ธุรกิจสายการบินยังคงเผชิญมรสุมที่บินฝ่าไปได้ยาก ทั้งความตึงเครียดจากสถานการณ์การค้าโลก ค่าเงินบาทที่แข็งค่า ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวลดลง ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ช่วงครึ่งปีแรก 2019 ผลประกอบการของสายการบินจึงมีทั้ง “ติดลบ” ส่วนรายที่แม้จะมี “กำไร” แต่ก็ลดฮวบเหมือนกัน
“การบินไทย” พลิก “ขาดทุน” ยับ 6 พันล้านบาท
ถึงแม้ว่า “การบินไทย” ยังคงดำเนินการตามแผนฟื้นฟูธุรกิจต่อเนื่องจากปีก่อนโดยมุ่งเน้นการสร้างรายได้เสริมภายใต้โครงการ “มนตรา” โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือทำให้การบินไทยหลุดพ้นจากวงจรของกับดักปัญหา และสามารถมีผลประกอบการที่มั่นคงต่อไปในอนาคต
แต่จากภาพรวมเศรษฐกิจโลกในไตรมาส 2 ของปี ชะลอตัวลงจากผลกระทบของสงครามการค้าสหรัฐฯ – จีนส่งผลกระทบต่อภาวะการณ์ส่งออกอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับค่าเงินบาทที่แข็งค่าอย่างมากส่งผลกระทบต่อสถานการณ์การท่องเที่ยวของไทย การขยายตัวของภาคการท่องเที่ยวชะลอตัวลงมาก เข้ามากดดันรายได้ของการบินไทยอยู่
ส่งผลครึ่งปีแรก 2019 ให้รายได้รวมจำนวน 92,300 ล้านบาท ลดลง 8,405 ล้านบาท (8.3%) สาเหตุหลักเกิดจากรายได้จากกิจการขนส่งลดลง 7,049 ล้านบาท (7.7%) โดยในส่วนของรายได้จากค่าโดยสารและน้ำหนักส่วนเกินลดลง 6.6% มีสาเหตุหลักจากปริมาณการขนส่งผู้โดยสารลดลง 4.2% นอกจากนี้ผลจากอัตราแลกเปลี่ยนมีผลให้รายได้จากผู้โดยสารเฉลี่ยต่อหน่วยลดลง 3.2% มีจำนวนผู้โดยสารทั้งสิ้น 12.01 ล้านคน ลดลง 0.15%
ค่าใช้จ่ายรวมจำนวน 100,239 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 562 ล้านบาท (0.6%) สาเหตุหลักเกิดจากค่าใช้จ่ายในการ ดำเนินงานไม่รวมน้ำมันเพิ่มขึ้น 941 ล้านบาท (1.4%) ได้แก่ ค่าเช่าเครื่องบินและอะไหล่เพิ่มขึ้น 739 ล้านบาท (10.4%) จากการรับมอบเครื่องบินเช่าดำเนินงานพิ่มขึ้น ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายพิ่มขึ้น 515 ล้านบาท (6.5%) จากการเปลี่ยนประมาณการมูลค่าคงเหลือของเครื่องบินและเครื่องยนต์
ทั้งหมดนี้ทำให้การบินไทย “ขาดทุน” จาก 6,422 ล้านบาท ขาดทุนสูงกว่าปีก่อน 6,073 ล้านบาท ขณะเดียวกันแม้การบินไทยจะจัดหาแหล่งทุนเงินได้มาทั้งสิ้น 24,000 ล้านบาท แต่จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2019 การบินไทยและบริษัทย่อยมีหนี้สินกว่า 245,133 ล้านบาท ซึ่งการบินไทยระบุว่า เป็นตัวเลขที่ลดลงจากสิ้นปีก่อน 3,132 ล้านบาท
นกแอร์มีข่าวดี ขาดทุน “ลดลง”
ฟาก “นกแอร์” ก็ไม่ต่างจากการบินไทยมากนัก แม้จะได้แม่ทัพคนใหม่มาดูแลอย่างเป็นทางการแล้ว แต่ผลประกอบการยังอยู่ในภาวะไม่สู้ดี ครึ่งปีแรก 2019 มีรายได้รวม 6,509.65 ล้านบาท ลดลง 15.15% จากปีก่อนที่มีรายได้ 7,671.53 ล้านบาท
สำหรับรายละเอียดนั้นนกแอร์ชี้แจงว่า 6 เดือนแรกมีปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร (ASK) ลดลง 14.64% ด้วยจำนวนฝูงบินลดลง ส่งผลให้อัตราบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) อยู่ที่ 88.35%
อย่างไรก็ตาม รายได้ต่อปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร (RASK) เพิ่มขึ้นเล็กน้อย 1.01% คิดเป็น 2.00 บาท/ที่นั่ง–กม. มีรายได้จากค่าโดยสารและรายได้จากการให้บริการในช่วง 6 เดือนแรกลดลง 13.80% และ 12.37% ตามลำดับ รวมถึงรายได้อื่นลดลงร้อยละ 61.69
ขณะเดียวกันยังมีข่าวดีอยู่บ้าง เนื่องจากค่าใช้จ่าย 7,383.80 ล้านบาท ลดลงจาก 8,446.22 ล้านบาท หรือ 12.58% โดยสาเหตุหลักมาจากการลดลงของราคาน้ำมันอากาศยาน ต้นทุนเชื้อเพลิงจึงลดลง 16.04% นอกจากนั้นยังสามารถลดต้นทุนในการซ่อมบำรุงเครื่องบิน รวมถึงสามารถลดต้นทุนค่าเช่าเครื่องบินได้ตามแผนการลดค่าใช้จ่ายตามแผนการฟื้นฟูธุรกิจของบริษัท คิดเป็น 15.47% และ 7.11% ตามลำดับ
ทั้งนี้นกแอร์มีผลขาดทุนเบ็ดเสร็จเท่ากับ 751.09 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อนเท่ากับ 23.59 ล้านบาท หรือขาดทุนลดลง 3.05%
“แอร์เอเชีย” จากกำไร “พันล้าน” เหลือหลัก “สิบล้าน”
ในขณะที่ “แอร์เอเชีย” แม้ผลประกอบการครึ่งปีแรก 2019 ยังสวยหรู มีรายได้ 21,637.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4% ปริมาณผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 4% มาอยู่ที่ 11.4 ล้านคน ส่งผลให้อัตราการขนส่งผู้โดยสารอยู่ที่อัตรา 86%
ทั้งนี้ค่าโดยสารเฉลี่ยอยู่ที่ 1,474 บาทต่อคน ลดลง 4% เนื่องจากการเติบโตอย่างชะลอตัวของนักท่องเที่ยวต่างประเทศ กอปรกับค่าเงินบาทที่แข็งค่ากดดันความต้องการเดินทางท่องเที่ยวมายังประเทศไทย
สำหรับค่าใช่จ่ายมีทั้งสิ้น 21,299.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% โดยหลักมาจากค่าน้ำมันเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้นตามปริมาณการใช้น้ำมันที่เพิ่มขึ้น 11% ซึ่งค่าน้ำมันเป็นต้นทุนหลักกว่า 35%
อย่างไรก็ตาม ค่าใช้จ่ายในการขายลดลง จากการลดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการโฆษณาและประชาสัมพันธ์ ในขณะที่ค่าใช้จ่ายในการบริหารเพิ่มขึ้นจากค่าใช้จ่ายพนักงาน และการบันทึกรายการพิเศษจากหนี้สินสำรองผลประโยชน์ระยะยาวของพนักงานจำนวน 111 ล้านบาท
ดังนั้นช่วงครึ่งปีแรก 2019 “แอร์เอเชีย” จึงมีกำไร 23.8 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่เคยทำได้ 1,267.1 ล้านบาท ทั้งนี้ในภาพรวมปี 2019 “แอร์เอเชีย” ตั้งเป้าจำนวนผู้โดยสารที่ 23.15 ล้านคน และอัตราขนส่งผู้โดยสาร 86%