KTBST ฝ่ามรสุม กำไรหดจากปีก่อนกว่าครึ่ง ปี’63 ลุยตั้งบริษัท “คลินิกแก้หนี้-ดิจิทัล เพย์เมนต์”

  • KTBST กางผลประกอบการปี 2562 รายได้ลด 7.5% กำไรฮวบ 52.5% หลังผ่านมรสุมวงการโบรกเกอร์หุ้นในช่วงปีนี้
  • อย่างไรก็ตาม หากวัดเฉพาะไลน์ธุรกิจโบรกเกอร์ กำไรจะลด 36.4% ซึ่งบริษัทมองว่าดีกว่าสถานการณ์ตลาดรวมที่ติดลบเฉลี่ย 50%
  • ตั้งโฮลดิ้งลุยต่อปีหน้า เปิดกองรีท 2 กองแรก และเพิ่ม 2 บริษัทใหม่พัฒนาด้าน “คลินิกแก้หนี้” และ “ดิจิทัล เพย์เมนต์”
  • ปี 2563 KTBST วางเป้ารายได้ 1,400 ล้านบาท กำไรสุทธิ 101.55 ล้านบาท

“ดร.วิน อุดมรัชตวานิชย์” ประธานกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์ เคทีบี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ KTBST SEC บริษัทร่วมทุนระหว่างเกาหลีใต้กับไทย เปิดเผยผลการดำเนินงานในช่วงปี 2562 ของบริษัท โดยปีนี้บริษัทมีการจัดโครงสร้างองค์กร รวมเป็น “กลุ่มบริษัท KTBST” ขึ้น มีบริษัทภายใต้กลุ่มประกอบด้วย KTBST SEC, บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน วี จำกัด (We Asset) และ บริษัท เคทีบีเอสที รีท แมเนจเมนท์ (KTBST REIT)

กลุ่มบริษัท KTBST ทำรายได้ปี 2562 (ข้อมูลสิ้นสุดวันที่ 29 พฤศจิกายน 2562) รวมทั้งสิ้น 1,104 ล้านบาท เทียบกับรายได้ตลอดปี 2561 ลดลง 7.5% และทำกำไรสุทธิรวมทั้งสิ้น 29.61 ล้านบาท เทียบกับกำไรสุทธิตลอดปีก่อน ลดลงถึง 52.5%

ดร.วินกล่าวว่า สถานการณ์วงการสถาบันการเงินนายหน้าซื้อขายหุ้นปีนี้ขาดทุนหลายแห่ง ภาพรวมตลาดทำกำไรลดลง 50% เป็นส่วนใหญ่ ส่วนของ KTBST หากดูเฉพาะธุรกิจบริการซื้อขายหลักทรัพย์ ณ วันที่ 29 พฤศจิกายน 2562 รายได้อยู่ที่ 1,092 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 44.29 ล้านบาทซึ่งลดลง 36.4% เทียบกับกำไรตลอดปี 2561

“เรายังพอใจที่กำไรไม่ลดเท่ากับทั้งอุตสาหกรรม และยังคงมีความสามารถในการทำกำไรได้สม่ำเสมอตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ในสภาพตลาดที่มีการแข่งขันสูง” ดร.วินกล่าว

ในแง่จำนวนบัญชีและสินทรัพย์การบริหารนั้นมีทั้งที่ถึงเป้าและตกเป้า โดยธุรกิจตัวแทนซื้อขายหน่วยลงทุน (Selling Agent) มีสินทรัพย์ภายใต้คำแนะนำ (AUA) ที่ 10,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 43% ตามเป้าหมาย จำนวนบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ที่ซื้อขายประจำเป็นไปตามเป้าที่ 8,000 บัญชี เพิ่มขึ้นมา 2,000 บัญชีจากปีก่อน

ส่วนที่ตกเป้าไปคือธุรกิจบริหารความมั่งคั่งส่วนบุคคล (Private Wealth Management) และธุรกิจที่ปรึกษาการลงทุน (Investment Advisory) ซึ่งมี AUA รวม 80,000 ล้านบาท ลดลงจาก AUA ของปีก่อน 20% ขณะที่ธุรกิจกองทุนส่วนบุคคลมีสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการ (AUM) ที่ 2,500 ล้านบาท เติบโตขึ้นราว 9% จากปีก่อน ยังอยู่ในเทรนด์เติบโตแต่ไม่มากเท่าที่ KTBST เคยตั้งเป้าหมายไว้ปีก่อน

สำหรับภาพรวมกลุ่มบริษัท KTBST ปีนี้กำไรหดตัวแรง นอกจากเรื่องมรสุมวงการโบรกเกอร์หุ้นแล้ว ยังเนื่องมาจากมีการตั้งบริษัทใหม่ 2 แห่ง และทั้งสองบริษัทเพิ่งเริ่มดำเนินการปีนี้ ได้แก่ KTBST REIT ที่เริ่มดำเนินการมกราคม 2562 และ We Asset เริ่มดำเนินการมีนาคม 2562 ทำให้ยังไม่เข้าสู่ช่วงการทำกำไร

หลังจัดตั้งบริษัทจนถึงขณะนี้ We Asset ซึ่งมุ่งเน้นเสนอผลิตภัณฑ์กองทุนรวมให้กับตลาดจัดตั้งกองทุนรวมไปแล้ว 12 กองทุน รวมมูลค่า AUM ที่ 5,000 ล้านบาท ส่วน KTBST REIT อยู่ระหว่างจัดตั้งกองรีท ซึ่ง ดร.วินคาดว่าจะจัดตั้งได้ 2 กองทุน รวมมูลค่า AUM 5,000 ล้านบาท ภายในช่วงไตรมาส 1 ปี 2563

 

ปี’63 กระจายเสี่ยงต่อ เปิดบริษัทลูกเพิ่ม 2 แห่ง

ดร.วินมองว่า ช่วงที่ผ่านมาบริษัทได้กระจายความเสี่ยง เพิ่มเครื่องยนต์สร้างรายได้ไปยังธุรกิจอื่นนอกเหนือจากหุ้นแล้ว แต่แผนปี 2563 ของ KTBST จะยังกระจายความเสี่ยงต่อ โดยเตรียมจัดตั้งบริษัทลูกอีก 2 แห่ง คือ KTBST LEND และ We Digital

KTBST LEND นั้นคาดว่าจะจัดตั้งก่อนในเดือนมกราคมนี้ ดร.วินกล่าวถึงคอนเซ็ปต์ของบริษัทนี้ว่าจะเป็นธุรกิจกึ่งโครงการตอบแทนสังคมในลักษณะ “คลินิกแก้หนี้” เป็นตัวกลางประสานให้ลูกหนี้สามารถปิดหนี้ได้สำเร็จ และให้คำปรึกษาเพื่อปรับพฤติกรรมการใช้เงินและออมเงิน ด้านบริษัท We Digital จะเป็นบริษัทร่วมทุนกับบริษัทเกาหลีใต้แห่งหนึ่งเพื่อจัดทำบริการดิจิทัล เพย์เมนต์

“เป้าหมายคือเราจะเป็นผู้ให้บริการด้านการเงินที่ใหญ่ที่สุดภายในปี 2565” ดร.วินกล่าว

ด้านเป้าหมายระยะใกล้คือปี 2563 นั้น กลุ่มบริษัท KTBST วางเป้าหมายรายได้ที่ 1,400 ล้านบาท เติบโต 26% จากปีนี้ และเป้าหมายกำไรสุทธิ 101.55 ล้านบาท นั่นคือจะเติบโตก้าวกระโดด 243% มาจากกำไรธุรกิจนายหน้าซื้อขายหุ้นที่เชื่อว่าจะกลับมาฟื้นตัว และธุรกิจ We Asset กับ KTBST REIT จะเริ่มเห็นผลกำไรในปีหน้า