แจ้งเกิดรหัส 3 มิติ

กว่าทศวรรษที่โฆษณาบนมือถือ อาทิ SMS, WAP Push ถูกมองเป็นจำเลยสำคัญต่อโลกแห่งสแปม นั่นก็เพราะ “โทรศัพท์มือถือ” กำลังถูกเลื่อนตำแหน่งให้อยู่ในฐานะสื่อ (ที่เข้าถึงตัว) มวลชนได้ดีที่สุด เหนือกว่าสื่อใดๆ ในโลกที่เคยมีมา

เทคโนโลยีที่ชื่อว่า ระบบเสมือนเสริมบนโทรศัพท์มือถือ (Mobile Augmented Reality หรือ Mobile AR) จะเป็นจุดเปลี่ยนแนวคิดเกี่ยวกับการตลาดและการโฆษณาบนมือถือไปอย่างสิ้นเชิง นั่นก็เพราะนวัตกรรมนี้สามารถทำให้สารโฆษณาถูกส่งถึงตัวผู้รับได้อย่าง ถูกคน ถูกที่ และถูกเวลา มากที่สุดนั่นเอง

และที่สำคัญที่สุดสำหรับคนทำสื่อถือว่าเทคโนโลยี Mobile Augmented Reality นี้เองทำให้วงการมือถือกล้าพูดได้ว่า พวกเขาสามารถทำสิ่งที่โลกแห่งพีซีทำไม่ได้ เพราะมือถือมีขนาดเล็กกว่าจะพกพาไปไหนก็สะดวก ทั้งยังมีฟีเจอร์ไฮเทคฝังอยู่ในเครื่องจนครบและพร้อมรบในสนาม Mobile AR จริงๆ

Mobile Augmented Reality คือ เทคโนโลยีระบบเสมือนเสริมที่ใช้งานบนโทรศัพท์มือถือ ทำให้หน้าจอมือถือเป็นเหมือนเลนส์ชนิดพิเศษให้คุณเห็นข้อมูลต่างๆ (จากอินเทอร์เน็ต) ที่

เกี่ยวข้องกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้าได้ ซึ่งปัจจุบันสามารถนำไปใช้ในรูปแบบแอพพิเคชั่นที่ติดตั้งบนมือถือ ซึ่งถ้าจะใช้งานได้อย่างสมบูรณ์ที่สุด มือถือเครื่องนั้นมีความจำเป็นจะต้องมีฟีเจอร์

อาทิ กล้องถ่ายรูป การระบุพิกัดตำแหน่ง (GPS) เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ และที่สำคัญคือ มีเข็มทิศดิจิตอลอยู่ในเครื่องๆ เดียว ซึ่งทุกครั้งนี้เปิดใช้งานแอพพิเคชั่นประเภท Mobile AR

นี้ทุกฟีเจอร์ดังกล่าวก็จะทำงานร่วมกันเพื่อประมวลผลข้อมูลให้เราทันที ซึ่งปัจจุบันมือถือที่รองรับเทคโนโลยีนี้ก็มี ไอโฟน 3GS, มือถือระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ อาทิ HTC G1, HTC HERO, HTC Droid เป็นต้น

และสิ่งที่การันตีว่าเทคโนโลยี Mobile AR นี้เกิดแน่ในปีนี้ ไม่ใช่เพราะสำนักวิจัยจูปิเตอร์ออกมาคาดการณ์ว่าตลาดการโฆษณาด้วยเทคโนโลยีนี้จะมีมูลค่าถึง 25,550 ล้านบาทในอีก 4 ปีข้างหน้า แต่ผู้เขียนกลับมองว่า เพราะเหตุผล 4 ประการนี้ต่างหาก

1. เครื่องมือถือเล็กๆ แต่มีฟีเจอร์ล้ำๆ อัดแน่นจนเต็มเครื่อง และกำลังการผันตัวสู่ยุคแห่งมือถือสมาร์ทโฟนที่มีฟังก์ชันแอดวานซ์ครบหมด อันได้แก่ กล้อง Wi-Fi, GPS เข็มทิศดิจิตอล ฯลฯ

2. เทคโนโลยี 3G และ Wi-Fi ครอบคลุมทุกพื้นที่ ทำให้คนเข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงได้ตลอดเวลา

3. มีซอฟต์แวร์ที่เป็นแพลตฟอร์มมาตรฐานให้เราและทุกคนทั่วโลกได้ใช้ติดต่อหากันได้ฟรีๆ อันได้แก่ Facebook, Twitter, Foursquare ฯลฯ

4. วงการโฆษณาเริ่มตื่นตัวมอบงบการตลาดและโฆษณาก้อนใหญ่ขึ้นในการอัดฉีดสื่อใหม่ เพราะตระหนักแล้วว่าสื่อดิจิตอลสามารถเข้าถึงตัวรู้ค้าไว เลือกกลุ่มได้ชัดเจน วัดผลได้แน่นอน ที่สำคัญราคาถูกกว่าสื่อดั้งเดิมมาก

กรณีศึกษาที่ 1 การประยุกต์ใช้กับ Mobile Social Application

อัตราการเล่นเว็บไซต์เครือข่ายทางสังคมออนไลน์ผ่านมือถือได้ดีดตัวขึ้นสูงเป็นประวัติการ (เมื่อปลายปีที่แล้วเว็บไซต์เฟซบุ๊กมีคนเล่นจากมือถือ 65 ล้านคน) แต่ต่อจากนี้ไปคุณสามารถสนุกกับมันในมิติที่ลึกซึ้งขึ้น ซึ่งเราเรียกมันว่า “MoSoSo” (Mobile Social Society หรือ Mobile Social Software) ที่หมายถึงการที่คนนิยมติดต่อกับเพื่อนผ่านทางโปรแกรมที่ติดตั้งบนมือถือและโปรแกรมนี้ทำให้เราค้นหาตำแหน่งของเพื่อนได้ จากนั้นก็ส่งข้อความ รูปภาพเพื่อสื่อสารกัน

ซึ่งคอนเซ็ปต์ที่ดูอธิบายยากๆ เมื่อครึ่งทศวรรษก่อน กลับกลายเป็นภาพเห็นกันอย่างดาษดื่นในตอนนี้

อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้ 5 ปีก่อนค่ายยักษ์ใหญ่อย่างกูเกิลก็ได้ซื้อบริษัททำแอพฯประเภทนี้ชื่อว่า “DodgeBall” และเปลี่ยนมาเป็น Google Latitude ในปีที่แล้ว ส่วนทางโนเกียเองก็มีแอพฯ “Nokia Sensor” ที่ติดตั้ง กับมือถือซิมเบียน Series 60 (แต่ใช้การหาตำแหน่งเพื่อนจากการสแกนบลูทูธ) แต่อาจจะเพราะตอนนั้นยังไม่มีการถือกำเนิดของเฟซบุ๊กด้วยซ้ำ ก็เลยเรียกได้ว่าเทคโนโลยีล้ำเกินคนจะตามทัน

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น 2 แอพฯ ที่ว่ายังไม่ได้มีการผสานเทคโนโลยี Mobile AR เข้าไปจนกระทั่งปีที่แล้วได้มีการออกแอพพลิเคชั่นที่ผสมทั้ง MoSoSo และ Mobile AR เข้าด้วยกันจนเกิดเป็น “Twitter360” หรือแอพพลิเคชั่นบนไอโฟนที่ทำให้คุณสามารถทราบได้ว่าข้อความจากเพื่อนที่กำลังทวีตอยู่แบบเรียลไทม์ลอยมาหน้าจอ ซึ่งระบุได้ว่าพวกเขาเหล่านั้นอยู่ ณ มุมใดของโลก ต่อมาก็เป็นแอพฯของเว็บไซต์รีวิวร้านอาหารชื่อดังอย่าง “Yelp” ที่ช่วยให้คุณพกบทความรีวิวนับหมื่นๆ ไปอ่านก่อนตัดสินใจหม่ำร้านใดๆ เพียงแค่ยกมือถือขึ้นมาแล้วส่องไปตามถนนเส้นที่คุณอยู่ ก็จะมีหมุดลอยขึ้นเพื่อแสดงถึงตำแหน่งร้านอาหารที่คนชื่นชอบและเขียนรีวิวเอาไว้

สำหรับการประยุกต์ใช้ในเชิงการตลาดกับแอปฯประเภทนี้ก็คือ การทำการโฆษณา หรือส่งเสริมการขายได้โดยตรงกับผู้บริโภคที่อยู่ใกล้ที่สุด (Proximity Marketing) เช่น หลังจากอ่านรีวิวแล้วสามารถดาวน์โหลดภาพคูปองลงเครื่องเพื่อเป็นส่วนลดได้ทันที หรือเมื่อใดก็ตามที่เขาเดินแวะมาบริเวณนี้ให้เข้ามาเซ็นสมุดเยี่ยมบนแว็บไซต์ และเมื่อเซ็นครบ 5 ครั้ง หรือส่งต่อให้เพื่อน 5 คนก็รับกาแฟฟรี 1 แก้วเป็นต้น ซึ่งก็ถือเป็นการทำ Digital CRM ที่น่าสนใจมากทีเดียว ที่สำคัญจะช่วยให้ภาคธุรกิจขนาดย่อมได้มีโอกาสหาลูกค้ารายใหม่ๆ ที่เป็นขาจรได้อีกด้วย

กรณีศึกษาที่ 2 การประยุกต์ใช้กับวงการท่องเที่ยว

เทคโนโลยี Mobile AR สามารถทำให้เกิดไกด์ดิจิตอลที่คุณพกใส่กระเป๋าเสื้อได้ คุณอยากรู้ที่มาของสถาปัตยกรรม อนุสาวรีย์อะไรก็ตาม ก็แค่ยกมือถือขึ้นมาสแกนแล้วกดอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้เลย ซึ่งข้อมูลเหล่านี้สามารถอัพเดตผ่านเว็บไซต์ได้ตลอดเวลา นอกจากนี้แล้วยังสามารถสร้างภาพจำลอง 3 มิติของซากปรักหักพังของโบราณสถานเมื่อครั้งยังศิวิไลซ์ลอยซ้อนทับภาพจริงบนหน้าจอให้ผู้ชมเห็นเพื่อเปรียบเทียบกับสภาพที่เป็นอยู่ปัจจุบันได้

แนวคิดนี้สามารถนำไปสู่การสร้างแอพพลิเคชั่นสำหรับเป็นคู่มือการท่องเที่ยวเฉพาะเกาะรัตนโกสินทร์ฉบับดิจิตอล หรือการทัวร์อดีตอันรุ่งเรืองของอยุธยาได้

ปัจจุบันมีแอพพลิเคชั่น Mobile AR สำหรับการท่องเที่ยวมากมาย เช่น “Wikitude” ที่ดึงเนื้อหาที่มาของสถานที่ต่างๆ มาจากวิกิพีเดีย และอีกส่วนมากจากการเปิดให้คนทั่วไปปักหมุดและใส่ข้อมูลบนแผนที่เองได้ และเมื่อผลงานเป็นที่น่าพอใจทาง Lonely Planet จึงได้ว่าจ้างบริษัท Mobilizy ผู้อยู่เบื้องหลังแอพฯ Wikitude เพื่อทำแอพฯ “Lonely Planet Compass guides”

สำหรับเป็นคู่มือการท่องเที่ยว 10 เมืองใหญ่ในอเมริกาบนมือถือระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์

ราคาเพียง 175 บาท ย่อมขายดีกว่าหนังสือเล่มหนาเตอะเป็นไหนๆ และทางกูเกิลเองล่าสุดก็เพิ่งออกแอปประเภทนี้ชื่อว่า Google Goggles สำหรับคนหาร้านค้าต่างๆ

กรณีศึกษาที่ 3 การประยุกต์ใช้กับการช้อปปิ้งออนไลน์

การทำห้องลองเสมือนจริง ดูเหมือนเป็นแนวคิดที่วิน-วินกับทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย เพราะนอกจากของจะไม่เสียหายแล้ว ลูกค้ายังลอง และเปลี่ยนไซส์ สีได้ไม่จำกัดโดยไม่ต้องเกรงใจคนขายด้วย อันที่จริงเว็บไซต์ขายเสื้อผ้าออนไลน์บางเว็บก็หันมาใช้เทคโนโลยี AR บนพีซี คือ ให้ลูกค้าพิมพ์บาร์โค้ดออกมา จากนั้นก็เอามาทาบบนตัว เมื่อมองจากกล้องเว็บแคม ก็จะเห็นเป็นชุดเสื้อผ้าลอยอยู่เหนือตัวเอง จากนั้นก็เปลี่ยนสีสันได้ตามชอบใจ

และสำหรับ Mobile AR ก็มีผู้ประยุกต์ใช้อย่างน่าสนใจแล้วก็คือ การแต่งบ้านด้วยมือถือจาก ikea ที่ทำให้คุณเป็นสถาปนิกด้วยตัวเอง ไม่ต้องยกของใหญ่ๆ และไม่เสียเงิน แค่ยกมือถือขึ้นมา เลือกรูปสินค้าในหมวด ikea PS จากนั้นกดปุ่มถ่ายรูป แล้วมือถือจะกลับมาโหมดกล้องถ่ายรูปอีกครั้ง ให้เลือกมือถือไปถ่ายในมุมที่ต้องการวางเฟอร์นิเจอร์ชิ้นนี้ ก็จะเห็นมุมห้องที่พร้อมด้วยเฟอร์นิเจอร์ที่เลือกไว้ก่อนหน้าลอยขึ้นมาทันที เราสามารถบันทึกภาพนี้และส่งต่อให้เพื่อนผ่าน MMS ได้อีกด้วย (ส่วนการดาวน์โหลดโปรแกรมสามารถโหลดจากแท่นส่งโปรแกรมผ่านบลูทูธที่ตั้งอยู่ในร้าน ikea ได้เลย)

ถึงตอนนี้จะเห็นได้ว่าแบรนด์ใดก็ตามที่ต้องการจะรุกมายังการตลาดบนมือถือด้วยเทคโนโลยี Mobile AR สิ่งสำคัญที่สุดคือจำเป็นต้องวางรากฐานบนโลกออนไลน์ (พีซี) ให้แข็งแรงเสียก่อน เพราะทุกอย่างล้วนต่อยอดมาจากจุดนั้น เหมือนการใส่ท็อปปิ้งให้ดูมีสีสัน และดึงดูดใจคนใช้ได้มากขึ้นนั่นเอง

ฉะนั้นกล่าวสรุปได้ว่า การจุดพลุปรากฎการณ์ Mobile AR ในปี 2010 นี้ถือเป็นมงคลฤกษ์ที่สุด ซึ่งก็เป็นเหตุผลเดียวกับที่เจมส์ คาเมรอน ต้องอดใจรอนานกว่า 15 ปีที่จะสร้างโลกแห่งแพนดอร่าใน Avatar ได้สำเร็จ เพราะปีนี้มันมันคือปีที่ที่เทคโนโลยี ซอฟต์แวร์ และผู้ใช้อยู่ในภาวะที่ว่า “เฟิร์มสุดๆ” แล้วนั่นเอง…ใช่แล้ว This is it!