ใครไม่ “Touch” ถอยไป

ยุคนี้ต้อง “Touch” เท่านั้น เมื่อโทรศัพท์มือถือ กล้องดิจิตอล โน้ตบุ๊ก เน็ตบุ๊ก พาเหรดกันออกเครื่องรุ่นใหม่ ใช้ระบบสัมผัสหน้าจอ แค่อาทิตย์เดียวคลอด 3-4 แบรนด์ ทุกค่ายยัน ทัชโตแน่

ปุ่มกดของมือถือ หรือคีย์บอร์ดโน้ตบุ๊กกำลังตกยุค เมื่อผู้ผลิตเครื่องพีซีต่างพากันทยอยเปิดตัวคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ HP Touchsmart PC, Dell Studio One รวมถึงโน้ตบุ๊กเช่น Dell Inspiron, HP Touchsmart tm2 และเน็ตบุ๊ก HP mini5102

ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นระบบTouch ทั้งสิ้น เมื่อผู้ใช้สามารถสั่งงานมากกว่า 2 จุดได้ (Multitouch) ใช้นิ้วเปล่าๆ สัมผัสได้ หรือจะใช้ปากกา Stylus เพื่อวาดสเก็ตช์ลายเส้นก็ได้เช่นกัน

นอกจากจอระบบสัมผัส จุดร่วมที่สินค้าเหล่านี้มีตรงกันก็คือรวมเอาส่วนซีพียูเข้าไว้กับจอ และออกแบบให้มีความบางตอบสนองไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ที่มีชีวิตแบบประหยัดเนื้อที่ทั้งในคอนโดฯ บ้าน และสำนักงาน การใช้จอทัชจึงทำให้สามารถผลิตจอภาพที่แบน ไซส์ที่ใหญ่กว่าคอมพิวเตอร์ทั่วไป เช่น HP Touchsmart PC นั้นจอกว้าง 20 นิ้ว ส่วน Dell Studio จอกว้าง 19 นิ้ว

ส่วนโน้ตบุ๊ก ยังมีคีย์บอร์ดอยู่เหมือนเดิม แต่การมีจอสัมผัส ทำให้เอื้อประโยชน์ต่อการใช้งานหลากหลายยิ่งขึ้นเช่นการสเก็ตช์รูป กราฟิกดีไซเนอร์ไม่ว่าระดับสมัครเล่นหรือระดับอาชีพก็สามารถใช้ปากกาที่ไม่มีหมึกวาดลงบนจอได้เลย ไม่ต้องซื้อกระดานวาดรูปอิเล็กทรอนิกส์เพิ่ม

ความบันเทิงก็เป็นอีกรูปแบบที่คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะและโน้ตบุ๊กระบบทัชใช้ได้ดี เช่นใช้เลือกอัลบั้มเพลงที่จะฟัง เลือกเพลง ด้วยการสัมผัส ลาก เลื่อน ได้ทันที รวมถึงเกมระบบทัชที่เป็นจุดแข็งของไอโฟนก็เริ่มมีการพัฒนามาเพื่อคอมพิวเตอร์ระบบทัชบ้างแล้ว ไลฟ์สไตล์ทั้งหมดนี้ลดบทบาทของเมาส์ลง ส่วนคีย์บอร์ดก็ถูกใช้เมื่อต้องพิมพ์ข้อความเท่านั้น

ความสามารถหลายอย่างของจอทัช ก็ต้องอาศัยซอฟต์แวร์ที่ออกแบบมาเป็นพิเศษ เช่นอัลบั้มรูปที่ใช้มือจับ 2 มุมภาพย่อขยายได้ หรือโปรแกรมฟังเพลงออนไลน์ที่แตะเลื่อนปกอัลบั้มแล้วเลือกเพลงฟัง ไปจนถึงเกมที่ออกแบบมาเพื่อการสัมผัสโดยเฉพาะซึ่งจะให้รสชาติประสบการณ์ใช้งานที่ต่างจากคอมพิวเตอร์เดิมๆ อย่างมาก

Dell ถึงกับใส่ซอฟต์แวร์ Dell Touch Flow ที่จะเปลี่ยนหน้าจอของ Windows ทั้งระบบให้ไอค่อนต่างๆ ใหญ่ขึ้นและเป็นระบบ “Slide” ให้แตะและเลื่อนทั้งหมด ส่วน HP Touch Smart ก็แถมซอฟต์แวร์รุ่นเดียวกัน ทำให้การดูหนังฟังเพลงดูรูปทำด้วยการสัมผัสหน้าจอล้วนๆ บวกกับลูกเล่นเช่น Webcam ที่สามารถจับหน้าผู้ใช้มาผสมกับรูปภาพ เมื่อขยับใบหน้าไม่าว่าจะพูด กะพริบตา หันซ้าย หรือขวา ตัวการ์ตูนในโปรแกรมก็จะทำตามแอพพลิเคชั่นเพิ่มเติมสำหรับทัชสกรีนนั้น

ทั้งสองค่ายต่างก็มีไว้ให้ดาวน์โหลดเพิ่มบนเว็บไซต์ มีทั้งที่พัฒนาโดย HP หรือ Dell เอง และมีทั้งที่พัฒนาโดยนักพัฒนาซอฟต์แวร์อื่นๆ โดยเฉพาะทาง HP นั้นถึงกับมีหน้าจอคล้าย App Store ให้กดดาวน์โหลดผ่านอินเทอร์เน็ตได้ทันทีไม่ต้องเข้าเว็บ

ยอดขายแรง ยูสเซอร์แซงองค์กร

ส่วนพีซี และโน้ตบุ๊กก็ไม่น้อยหน้า ยอดขายทั่วไปโต 5 % ในปีที่แล้ว แต่รุ่นที่ระบบทัชมีตัวเลขเติบโตถึง 18% จึงถูกมองว่าแม้ยอดขายจะยังน้อยกว่าเครื่องที่ใช้จอแบบเดิม แต่ก็มีอนาคตสดใสและเป็นไปได้มากที่จะมาแทนที่จอแบบเดิมในอีกไม่กี่ปีหน้านี้

ผู้บริหารของ Dell ประเทศไทย และHP ประเทศไทยพบตรงกันว่ายอดขายคอมพิวเตอร์จอทัชส่วนใหญ่ในระยะแรกนั้นเป็นตลาดบริษัทองค์กรที่ซื้อเครื่องไปทำ “Kiosk” หรือจุดบริการเคาน์เตอร์สอบถามข้อมูลต่างๆ ให้ผู้คนที่เดินผ่านไปมากดสอบถามข้อมูลได้ง่ายๆ ทันที หรือไปวางไว้ที่เคาน์เตอร์สาขาร้านอาหาร ร้านค้าปลีก ไปถึงธนาคารให้พนักงานกดเรียกดูข้อมูล

ในสหรัฐอเมริกา มีอุปกรณ์คล้ายโน้ตบุ๊กแต่ไม่มีคีย์บอร์ด ใช้ระบบทัชล้วนๆ ซึ่งเรียกว่า Tablet หรือ Slate เริ่มเป็นที่นิยม เช่น HP Slate, Lenovo IdeaPad, Joojoo และที่โด่งดังล่าสุดก็คือ iPad จากแอปเปิล

ไอโฟน ต้นตำรับทัช

iPhone ของค่าย Apple เป็นผู้จุดระเบิดระบบทัช สุนทรพจน์ (Keynote) และพรีเซ็นเตชั่นสุดเร้าใจ เมื่อ 10 มกราคม 2007 ของสตีฟ จ๊อบส์ ซีอีโอ ชี้ให้เห็นว่า การใช้อินเทอร์เน็ตและโปรแกรมต่างๆ บนโทรศัพท์มือถือปุ่มกดนั้นไม่สะดวกอย่างยิ่ง

ปุ่มกดและคีย์บอร์ดที่ให้มากับตัวเครื่องนั้น ได้กลายเป็นข้อจำกัดที่ทำให้ผู้ใช้สับสน ต้องจดจำว่าปุ่มไหนใช้ทำอะไรให้ยุ่งยาก สตีฟ จ็อบส์ ก็โยงเข้าเรื่องเปิดตัวไอโฟน ซึ่งเป็นการเปิดศักราชระบบทัชตั้งแต่นั้นมา

ที่จริงแล้วก่อนหน้าไอโฟนก็มีระบบกึ่งสัมผัสใช้ในมือถือมาก่อนแล้ว บุกเบิกโดย Palm ของบริษัท 3Com ในสมัยนั้น และตามมาด้วย Windows CE และ Windows Mobile ของไมโครซอฟท์ แต่ว่าระบบทั้งหมดนี้ต้องมีปากกา “Stylus” มาช่วย “จิ้ม” หน้าจอ

ในขณะที่ระบบทัชของไอโฟนยังทำได้พร้อมๆ กัน 2 นิ้ว เช่นใช้นิ้วโป้งกับนิ้วชี้ขยายกรอบหน้าต่างได้ จึงเป็นการสร้างมาตรฐานที่เรียกว่า “Multitouch” ขึ้นมา ทำให้ไอโฟนเป็นมือถือที่ผู้ใช้สามารถเล่นเกมหลายแบบ ใช้แอพพลิเคชั่นหลากตัวอย่างง่ายดาย ไม่ต้องจดจำปุ่มที่ต่างๆ กันไปในแต่ละโปรแกรม

นับจากนั้นแบรนด์มือถืออย่างNokia, Samsung, LG ก็จับเอาจอทัชสกรีนมาใส่ในสมาร์ทโฟนกันชุดใหญ่ เช่น Nokia 5800, Samsung Omnia, LG Arena กระทั่งมือถือสมาร์ทโฟนตัวดังล่าสุดอย่าง Google Nexus ก็เป็นระบบทัชสกรีนมัลติทัช แม้แต่แบรนด์มือถือที่เป็นระบบคีย์บอร์ด “QWERTY” มายาวนานอย่าง BlackBerry ก็ยังไม่ยอมตกกระแส โดยออกรุ่น Storm เป็นทัชสกรีนจอใหญ่ออกมาร่วมขบวนด้วย

ล่าสุดผลสำรวจที่ทีมผู้บริหาร LG ประเทศไทย ระบุถึงยอดขายมือถือทัชสกรีนของแอลจีในไทยว่า แซงมือถือปุ่มกดแล้วตั้งแต่กลางปี 2552 มา และทุกๆ แบรนด์ต่างก็เห็นเทรนด์นี้ในตลาดไทย รวมถึง “Local Brand” ที่ต่างก็ออกมือถือทัชสกรีนกันอย่างถ้วนหน้า ไล่ตั้งแต่ Gnet G5, Wellcom Tuxedo และอีกหลายรุ่น

เทรนด์นี้ของ Local Brand ทำให้มือถือทัชสกรีนกลายเป็น “สินค้ามวลชน” จนแบรนด์อินเตอร์อย่าง Samsung ต้องออกทัชโฟนรุ่นราคาถูกมาชนกับมือถือตลาดล่างโลคอลแบรนด์บ้าง เช่น Samsung Candy ที่สร้างสถิติมือถือที่ขายดีที่สุดเป็นประวัติการณ์ในไทยของซัมซุงไปแล้ว

ทิศทางของมือถือแห่งอนาคตโดยภาพรวมแล้วส่วนใหญ่ไปทาง Touch มากกว่า Keyboard ตัวบ่งชี้ที่ชัดเจนก็คือข่าวล่าสุดจากไมโครซอฟท์ ประกาศว่ารุ่นต่อไปของระบบปฏิบัติการ Windows Mobile หรือ Windows Phone 7 จะสนับสนุนแต่มือถือจอสัมผัส Touch Phone เท่านั้น

TOUCH แล้วติดใจ จับใส่ทุกอย่าง

ปรากฏการณ์ “Touch Effect” ได้ลุกลามไปสู่อุปกรณ์แกดเจ็ตอื่นๆ เช่น เครื่องเล่น MP3 โดยผู้จุดกระแสเจ้าเดิมคือ Apple ที่ออก iPod Touch ที่ถอดแบบไอโฟนมาไม่ผิดเพี้ยน เป็นต้นแบบให้แบรนด์คู่แข่งอย่างเช่น iRiver, Cube ต้องมีบ้าง จากนั้นกระแสทัชก็ข้ามอุตสาหกรรมไปสู่กล้องดิจิตอลเช่น Canon IXUS หลายรุ่นที่มากับจอใหญ่กว่ากล้องดิจิตอลทั่วๆ ไปรองรับการทัชได้ไม่แพ้มือถือ

จอทัชสกรีนช่วยให้กล้องดิจิตอลเพิ่มเมนูคำสั่งได้มากขึ้น แต่กลับใช้งานง่ายลงเพราะปุ่มคำสั่งต่างๆ มีขนาดใหญ่ มีชื่อปุ่มและรูปสัญลักษณ์ใหญ่ชัดเจน ลดเวลาเรียนรู้การใช้งานลง ซึ่งคุณลักษณะแบบนี้จะมีประโยชน์กับอุปกรณ์เครื่องไฟฟ้าอื่นๆ ได้อีกแทบทุกประเภทแม้จะเป็นอุปกรณ์ขนาดใหญ่ก็ตาม

แนวโน้มตลาดผู้บริโภคที่ชอบ Touch นั้นเติบโตได้ในทุกอุตสาหกรรม ซึ่งผู้ผลิตคอมพิวเตอร์รายใหญ่ทั้งสองคือ Dell และ HP ก็เผยสำรวจแก่สื่อมวลชนตรงกันว่า ผู้บริโภคที่ซื้อนั้นเป็นกลุ่มคน “Early Adopter” ที่ชอบลองสินค้าเทคโนโลยีก่อนใคร และมีประสบการณ์ใช้งานทัชโฟนแล้วประทับใจจนทำให้เมื่อเลือกซื้อสินค้าประเภทอื่น ก็จะเลือกซื้อที่มีทัชสกรีนด้วยเช่นกัน

เป็นพฤติกรรมผู้บริโภคแบบ “ชอบสัมผัส ขอทัชทุกเครื่อง” ที่นับวันจะมากขึ้นเรื่อยๆนี่เอง เป็นเหตุผลผลักดันให้เกิดกระแสปรากฏการณ์ “Touch Effect” ลุกลามไปหลากหลายประเภทสินค้าขึ้นเรื่อยๆ จากมือถือไปสู่เครื่องเล่นเพลงพกพา กล้องดิจิตอล พีซี และโน้ตบุ๊กอย่างทุกวันนี้

รู้จักกับทัช

คำว่า Touch เมื่อปรากฏในสเปกสินค้าไอที มักจะไม่ได้มีแค่คำเดียวโดดๆ แต่มักถูกเขียนออกมาเป็น 3 คำที่ต้องทำความเข้าใจเสียก่อน

-การทัชที่ต้องใช้เล็บจิกหรือใช้ปากกา Stylus กด เรียกว่า “Resistive Touch”
-การทัชที่ใช้นิ้วที่เป็นผิวหนังได้ เรียกว่า “Capacitive Touch”
-การทัชได้สองนิ้วพร้อมๆ กัน เช่น ย่อขยายกรอบหน้าต่าง เรียกว่า “Multitouch” ซึ่งจะมีในระบบ “Capacitive Touch เท่านั้น”

ยิ่งทัช จอยิ่งใหญ่
จากผลสำรวจของ Nokia ในเว็บไซต์ conversations.nokia.com เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2009 ว่าลูกค้าและผู้ใช้เว็บโนเกียนั้นชื่นชอบและต้องการอะไรจากมือถือรุ่นใหม่มากที่สุด? ผลที่ได้ก็บ่งบอกว่าทำไมมือถือใหม่ๆ ส่วนใหญ่วันนี้จึงเป็นจอทัชกันหมด และแน่นอนว่าผลสำรวจนี้อาจมีประโยชน์กับนักการตลาดของสินค้าอื่นๆ ที่ไม่ใช่มือถือด้วย

-อันดับแรกคือชอบระบบ Touch Screen และส่วนใหญ่ชอบแบบ Capacitive คือไม่ต้องใช้ Stylus, เล็บ
-อันดับต่อมาด้วยคะแนนพอๆ กันคือ หน้าจอที่ใหญ่ เช่น 3 – 4 นิ้ว
-อันดับสามคือเรื่องของหน่วยความจำเก็บเพลง รูป เกม แอพพลิเคชั่น ได้มาก
-และอันดับสี่คือ รูปร่าง และดีไซน์ภายนอกที่สวย

อัตราการเติบโตของทัชโฟนในไทย
ปี สัดส่วนจำนวนเครื่อง สัดส่วนมูลค่าตลาด
2551 1.00% –
2552 10.00% 20.00%
2553 (คาดการณ์) 20.00% 40.00%

ที่มา : บริษัท แอลจี อิเล็คทรอนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด