เปลี่ยนโลกแพ็กเกจจิ้ง สตาร์ทอัปยุโรปใช้เปลือกกุ้งสร้าง “ฟิล์มแรปอาหาร” ไม่ง้อพลาสติก

[Photos: CuanTec, AM FL/Unsplash]

เปลือกกุ้งมีค่าอย่าทิ้ง! สตาร์ทอัปสกอตแลนด์ปิ๊งไอเดียสร้างฟิล์มแรปถนอมอาหารที่ย่อยสลายได้ การันตีเปลือกกุ้งเหลือทิ้งจากกระบวนการผลิตอาหารทะเลนั้นอุดมด้วยสารประกอบที่มีฤทธิ์ต้านจุลชีพตามธรรมชาติ ผลคือชาวโลกจะใช้แรปถนอมอาหารได้โดยไม่ต้องกังวลกับพลาสติกที่เป็นภาระขยะให้โลกอีกต่อไป

สตาร์ทอัปผู้ปฏิวัติวงการฟิลม์แรปอาหารรายนี้มีชื่อว่า CuanTec แนวคิดการนำเปลือกกุ้งที่เหลือจากการผลิตอาหารทะเลมาพัฒนาเป็นแรปพลาสติกพันธุ์ใหม่นั้นได้รับความสนใจในวงกว้าง เพราะวันนี้โลกยังต้องพึ่งพาพลาสติกทั้งที่รู้ว่าไม่อาจพึ่งพาได้ตลอดไป เช่นในวงการค้าปลีกที่ต้องใช้แรปห่ออาหารสด ผัก ผลไม้เพื่อคงความสดใหม่เมื่อวางจำหน่ายในซูเปอร์มาร์เก็ต รวมถึงร้านอาหารและแม่บ้านทั่วไปที่ต้องการถนอมอาหารไม่ให้เน่าเสียเร็วเกินไป

ที่สำคัญ ความสำเร็จของ CuanTec ยังสามารถแก้ปัญหาได้ 2 เด้ง ทั้งปมขยะอาหารที่การสำรวจพบว่าขยะอาหารอาจสร้างกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้มากกว่าพลาสติก และปมปัญหาพลาสติกล้นโลก ซึ่งสถิติระบุว่าใน 1 ปี ชาวโลกใช้แพคเกจจิงหรือบรรจุภัณฑ์อาหารพลาสติกมากกว่า 160 ล้านตัน โดยพลาสติกเหล่านี้ทำจากเชื้อเพลิงฟอสซิล และจะถูกรีไซเคิลเพียงส่วนน้อยเท่านั้น

[Photo: CuanTec]

ใช้ประโยชน์จากขยะ

Cait Murray-Green ซีอีโอสตาร์ทอัป CuanTec (“cuan” เป็นคำภาษาเกลิคแปลว่าทะเล) เปิดเผยว่านักวิจัยของ CuanTec กำลังพัฒนาบรรจุภัณฑ์ต้านจุลชีพที่ย่อยสลายได้อย่างสมบูรณ์ ซึ่งจะมีลักษณะและสัมผัสเหมือนพลาสติกดั้งเดิม แต่ความแตกต่างคือบรรจุภัณฑ์นี้จะไม่เพิ่มขยะที่โลกมีอยู่แล้วหลายล้านตัน

CuanTec ยอมรับว่าการเปลี่ยนของเสียจากอุตสาหกรรมอาหารทะเลให้กลายเป็นห่อพลาสติกชนิดใหม่ที่สามารถย่อยสลายได้อย่างปลอดภัย นั้นมีความท้าทายมากเรื่องการสร้างสิ่งของที่ทำงานเหมือนเดิม แต่จะต้องเปลี่ยนมาเป็นวัสดุที่ยั่งยืนซึ่งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดย CuanTec เลือกใช้กระบวนการหมักที่คล้ายกับการต้มเบียร์ เพื่อแยกสารที่เรียกว่าไคติน (chitin) จากเปลือกของกุ้งลังกู้สตีน (langoustine) ซึ่งเป็นกุ้งเปลือกแข็งสายพันธุ์กุ้งมังกรหรือล็อบสเตอร์

ปัจจุบัน สถิติชี้ว่าอุตสาหกรรมการประมงในสกอตแลนด์สร้างขยะเปลือกกุ้งเปลือกหอยจำนวนมาก และแม้ว่าไคตินจะมีการนำไปใช้ในหลายอุตสาหกรรม แต่กระบวนการสกัดไคตินนั้นมีต้นทุนสูง ทำให้เปลือกหอยเปลือกกุ้งส่วนใหญ่ถูกโยนทิ้งลงถังขยะ พร้อมกับที่อุตสาหกรรมหันมาใช้ไคตินที่ได้จากกระบวนการผลิตจากสารเคมีแทน 

ทั้งหมดนี้ Murray-Green ยอมรับว่ากระบวนการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมนั้นมีต้นทุนสูงจริง แต่บริษัทก็พยายามทำสิ่งใหม่ ด้วยการทิ้งความคิดเรื่องการใช้เคมี และหันมาใช้ความรู้ด้านชีววิทยาแทน

[Photo: CuanTec]

ต้องใสเหมือนพลาสติก

สิ่งสำคัญที่ CuanTec พยายามยึดมั่นเพื่อให้นวัตกรรมของบริษัทประสบความสำเร็จ คือการเน้นคุณภาพด้วยการมุ่งแปลงไคตินธรรมชาติเป็นฟิล์มใสที่สามารถใช้ในบรรจุภัณฑ์ทุกประเภท แทนที่จะเป็นฟิล์มสีเหลืองที่ไม่ได้รับความสนใจจากตลาดในช่วงก่อนหน้านี้   

ปัจจุบัน CuanTec สามารถสร้างต้นแบบฟิลม์ใสได้สำเร็จและกำลังอยู่ในขั้นตอนจัดหาเงินทุนรอบสุดท้าย เพื่อช่วยให้บริษัทสามารถพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์แบบสมบูรณ์ รวมถึงการปฎิบัติตามกฎระเบียบด้านบรรจุภัณฑ์อาหารก่อนจะเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อจำหน่ายในวงกว้าง

เบื้องต้น ซูเปอร์มาร์เก็ตอย่าง Waitrose ในอังกฤษแสดงความสนใจในแรปถนอมอาหารเปลือกกุ้งนี้แล้ว และมีแผนเริ่มต้นนำไปใช้งานเพื่อแรปปลาแซลมอน ซึ่งจะนำร่องก่อนขยายไปใช้กับสินค้าอาหารสดอื่นต่อไป.

Source