“พิธาน องค์โฆษิต” เติมพอร์ตลงทุนธุรกิจฟู้ด ถือหุ้น Mos Burger 75% ชิงตลาด “หมื่นล้าน” ลุยต่อแฟชั่น M2S

นอกจากเป็นผู้บริหารเจน 2 ทายาท เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ (KCE) ผู้ผลิตและจำหน่ายแผ่นพิมพ์วงจรอิเล็กทรอนิกส์ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แอมป์ พิธาน องค์โฆษิตยังมีพอร์ตโฟลิโอธุรกิจส่วนตัว THE FACE SHOP แบรนด์เครื่องสำอางเกาหลี, สินค้าแฟชั่นแบรนด์ M2S ล่าสุดเข้าลงทุน 75% ใน Mos Burger แบรนด์เบอร์เกอร์สัญชาติญี่ปุ่น

ธุรกิจฟาสต์ฟู้ดในประเทศไทยปี 2561 ตลาดใหญ่สุดคือ ไก่ทอด มูลค่า 18,700 ล้านบาท ตามด้วย เบอร์เกอร์ 9,000 ล้านบาท และพิซซ่า 8,200 ล้านบาท ยังเติบโตเฉลี่ยปีละ 5 – 10% ในตลาดเบอร์เกอร์อันดับ 1 คือแมคโดนัลด์มีกว่า 300 สาขา อันดับ 2 เบอร์เกอร์คิง 80 สาขา ทั้ง 2 แบรนด์ ครองส่วนแบ่งการตลาด 90%

บุกธุรกิจฟู้ดร่วมทุน Mos Burger  

พิธาน องค์โฆษิต ประธานบริษัท มอส ฟูดส์ เซอร์วิสเซส (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่าปัจจุบันพอร์ตการลงทุนส่วนตัวนอกจากธุรกิจเคซีอี ในปี 2557 ได้ลงทุนธุรกิจเครื่องสำอางเกาหลี THE FACE SHOP และปีนี้ขยายการลงทุนใหม่ธุรกิจอาหาร ด้วยการเข้าไปถือหุ้นใหญ่สัดส่วน 75% ในบริษัท มอส ฟูดส์ เซอร์วิสเซส ผู้ลงทุนร้านฟาสต์ฟู้ด Mos Burger ในประเทศไทย โดยใส่เงินเพิ่มทุนจดทะเบียนอีก 200 ล้านบาท

พิธาน องค์โฆษิต

ร้านฟาสต์ฟู้ด Mos Burger แบรนด์เบอร์เกอร์สัญชาติญี่ปุ่นอายุ 48 ปี เข้าสู่ตลาดไทยในปี 2550 จากการเข้ามาลงทุนของ มอส ฟูดส์ เซอร์วิสเซส อิงค์ เจ้าของแบรนด์ร่วมกับพาร์ตเนอร์ญี่ปุ่นในไทย ปัจจุบันมี 8 สาขาในโมเดิร์นเทรด เรียกว่าการขยายสาขาต่อปีทำได้ไม่มาก ช่วงต้นปีที่ผ่านมาบริษัทแม่ญี่ปุ่น จึงมองหาพาร์ตเนอร์ใหม่เพื่อโอกาสขยายสาขาในประเทศไทย

พิธาน บอกว่าเป็นจังหวะเดียวกับการมองหาการลงทุนธุรกิจใหม่ในกลุ่มฟู้ด จึงใช้เวลาเจรจาธุรกิจเพื่อร่วมทุนกัน 5 – 6 เดือน โดยมองเห็นโอกาสในธุรกิจอาหารและตลาดเบอร์เกอร์ที่ยังเติบโตปีละ 5% ปีนี้ตลาดรวมน่าจะแตะ 10,000 ล้านบาท  

“ส่วนตัวเป็นคนที่ชอบกินเบอ์เกอร์อยู่แล้ว และเป็นแฟนคลับ Mos Buger ที่มีรสชาติเหมาะกับคนเอเชียและตลาดไทย”

ติดสปีดขยายสาขา

การเลือกลงทุนใน Mos Burger เพราะมองว่าเป็นแบรนด์ที่แข็งแกร่ง เป็นโปรดักต์อาหารญี่ปุ่นที่ได้รับความสนใจและชื่นชอบจากคนไทย วางตำแหน่งทางการตลาดราคาสูงกว่าตลาดแมส 20% เป็นตลาดระดับกลาง ลูกค้าใช้จ่าย 180 บาทต่อบิล

“ปัญหา Mos Burger ที่ผ่านมา อยู่ที่ขยายสาขาช้าและการทำตลาดยังไม่ครอบคลุม แต่เป็นเรื่องที่สามารถแก้ไขได้ เช่นเดียวกับการเลือกลงทุน THE FACE SHOP เมื่อ 5 ปีก่อน ขณะนั้นก็มีปัญหาธุรกิจขาดทุน แต่แบรนด์ที่แข็งแกร่งและสินค้าที่หลากหลายทำให้กลับมาทำกำไรได้ ปัจจุบันทำรายได้ 700 – 800 ล้านบาท”

หลังจากร่วมทุน มอส ฟูดส์ ประเทศไทย ด้วยสัญญาระยะยาว 18 ปี วางแผนลงทุนปีนี้ขยายเพิ่ม 6 สาขา ดังนั้นสิ้นปีนี้จะมี 14 สาขา หลังจากนั้น 5 – 6 ปีนับจากนี้ วางแผนขยายปีละ 9 สาขา จากนั้นปีละ 12 สาขา คาดว่าจะมี 80 – 90 สาขาใน 8 ปีแรก

ส่วนรายได้ปี 2561 ก่อนร่วมทุนอยู่ที่ 80 ล้านบาท ปี 2562 ราว 100 ล้านบาท และภายใน 4 ปี ยอดขาย 500 ล้านบาท จากส่วนแบ่งการตลาด 1% ปีนี้ น่าจะขยับมาเป็น 10% ในอีก 10 ปี

ทางด้าน อัทสึชิ ซากุราคะ ประธานกรรมการ บริษัทและตัวแทน มอส ฟูดส์ เซอร์วิสเซส อิงค์ กล่าวว่าปัจจุบัน Mos Burger เป็นแบรนด์ฟาสต์ฟู้ดเบอร์เกอร์อันดับ 2 ในญี่ปุ่นรองจากแมคโดนัลด์ มีสาขา 1,300 สาขา และสาขานอกประเทศญี่ปุ่น 9 ประเทศ เช่น ไต้หวัน ฮ่องกง สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ไทย รวม 370 สาขา อยู่ในญี่ปุ่น 70% และ 30% รายได้ปีที่ผ่านมา 1.3 แสนล้านเยน

วางแผนอีก 10 ปีข้างหน้าจะมีสาขารวม 10,000 สาขา ในญี่ปุ่น 30% และนอกญี่ปุ่น 70% ตลาดหลักยังคงเป็นเอเชีย โดยจะขยายสาขาในยุโรปและสหรัฐอเมริกาด้วยเช่นกัน

ภาพเฟซบุ๊ก M2S

เติมพอร์ตลงทุนแฟชั่น M2S

นอกจากธุรกิจเครื่องสำอางและอาหารแล้ว “พิธาน” ได้ขยายการลงทุนร่วมกับหุ้นส่วนในธุรกิจแฟชั่นเสื้อผ้าออนไลน์ แบรนด์ M2S (Monday to Sunday) ซึ่งเป็นแบรนด์ที่พัฒนาขึ้นเอง โดยออกแบบคอลเลกชั่นเสื้อผ้า 17 แบรนด์ ากคาแร็กเตอร์ “ดารา” 17 คน เช่น ออม สุชาร์, เดียร์น่า, ไอซ์ อภิษฎา, วุ้นเส้น, ใบเฟิร์น, มายด์, เนย โชติกา จำหน่ายผ่านเว็บไซต์ www.m2spop.com และเปิดออฟฟิเชียลช้อป Lazada

ธุรกิจแฟชั่นเติบโตเป็นตัวเลขสองหลักทุกปี พฤติกรรมผู้บริโภคนิยมซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น การดึงดาราซึ่งเป็นที่รู้จักและมีช่องทางโปรโมตสินค้าผ่านไอจี ของแต่ละคนทำให้แบรนด์เป็นที่รู้จักมากขึ้น สินค้ามีราคาตั้งแต่ 590 – 1,000 บาท เป็นราคาที่จับต้องได้ ลูกค้าหลักอายุ 18 – 45 ปี ปีนี้คาดว่าจะทำรายได้ 70 ล้านบาท

สำหรับพอร์ตการลงทุนส่วนตัวของ “พิธาน” จะโฟกัสที่ 3 ธุรกิจ คือ เครื่องสำอาง อาหาร และแฟชั่น โดยน้ำหนักการลงทุนอยู่ที่ THE FACE SHOP และ Mos Burger ที่ถือเป็นแบรนด์ระดับโลกและยังมีโอกาสขยายการลงทุนได้อีก โดยเฉพาะตลาดเบอร์เกอร์