี 2009 ที่ผ่านไป

ทุกวันนี้หากพูดถึงธุรกิจเกมบน Facebook ทุกสายตาจึงจับจ้องมองไปที่สองยักษ์คู่แข่ง Zynga กับ Playfish ที่ฟาดฟันทางธุรกิจกันแบบ “เกมชนเกม” เช่น Farmville แข่งขันกับ Barn’s Buddy และ Brain’s Buddy แข่งขันกับ Who has the Biggest Brain? และอีกหลายเกมที่เป็นคู่คล้ายแย่งผู้เล่นกันบนโลก Facebook ที่มีคนอยู่เกิน 250 ล้านคนไปแล้ว