จะล่มสลายแล้วหรือ ? Forever 21 เตรียมขอล้มละลาย

Vienna, Austria - September 4, 2011: Shopper walks past Forever 21 store on September 4, 2011 in Vienna. Forever 21 fashion label has 480 stores worldwide and had USD 2.6 bn revenue in 2011.

แบรนด์ดังโลกแฟชัน Forever 21 ถูกสื่ออเมริกันรายงานว่ากำลังพิจารณายื่นฟ้องขอประนอมหนี้ตามกฏหมายล้มละลาย เป็นความพยายามในการปรับโครงสร้างหนี้เพื่อให้บริษัทมีสภาพคล่องมากขึ้นท่ามกลางการแข่งขันสุดโหดในวงการธุรกิจเสื้อผ้าแฟชั่น คาดการปรับโครงสร้างจะมีผลกับ Forever 21 ที่มีร้านค้ามากกว่า 815 สาขาทั่วโลก

สำนักข่าว CNBC รายงานข้อมูลจากแหล่งข่าววงใน ว่าก่อนที่ผู้ค้าปลีกเสื้อผ้าแฟชัน Forever 21 จะตัดสินใจยื่นฟ้องล้มละลายต่อศาล บริษัทได้พยายามหาทางเลือกในการปรับโครงสร้างหนี้หลายทาง แต่หลายทางเลือกหยุดชะงักจนไม่อาจปรับโครงสร้างเพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้บริษัทได้ ทำให้มีแนวโน้มสูงที่ Forever 21 จะตัดสินใจเลือกการขอความคุ้มครองจากกฏหมายล้มละลาย

สาเหตุสำคัญที่ทำให้ Forever 21 อยู่ในภาวะวิกฤติ คือการต้องดิ้นรนกับธุรกิจแฟชั่นที่มีการแข่งขันสูง ซึ่งทำให้มีรายงานข่าวก่อนหน้านี้ถึงข่าวลือว่า Forever 21 กำลังไปต่อไม่ไหว อย่างเช่นสำนักข่าว Bloomberg ที่รายงานเรื่องการขอล้มละลายของ Forever 21 เป็นฉบับแรก

ยอดขายหดทำ Forever 21 โคม่า

Forever 21 เป็นแบรนด์ค้าปลีกที่มีปัญหาเหมือนแบรนด์อื่นที่ต้องฝืนทนกับยอดขายที่ลดต่ำลง ความที่ร้านของ Forever 21 ส่วนใหญ่อยู่ในมอลล์หรือห้างสรรพสินค้าซึ่งมีนักช็อปใช้จ่ายเงินน้อยลง ทำให้ Forever 21 ต้องหั่นขนาดร้านให้กระทัดรัดลงกว่าเดิม ขณะเดียวกันก็ต้องลงทุนเทคโนโลยี เพื่อป้องกันตัวเองไม่ให้เจ็บตัวจากการจู่โจมของแบรนด์ใหม่ที่เกิดทางออนไลน์

Forever 21 จึงถูกมองว่าได้รับผลกระทบเรื่องยอดขายลดลงจากแบรนด์ดาวรุ่งในสหรัฐฯอย่าง Lulus ขณะเดียวกันก็มีค่าใช้จ่ายล้นตัวจากฐานที่ตั้งร้าน Forever 21 ที่มีขนาดใหญ่มาก ปัจจุบัน Forever 21 มีร้านค้ามากกว่า 815 แห่งทั่วโลก ซึ่งการขอล้มละลายจะเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ Forever 21 สามารถใช้เพื่อยกเลิกสัญญาเช่าที่ไม่ต้องการได้

Forever 21 ถือเป็นแบรนด์ค้าปลีกรายล่าสุดที่มีแนวโน้มสูงในการเดินบนถนนสายล้มละลาย ก่อนหน้านี้ แบรนด์ค้าปลีกเฟอร์นิเจอร์เช่น Barneys และ Mattress ก็ขอความคุ้มครองเพื่อลดขนาดธุรกิจและปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งสำนักข่าว Business Insider ประเมินว่าในสหรัฐอเมริกา มีธุรกิจค้าปลีกมากกว่า 15 รายที่ยื่นขอล้มละลายในปี 2019 บางรายเป็นแบรนด์ค้าปลีกยา เฟอร์นิเจอร์ หรือเสื้อผ้าเด็ก 

ล้มละลายแล้วไม่ตาย

เช่นเดียวกับทุกบริษัท หาก Forever 21 ล้มละลายจะไม่ได้แปลว่าธุรกิจของบริษัทจะหายตายไป แต่ Forever 21 จะมีร้านค้าที่เล็กลงและน้อยลง แน่นอนว่าอาจมีการปิดตัวบางสาขาจนอาจส่งผลถึงเจ้าของห้างสรรพสินค้าผู้ให้เช่าพื้นที่ รวมถึงกลุ่มอสังหาริมทรัพย์เช่น Simon Property Group และ Brookfield Property Partners

รายงานระบุว่า Forever 21 เป็นผู้เช่ารายใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 7 ของ Simon Property Group ในแง่ของค่าเช่า เบ็ดเสร็จแล้ว Forever 21 เช่าพื้นที่กับ Simon Property Group มากกว่า 99 ร้านสาขา แต่ก่อนหน้านี้ David Simon ซีอีโอ Simon Property Group ส่งสัญญาณกับนักวิเคราะห์เมื่อเดือนกรกฎาคม ว่าจะพิจารณาการลงทุนในร้านค้าปลีกอนาคตดีบางราย เพื่่อช่วยให้ร้านค้าปลีกนั้นสามารถเปิดทำการได้ต่อไป โดยก่อนหน้านี้ Simon ช่วยซื้อกิจการของ Aeropostale ผู้ค้าปลีกเสื้อผ้าวัยรุ่นให้พ้นจากภาวะล้มละลายเมื่อ 3 ปีที่แล้ว

แต่สำหรับ Forever 21 ตัวแทนของ Simon Property Group ยังไม่ออกมาให้ความเห็นใดๆ.