ปลอดภัยไว้ก่อน! ลลิลโชว์ผลงานรายได้ปี’62 โต 13% เหนือตลาดด้วยกลยุทธ์ระวังตัวสูง

  • ผลดำเนินงานลลิลปี 2562 รายได้เติบโต 13% สวนทางตลาดอสังหาฯ ชะลอตัว
  • ผลจากการดำเนินกลยุทธ์ระวังตัว เน้นแนวราบ งดพัฒนาคอนโดฯ ซึ่งจะยังทำต่อเนื่องในปีนี้จากสภาพเศรษฐกิจไทยที่ยังไม่ฟื้นมากนัก
  • ปี 2563 เชื่อตลาดอสังหาฯ แนวราบโตเล็กน้อย 2-4% กำลังซื้อยังเป็นปัญหาเนื่องจากหนี้ครัวเรือนสูง
  • ลลิลวางแผนการเติบโตอีก 13% ในปีนี้ เป้ายอดขาย 6,200 ล้านบาท เป้ารับรู้รายได้ 5,250 ล้านบาท

“ไชยยันต์ ชาครกุล” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) แถลงผลการดำเนินงานของบริษัทปี 2562 สร้างยอดขายรวม 5,500 ล้านบาท และยอดรับรู้รายได้ 4,640 ล้านบาท ซึ่งเติบโตขึ้น 13.2% จากปีก่อนหน้า เทียบกับตลาดอสังหาริมทรัพย์โดยรวมหรือบริษัทอสังหาฯ ในตลาดหุ้นอื่นๆ ถือเป็นการเติบโตที่สวนทางกับภาคธุรกิจนี้

ลลิล พร็อพเพอร์ตี้เป็นบริษัทอสังหาฯ ขนาดกลางและอยู่ในตลาดมานาน โครงการส่วนใหญ่เป็นโครงการแนวราบภายใต้แบรนด์ เช่น แลนซิโอ ไลโอ บริษัทเคยมีการพัฒนาคอนโดมิเนียมอยู่บ้างแต่ไม่มีการเปิดตัวคอนโดฯ ใหม่มาแล้ว 2 ปี เนื่องจากลลิลเห็นว่าตลาดคอนโดฯ มีความเสี่ยงสูงจากดีมานด์ของนักเก็งกำไรที่บิดเบือนตลาด

“ผมคิดว่า 2 ปีก่อน บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ บางส่วนเปิดคอนโดฯ จำนวนมากกว่าที่ตลาดรับได้ไปมาก เมื่อถึงปี 2562 จึงเหลือบริษัทไม่มากที่ยังบุ่มบ่ามเปิดคอนโดฯ เพิ่มอีก ส่วนใหญ่มีการลดจำนวนโครงการลง” ไชยยันต์กล่าว

ไชยยันต์มองว่า ลลิลสามารถรักษาการเติบโตได้จาก แผนระวังตัว ไม่พัฒนาโครงการแนวสูง และเน้นโครงการแนวราบราคา 2-6 ล้านบาท ซึ่งเจาะกลุ่มลูกค้าอาศัยอยู่จริง เป็นกลุ่มคนวัยหนุ่มสาวที่ทำงานมาแล้ว 5-8 ปี อยู่ในช่วงแต่งงานใหม่ทำให้มีความจำเป็นต้องซื้อบ้านเพื่อแยกครอบครัว สินค้าทาวน์เฮาส์ บ้านแฝด บ้านเดี่ยว จึงเหมาะสมกว่าห้องชุดคอนโดฯ เพราะมีพื้นที่กว้างขวาง

โครงการไลโอ บลิซ รังสิต-คลอง 4

กลยุทธ์ดังกล่าวจะยังทำต่อเนื่องในแผนงานของลลิลปี 2563 โดยเตรียมเปิดตัวโครงการใหม่ 9-11 โครงการ มูลค่ารวม 5,000-5,500 ล้านบาท ในกลุ่มราคา 2-6 ล้านบาทเป็นหลัก เน้นทำเลกรุงเทพฯ-ปริมณฑล 80-90% และต่างจังหวัด 10-20% วางเป้ายอดขาย 6,200 ล้านบาท และเป้ารับรู้รายได้ 5,250 ล้านบาท เติบโต 13% จากปีก่อนหน้า

“สต็อกบ้านสร้างเสร็จพร้อมอยู่ เรายังคงมีนโยบายสร้างไว้เผื่อขายไม่เกิน 1 เดือนครึ่ง เพราะเราเผื่อทางถอยเสมอ” ไชยยันต์กล่าวถึงกลยุทธ์การทำงานแบบระมัดระวัง “เฉลี่ยแล้วเราจะทยอยเปิดโครงการใหม่เดือนละ 1 โครงการ และคอยจับตามองทุกปัจจัยลบ เช่น การเมืองไทย สงครามตะวันออกกลาง มีการทบทวนแผนใหม่ทุก 3 เดือน หากเกิดสัญญาณลบ เราพร้อมจะหยุดสร้างบ้านในโครงการเพิ่มเพื่อไม่ให้เงินจม”

ลลิลมองว่าสภาพเศรษฐกิจไทยปีนี้จะทรงตัว จีดีพีเติบโตในกรอบ 2.7-3.2% ดีขึ้นจากปีก่อนไม่มาก และตลาดอสังหาฯ เฉพาะกลุ่มสินค้าแนวราบน่าจะดีขึ้นเล็กน้อย เติบโต 2-4% จากปีก่อนเติบโตไม่ถึง 1% ส่วนตลาดสินค้าแนวสูงซึ่งลลิลไม่ได้พัฒนา ขออ้างอิงข้อมูลจาก CBRE เชื่อว่าปีนี้ซัพพลายใหม่จะลดลงถึง 20%

ด้าน “ชูรัชฏ์ ชาครกุล” กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ บมจ.ลลิลฯ กล่าวถึงงานด้านการตลาดว่า บริษัทต้องการจะขึ้นเป็นแบรนด์ Top 3 เมื่อลูกค้าคิดถึงโครงการแนวราบระดับราคา 2-6 ล้านบาท เทียบกับขณะนี้บริษัทอยู่ในอันดับ 5 โดดเด่นที่สุดในแง่ความคุ้มค่าของราคา ปีนี้จะใช้ Lifestyle Marketing เป็นแกนในการสร้างแบรนด์มากขึ้น

ส่วนโจทย์หินที่แก้ยาก คือเรื่องของ กำลังซื้อลูกค้า เพราะตั้งแต่ปีก่อนที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีนโยบายให้แบงก์เข้มงวดการให้กู้สินเชื่อบ้าน ขณะเดียวกันลูกค้ามีหนี้ครัวเรือนสูงขึ้น ทำให้อัตราส่วนลูกค้าที่กู้ไม่ผ่าน (reject rate) ของลลิลเพิ่มขึ้นเป็น 20-25% จากปีก่อนหน้าอยู่ที่ 18-19%

แม้ว่าบริษัทจะฝึกอบรมเซลส์ขายโครงการให้ช่วยแนะนำการเดินบัญชีการเงินก่อนยื่นกู้แล้วก็ตาม แต่ถ้าหากตัวลูกค้าเองมีหนี้สูงก็ไม่อาจกู้ผ่านได้ จึงกลายเป็นงานหนักของบริษัทที่ต้องสร้างสรรค์ยอดพรีเซลมาตุนไว้ในมือให้ได้มากที่สุด