ตลาด OTT ไทยคาดผู้ใช้บริการแตะ 2 ล้านรายในปี 2023 มูลค่ากว่า 6 พันล้าน

การพัฒนาเทคโนโลยี ทั้งการสื่อสารและอินเทอร์เน็ต บรอดแบนด์มีความรวดเร็ว ส่งผลต่อพฤติกรรมการรับชมทีวีและคอนเทนต์ต่างๆ ไม่ได้ถูกจำกัดช่องทางอยู่แค่ทางโทรทัศน์เท่านั้น โดยบริการ OTT (Over The Top) ผ่านโครงข่ายอินเทอร์เน็ต กลายเป็นทางเลือกที่ได้รับความนิยมทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย

จากรายงานวิเคราะห์ตลาด OTT ของสำนักนโยบายและวิชาการกระจายเสียงและโทรทัศน์ (วส.) สำนักงาน กสทช. และข้อมูลการวิจัยล่าสุดของ Ovum บริษัทจัดเก็บวิเคราะห์ข้อมูลและบริษัทที่ปรึกษาที่มีความเชี่ยวชาญด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีจากประเทศอังกฤษ ได้สำรวจตลาดผู้ใช้บริการ OTT แบบลงทะเบียนเป็นสมาชิกทั่วโลกในทุกปี พบว่า ในปี 2019 ตลาดรวมผู้ลงทะเบียนใช้บริการ OTT ทั่วโลกจะ อยู่ที่ 657 ล้านราย และจะเพิ่มขึ้นไปถึง 968 ล้านรายในปี 2023 โดยเป็นการเติบโตทุกปี

ผู้ชม OTT ไทยแตะ 2 ล้านราย

สำหรับตัวเลขบริการ OTT ของไทยนั้น Ovum คาดการณ์ไว้ว่า ในปี 2019 นี้จะมียอดผู้ใช้บริการอยู่ที่ 1.3 ล้านราย เพิ่มขึ้น 18.80% จากปี 2018 ที่มียอดผู้ชมรวม 1.09 ล้านราย และจะเพิ่มขึ้นเป็น 2.1 ล้านรายในช่วง 5 ปี หรือในปี 2023

ทั้งนี้ ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีผู้ชมในกลุ่มบริการวีดิโอสตรีมมิ่งแบบ SVOD หรือ Subscription Video on Demand บริการรับชมทีวีออนไลน์ย้อนหลังแบบเรียกเก็บค่าสมาชิก ในสัดส่วนที่สูงมาก โดยมีจำนวนผู้เป็นสมาชิกในปี 2019 อยู่ที่ 1.13 ล้านราย และคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.91 ล้านรายในปี 2023

ในขณะที่บริการแบบรับชมสดตามโปรแกรมที่ออกอากาศ SLIN หรือ Subscription Linear มีสัดส่วนไม่มาก โดยปี 2019 มีผู้ใช้บริการแบบรับชมสดอยู่ที่ 170,000 รายเท่านั้น คาดตัวเลขผู้ใช้บริการเพิ่มเป็น 190,000 รายในปี 2023

สำหรับกลุ่มผู้ให้บริการหลักของวีดิโอสตรีมมิ่งแบบ SVOD ในไทยนั้น Netflix เป็นผู้ให้บริการรายใหญ่เช่นเดียวกับในหลายๆ ประเทศ โดยเข้ามาทำตลาดในประเทศไทยด้วยการจับมือกับผู้ผลิตคอนเทนต์รายใหญ่ของ ไทยหลายราย ผลิตซีรีส์ไทยออกอากาศในช่องทาง Netflix เท่านั้น

ขณะที่กลุ่มผู้ให้บริการแบบการรับชมสดในไทยนั้น ได้แก่ ผู้ให้บริการผ่านแอปพลิเคชั่น เช่น AIS Play, LOOX TV และ True ID เป็นต้น

วิดีโอสตรีมมิ่งไทยโตสูง

เมื่อเทียบจำนวนผู้ชม OTT ของตลาดโลก ตลาดเอเชียและโอเชียเนีย และตลาดในประเทศไทยจะเห็นความแตกต่าง เรื่องทิศทางการเติบโตของบริการวีดิโอสตรีมมิ่งแบบ SVOD และบริการแบบรับชมสด โดยที่ในตลาดโลก สัดส่วนของจำนวนผู้ชมในกลุ่มบริการวีดิโอสตรีมมิ่งมีแนวโน้มการเติบโตลดลงต่ำกว่า 10% ตั้งแต่ปี 2021 – 2023

แม้ว่าจะมีจำนวนผู้ชม OTT ในกลุ่มนี้มากกว่ากลุ่มบริการแบบรับชมสดประมาณเกือบเท่าตัวในแต่ละปี แต่อัตราการเติบโตของบริการ แบบรับชมสดในตลาดโลกยังคงเติบโตมากกว่า 10% ในทุกๆ ปี

ในส่วนของตลาดผู้ชม OTT ในเอเชียและโอเชียเนีย มีความแตกต่างจากตลาดโลก โดยที่บริการวีดิโอ สตรีมมิ่งแบบ SVOD เติบโตกว่าบริการรับชมสด แต่เติบโตในสัดส่วนที่ไม่สูงกว่ากันมากนัก

ภาพรวมของตลาดผู้ชม OTT ในเอเชียและโอเชียเนีย ผู้ชมบริการวิดีโอสตรีมมิ่งแบบ SVOD มีสัดส่วนมากกว่า บริการแบบรับชมสด ประมาณ 1 เท่าตัว

ขณะที่ตลาดผู้ชม OTT ของประเทศไทย เติบโตสูงในกลุ่มบริการวิดีโอสตรีมมิ่งแบบ SVOD มากกว่าบริการรับชมสดอย่างชัดเจน โดยในปี 2019 ตลาดบริการกลุ่มนี้เติบโต 21.60% โดยจากยอดจำนวน ผู้ชมที่คาดการณ์ ในปี 2019 พบว่ามีจำานวน 1.13 ล้านราย และจะเพิ่มเป็น 1.30 ล้านรายในปี 2020 ส่วนบริการ แบบรับชมสดมีอัตราการเติบโต ในระดับ 2 – 3% ต่อปีเท่านั้น

ข้อมูลนี้วิเคราะห์ได้ว่าประเภทคอนเทนต์ และความนิยมที่แตกต่างกันในแต่ละภูมิภาคเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเติบโตของแต่ละประเภทบริการ ซึ่งบริการวิดีโอสตรีมมิ่งเป็นการรับชมย้อนหลัง สามารถรับชมได้ตามความต้องการ แต่คอนเทนต์บางประเภท เช่น รายการข่าวหรือการถ่ายทอดสดกีฬารายการสำคัญเป็นกลุ่มคอนเทนต์ การรับชมสดที่ผู้ชมทั่วโลกให้ความสนใจด้วยเช่นกัน

บริการ OTT โกย 6 พันล้าน

รายงานของ PwC คาดการณ์ด้วยว่า บริการ OTT จะเป็นตลาดที่เติบโตเร็วที่สุดของประเทศไทยในอีก 5 ปีข้างหน้า จากความต้องเสพคอนเทนต์แบบ Video on demand ที่ขยายตัวมากขึ้น ส่งผลให้ตลาดนี้คึกคักและเห็นการแข่งขันที่รุนแรง จากผู้ประกอบการต่างประเทศและไทย เช่น Netflix, iflix และ HOOQ

มูลค่าการใช้จ่ายบริการรับชมวิดีโอผ่านอินเทอร์เน็ตในไทยเมื่อปี 2018 อยู่ที่ 2,810 ล้านบาท คาดว่าจะเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่าในปี 2023 เป็น 6,080 ล้านบาท โตเฉลี่ยปีละ 16.64% ขณะที่สื่อทีวีและโฮมวิดีโอ โตเฉลี่ยต่อปีเพียง 4.76% จากมูลค่า 19,700 ล้านบาทในปี 2018 เป็น 24,900 ล้านบาทในปี 2023