Ovi’s Big Challenge

นานกว่า 2 ปีแล้วที่โนเกียใช้เวลาสำหรับสื่อสาร “Ovi” ให้เข้าถึงผู้ใช้โทรศัพท์มือถือภายใต้แบรนด์ “โนเกีย” แต่ดูเหมือนว่า Ovi ยังไม่แรงพอที่จะดึงส่วนแบ่งตลาดเครื่องมือถือของโนเกียให้เพิ่มขึ้นทั้งในระดับโลกและเมืองไทย ตรงกันข้ามกลับลดลงเรื่อยๆ นี่คือปัญหาที่เรียกได้ว่า “มันใหญ่มาก” จนโนเกียไม่อาจนิ่งเฉยอีกต่อไป นอกจากปฏิบัติการระดับโกลบอลของโนเกียแล้ว ในเมืองไทยก็ไม่ลังเลที่โดดทุ่มเต็มที่ทั้งเงินและการคิดกลยุทธ์ กรณีบิ๊กอีเวนต์ Big Mountain คือสัญญาณการบุกด้วยความคาดหวังว่า Ovi จะไม่เงียบลงตามเสียงกรี๊ดที่เพิ่งจบไป

ตลอด 2 ปีที่ผ่านมาโนเกียเผชิญกับโจทย์ใหญ่ 3 ข้อ คือ 1.พละกำลังของคู่แข่งในตลาดแรงและจำนวนมากขึ้นในตลาดกลางถึงบนที่ต้องการใช้ ”สมาร์ทโฟน” ที่จุดประกายโดยไอโฟน ตามมาด้วยแบล็คเบอร์รี่ เอชทีซี ไปจนถึงแบรนด์จากค่ายเกาหลี อย่างซัมซุงและแอลจี และ 2.เทคโนโลยีที่พัฒนาทำให้สมาร์ทโฟนใช้งานง่าย ราคาถูกลง และเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคทั่วไปหรือ Mass มากขึ้น 3.ผู้บริโภคต้องการมือถือที่ฉลาดจาก “แอพพลิเคชั่น” ที่ทำให้ใช้งานได้หลากหลาย สนองตอบไลฟ์สไตล์ตั้งแต่บันเทิงจนถึงการทำงาน

ปี 2009 โนเกียกำลังคิดและพัฒนาเพื่อเปิดร้านแอพพลิเคชั่น “Ovi Store” แต่ “App Store” ของแอปเปิลกำลังคึกคักทั้งนักพัฒนาแอพฯและผู้ใช้ไอโฟน ทำให้ยอดขายไอโฟนวิ่งฉิวโตเฉลี่ยไตรมาสละ 10% ขณะที่สมาร์ทโฟนของโนเกียลดลงเฉลี่ย 5% (ข้อมูลจากโนเกียในต่างประเทศระบุว่า ณ ไตรมาส 2/2009 โนเกียมีส่วนแบ่งตลาดสมาร์ทโฟน 41% ขณะที่ปี 2005 มีส่วนแบ่ง 62%)

อุปสรรคสำคัญของ Ovi คือนักพัฒนาแอพฯไม่อยากพัฒนาโปรแกรมสำหรับหลายแพลตฟอร์ม ตามนโยบายของโนเกียที่ต้องการให้สมาร์ทโฟนเข้าถึงทุกกลุ่มเป้าหมายจึงมีสมาร์ทโฟนหลายรุ่นตั้งแต่ E, N ซีรี่ส์ไปจนถึงมิวสิกโฟน แอพฯใน Ovi Store จึงมีน้อย

กลางปี 2009 Ovi Store เพิ่งเปิดอย่างเป็นทางการ พร้อมกับการวางจำหน่าย N97 ตามมาด้วย E72 และเพื่อให้มีความต่อเนื่องโนเกียปฎิบัติการล่าสุดเมื่อต้นปี 2010 ด้วยกลยุทธ์ ”ฟรี มาร์เก็ตติ้ง” นำบริการยอดฮิตเครื่องมือนำทางบนแผนที่ Ovi Maps ให้ชาวโนเกียใช้ฟรี จากเดิมที่คิดค่าบริการ 32-74 บาทต่อวัน (0.69-1.59 ยูโร) ก่อนที่จะมาถึง Mass ด้วย X6 (มิวสิกโฟน XpressMusic)

สำหรับเมืองไทยกับอีเวนต์ Big Mountain ที่เพิ่งผ่านไป จึงเป็นความพยายามครั้งใหญ่ ตามแผนที่ Ovi ต้องเคลื่อนเข้าสู่กลุ่ม Mass โดยมีวัยรุ่นเป็นจิ๊กซอว์ ผ่านมือถือรุ่น X6 ซึ่งเป็นไฮไลต์ในการทำตลาดไตรมาสแรกของปี แน่นอนเป็นไฮไลต์ที่โนเกียต้องทำให้ใหญ่และถูกพูดถึง

“นนทวัน สินธวานนท์“ หัวหน้าฝ่ายการตลาด โนเกีย (ประเทศไทย) บอกว่า นับจากนี้โนเกียต้องสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายว่า Ovi ใช้งานอะไร ได้ประโยชน์ที่จับต้องได้ เพราะยังมีกลุ่มที่ยังไม่รู้และไม่แน่ใจว่า Ovi เป็นอะไร การเจาะกลุ่มเป้าหมายวัยรุ่น เพราะเป็นกลุ่มตามเทคโนโลยีได้เร็ว เพื่อให้ Ovi เข้าถึง Mass และแน่นอน Ovi ต้องใช้กลยุทธ์ร่วมอีเวนต์ที่วัยรุ่นสนใจ ทั้งในรูปแบบเป็นสปอนเซอร์ และ Tie-in ด้วยคอนเซ็ปต์ต้องเชื่อมโยงกับไลฟ์สไตล์ของกลุ่มเป้าหมายให้ได้

Big Mountain เป็นอีเวนต์คอนเสิร์ตใหญ่ครั้งที่สองสำหรับโนเกียในการสร้างแบรนด์รองในรอบ 3 ปีที่อัดเม็ดเงินมากกว่า 10 ล้านบาท นับจาก Nseries เมื่อปี 2007 ในคอนเสิร์ตโรแนน คีตติ้ง (Nokia Nseries presents Sharing Discoveries with Ronan Keating Live in Bangkok)

รอบนี้โนเกียร่วมบรรเลงกับ Big Mountain กับค่ายเกเร แกรมมี่ ด้วยองค์ประกอบ
1. เป็นรูปแบบคอนเสิร์ตกลางแจ้งที่กำลังเป็นเทรนด์ที่คนรุ่นใหม่ชื่นชอบ
2. มีการลงทุนเป็นคอนเสิร์ตขนาดใหญ่กลางแจ้ง
3. ลักษณะอีเวนต์ดึงให้กลุ่มเป้าหมายมาร่วมอีเวนต์นานเกือบ 2 วัน ทำให้การ Tie-in Ovi ผ่าน 5 บูธ เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้นานขึ้น เพราะมีเวลาในการดึงกลุ่มเป้าหมายให้มาเรียนรู้กับบริการของ Ovi ตั้งแต่ Ovi Mail Chat ไปจนถึง Map
4. กลุ่มแกรมมี่มีสื่ออื่นในเครือที่สามารถทำให้แบรนด์ Ovi กระจายถึงกลุ่มเป้าหมายได้มากขึ้น

คอนเสิร์ตจบลง แต่สำหรับโนเกียกับเรื่องราวของ Ovi ยังมีการบ้านต้องทำอีกหลายข้อ นับจากนี้ Ovi จะพูดถึงมากขึ้น และต่อเนื่อง เพราะกลยุทธ์ของโนเกียกับการเปิดตัวมือถือรุ่นใหม่ในรูปแบบเดิมๆ ที่พูดถึงสเปกเครื่อง มีผู้บริหารยืนแอคชั่นถ่ายรูปนั้นไม่พออีกต่อไป แต่โนเกียต้องมาพร้อมโซลูชั่น อย่าง Ovi ประตูที่เปิดกว้างขึ้นทั้งสำหรับนักพัฒนาแอพฯ และกลุ่มเป้าหมายที่ใช้โนเกีย หาก Ovi สำเร็จ นั่นหมายถึงอนาคตที่สดใสของโนเกีย

App Store
แอปเปิล
ช่องทาง ไอโฟน ไอพอด
แพลตฟอร์ม OSX
ยอดโหลดต่อเดือน 200 ล้าน
จำนวนแอพฯ 110,000
รายได้ต่อปี 700 ล้านเหรียญ
โมเดลรายได้ 70% ให้นักพัฒนา

Ovi Store
กูเกิล
ช่องทาง มือถือแอนดรอยด์
แพลตฟอร์ม แอนดรอยด์
ยอดโหลดต่อเดือน 30 ล้าน
จำนวนแอพฯ 16,000
รายได้ต่อปี 20 ล้านเหรียญ
โมเดลรายได้ 70% ให้นักพัฒนา บางกรณี 30% ให้ผู้ให้บริการ

Ovi Store
โนเกีย
ช่องทาง มือถือโนเกีย
แพลตฟอร์ม ซิมเบียน S60 และ 40
ยอดโหลดต่อเดือน 5 ล้าน
จำนวนแอพฯ 4,000
รายได้ต่อปี ยังไม่เปิดเผย
โมเดลรายได้ 70% ให้นักพัฒนา

ที่มา : Vision Mobile ณ สิ้นปี 2009

Profile Ovi Store
– เปิดให้บริการทั่วโลกเมื่อมิถุนายน 2552
-จำนวนการดาวน์โหลดเกือบ 1 ล้านดาวน์โหลดต่อวันทั่วโลก เพิ่มขึ้น 100% ทุกเดือน
-ผู้ใช้งานดาวน์โหลดประมาณ 11 แอพฯ ต่อคน
-แอพฯที่ต้องชำระเงินที่ถูกดาวน์โหลดเป็นอันดับ 1 คือแอพฯเกม
– คอนเทนต์ที่ได้รับความนิยม เช่น Vringo (City Maps & Guides), Docscanner (Business), Playlist DJ (Music), ToonWarz (Game), Armageddon Squadron (Game)

ที่มา : โนเกีย มกราคม 2010