ผ่าตัดใหญ่ WeWork! สัญญาณป่วนบอกใบ้ธุรกิจ office-sharing ดิ่งเหวทั่วโลก?

สัปดาห์ที่ผ่านมาถือเป็นช่วงเวลาชุลมุนของ WeWork บริการให้เช่าพื้นที่สำนักงานรายย่อยหรือ office-sharing ชื่อดังที่ใช้เงินกว้านทำสัญญากับอาคารใจกลางเมืองใหญ่ทั่วโลกรวมถึงกรุงเทพฯ วันนี้ WeWork กำลังอยู่ระหว่างการผ่าตัดใหญ่เพื่อแก้ไขปัญหา governance หรือการจัดการทีมบริหารองค์กร ซึ่ง Adam Neumann ผู้ร่วมก่อตั้ง WeWork เพิ่งลาออกจากตำแหน่งเพื่อสางปมถูกวิจารณ์ว่าใช้อิทธิพลนำเพื่อนฝูงครอบครัวมาปักหลักใน WeWork จนซีอีโอคนใหม่เตรียมปลดผู้บริหารเก่าเกือบ 20 คน

การปรับโครงสร้างและแก้ปัญหาใน WeWork นำไปสู่คำถามยิ่งใหญ่ เพราะ IPO ของ WeWork ที่คว้าน้ำเหลวไม่เป็นท่าทำให้กลุ่มนักลงทุนพากันสงสัยในธุรกิจแชร์สำนักงาน ซึ่งที่ผ่านมา WeWork เขย่าโลกธุรกิจแชร์สำนักงานด้วยการจัดสิ่งอำนวยความสะดวก แถมยังสร้างชุมชนสำหรับผู้เช่าซึ่งเป็นสตาร์ทอัปบริษัทรายเล็กที่เพิ่งเริ่มก่อตั้งหรือบุคคลทั่วไป ทำให้นับตั้งแต่ก่อตั้งขึ้นในปี 2010 บริษัทก็ได้ขยายตัวอย่างรวดเร็วจนกลายเป็นหนึ่งในผู้เช่าสำนักงานที่ใหญ่ที่สุดในสถานที่เช่นแมนฮัตตัน และใจกลางกรุงลอนดอน

สิ่งนี้ทำให้ WeWork ต้องการเงินสดหมุนเวียนสูงมาก แต่ความสามารถในการทำกำไรกลับยังไม่ชัดเจน ขณะที่สัญญาเช่าระยะยาวก็อาจกัดกร่อน WeWork ได้มากขึ้นในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ทำให้นักวิเคราะห์ฟันธงว่าโมเดลธุรกิจแชร์สำนักงานกำลังมีความเสี่ยงสูงเป็นพิเศษ ในนาทีนี้

ฟอกเลือด WeWork

WeWork วันนี้ยังอยู่ในกระบวนการฟอกเลือด เห็นได้ชัดจากนโยบายของ Artie Minson และ Sebastian Gunningham ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วมคนใหม่ 2 รายที่ถูกสื่อรายงานว่าจะเร่งมือถอดทีมบริหารเดิมที่มีสายสัมพันธ์กับอดีต CEO ร่วมอย่าง Adam Neumann ให้เกลี้ยง คาดว่าจำนวนผู้บริหารกลุ่มนี้จะมีมากเกิน 20 ราย

รายงานจาก The Wall Street Journal ย้ำว่านอกจากประธานอาวุโสอย่าง Michael Gross และประธานฝ่ายผลิตภัณฑ์อย่าง Chris Hill รวมถึงพนักงานกว่า 10 รายที่เคยทำงานแบบรายงานตรงถึง Neumann ทีม Co-CEO รายใหม่ยังจะลอยแพพนักงานหลายพันราย ขณะเดียวกันก็จะขายทิ้งธุรกิจบางส่วนของ WeWork โดยคัดทิ้งเฉพาะธุรกิจที่นอกเหนือจากธุรกิจหลักในตลาดอสังหาฯ

WeWork’s new co-CEOS, Artie Minson, left, and Sebastian Gunningham, are reportedly moving quickly to overhaul its management. Photo : businessinsider

2 Co-CEO ใหม่อย่าง Minson และ Gunningham นั้นเข้ามารับคำแหน่งต่อจาก Neumann ในช่วงสัปดาห์นี้ หลังจากที่ WeWork ไม่สามารถเสนอขายหุ้น IPO (initial public offering) ได้ตามที่นักลงทุนหวังไว้ โดย 2 Co-CEO รายใหม่ถูกแต่งตั้งจาก Softbank ซึ่งลงทุนใน WeWork มากกว่า 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ

ประเด็นนี้มีการวิจารณ์ว่า WeWork นั้นกำลังมีชะตากรรมเดียวกับ Uber ซึ่งผู้ก่อตั้งจำเป็นต้องกระเด็นจากเก้าอี้ CEO และหลุดจากวงโคจรของบริษัทเพราะมีปัญหา governance จนต้องให้ยาแรงปรับโครงสร้างใหญ่กว่าจะขาย IPO ได้ในที่สุด กรณีของ Softbank มีรายงานว่าหัวเรือใหญ่อย่าง Masayoshi Son เคยเรียก WeWork ว่าเป็น “Alibaba รายถัดไปของตัวเขาเอง เพราะก่อนหน้านี้ Masayoshi Son ลงทุนให้ Alibaba ราว 20 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่ได้รับกลับมา 5 หมื่นล้านเหรียญเมื่อ Alibaba เข้าตลาดและขาย IPO ได้สำเร็จ

ยังไม่กำไร

บริษัทดาวรุ่งอย่าง WeWork ยังคงยืนยันกำหนดการขาย IPO ที่ปลายปีนี้ มูลค่าตลาดที่ประเมินล่าสุดคือ 47,000 ล้านเหรียญสหรัฐ อย่างไรก็ตาม นักการเงินกำลังจับตากรณีของ WeWork อย่างใกล้ชิดเพราะ WeWork ยังไม่มีแผนทำกำไรที่ชัดเจนในขณะนี้ โดย 80 – 85% ของยอดรายรับยังต้องขึ้นอยู่กับสิ่งที่คาดคิดกันว่า WeWork จะสามารถทำได้ในอนาคต

ที่ผ่านมา WeWork พยายามวางตัวเป็นคู่แข่งกับ IWG Plc ซึ่งเป็นผู้ให้บริการสำนักงานใหญ่ที่สุดในโลก IWG ก่อตั้งขึ้นเมื่อ 30 ปีที่แล้วพร้อมกับการก่อตั้งแบรนด์ Regus แต่จุดต่างของ IWG คือการลดความเสี่ยง เพราะ WeWork เน้นเซ็นสัญญาเช่าระยะยาวกับเจ้าของที่ดิน ก่อนจะลงมือก่อสร้างพื้นที่เพื่อให้เช่าแบบดูดีที่สุด แต่ IWG และคู่แข่งรายอื่นใช้รูปแบบแฟรนไชส์ ที่ใช้ทุนน้อยกว่า ขณะที่บางรายเน้นการให้เช่าพื้นที่สำหรับผู้เช่าองค์กรขนาดใหญ่เท่านั้น

ปัจจุบัน WeWork ดำเนินงานใน 111 เมืองทั่วโลก มีสมาชิกมากกว่า 525,000 คน ท่ามกลางพนักงานมากกว่า 12,000 คน โดย WeWork ทำสถิติเป็นผู้เช่าสำนักงานเอกชนที่ใหญ่ที่สุดในแมนฮัตตัน และเป็นผู้เช่ารายใหญ่อันดับ 2 ในลอนดอน (รองจากรัฐบาลอังกฤษ) นอกจากนี้ยังเป็นผู้เช่ารายใหญ่อันดับ 4 ในซานฟรานซิสโก ซึ่งภายในเวลา 1 ปีที่เข้าสู่ตลาดญี่ปุ่น WeWork ได้เปิดสำนักงาน 11 แห่งทั่วประเทศ และวางเป้าหมายเพิ่มสำนักงานเป็น 3 เท่าในปลายปี 2562.