อ่าน 8 ข้อทำความเข้าใจธุรกิจ “เซ็นทรัล รีเทล” ก่อนตัดสินใจซื้อหุ้น CRC

วันนี้ บมจ.เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น (CRC) เคาะราคาเปิดขายหุ้น IPO ออกมาแล้วที่ 40-43 บาทต่อหุ้น โดยจะเสนอขายจำนวนไม่เกิน 1,860.1 ล้านหุ้น คิดเป็นมูลค่าเสนอขายรวมประมาณ 7.4-8.0 หมื่นล้านบาทซึ่งเป็นหุ้น IPO ที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ตลาดหุ้นไทย

ชื่อ “เซ็นทรัล” นั้นไม่มีใครไม่รู้จักเนื่องจากเป็นผู้เล่นใหญ่ของตลาดค้าปลีกบ้านเรา และสำหรับกลุ่มธุรกิจของ “เซ็นทรัล รีเทล” ยังสยายปีกการลงทุนไปในต่างประเทศ เช่น เวียดนาม อิตาลี ด้วย แต่การเสนอขายครั้งนี้เกิดขึ้นท่ามกลางกระแสดิสรัปชันในตลาดรีเทล ทำให้ผู้ลงทุนควรชั่งน้ำหนักความน่าลงทุน

Positioning ขอสรุปพื้นฐานธุรกิจ แผนการเติบโต และหุ้น IPO จากการแถลงของ “ญนน์ โภคทรัพย์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น เป็นเบื้องต้นไว้ที่นี่

 

1.CRC รวมเฉพาะส่วน “รีเทล” แตกต่างจาก CPN

ในเครือเซ็นทรัลนั้นมีธุรกิจหลากหลายมากๆ การนำเซ็นทรัล รีเทลเข้าตลาดในครั้งนี้เป็นการรวมเฉพาะธุรกิจ “ค้าปลีก” ของบริษัท เช่น ห้างที่เป็นดีพาร์ตเมนต์สโตร์อย่างเซ็นทรัลชิดลมและโรบินสัน พื้นที่ดีพาร์ตเมนต์สโตร์ที่อยู่ในเซ็นทรัล พลาซ่า สาขาต่างๆ รวมไปถึงแบรนด์ร้านค้าอย่าง Power Buy, Supersports, ไทวัสดุ, Tops, Family Mart, บิ๊กซี/Go! ในเวียดนาม ฯลฯ

ดังนั้น จะไม่รวมธุรกิจที่รูปแบบเป็นการให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งธุรกิจส่วนนี้อยู่ในมือ บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา (CPN) ผู้ลงทุนพัฒนาตัวอาคารและปล่อยเช่าให้กับร้านค้าย่อยต่างๆ รวมไปถึงการลงทุนออฟฟิศบิลดิ้งและที่อยู่อาศัย

 

2.ธุรกิจชูโรง: อาหาร วัสดุก่อสร้าง เครื่องใช้ไฟฟ้า

สรุป CRC จะดึงธุรกิจใดมาเสนอขายนักลงทุนบ้าง? ดูได้จากภาพรวมแบรนด์ด้านบนทั้งหมด 18 แบรนด์

แบรนด์เหล่านี้กระจายเปิดธุรกิจอยู่ใน 3 ประเทศ คือ ไทย เวียดนาม และอิตาลี จำนวนรวมกว่า 2 พันสาขา และหากแยกเป็นกลุ่มๆ ตามประเภทธุรกิจจะประกอบด้วย

1.กลุ่มอาหาร (Food) เช่น Tops, Family Mart, บิ๊กซี/Go! ในเวียดนาม มีสัดส่วนในรายได้รวม 42%
2.กลุ่มแฟชั่น (Fashion) ได้แก่ ห้างเซ็นทรัล, โรบินสัน, Supersports, CMG (นำเข้าสินค้าแฟชั่น), ห้างลา รีนาเชนเต้ ในอิตาลี มีสัดส่วนในรายได้รวม 32%
3.กลุ่มสินค้าเฉพาะ (Hardline) เช่น ไทวัสดุ, Power Buy, Nguyen Kim (ร้านเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เวียดนาม) มีสัดส่วนในรายได้รวม 25%

แต่ถ้าหากดูการเติบโตของแต่ละกลุ่ม ที่เติบโตได้ดีในระยะหลังคือกลุ่มอาหาร และกลุ่มสินค้าเฉพาะที่มาแรงมาก เติบโตแบบดับเบิ้ลดิจิตช่วง 9 เดือนแรกปี 2562 ส่วนกลุ่มแฟชั่นนั้นโตต่ำเพียง 1-2%

 

3.แบรนด์ห้าง/ร้านค้าใน CRC โดยมากเป็นผู้นำตลาดขณะนี้

แต่ละแบรนด์ของเซ็นทรัล รีเทลมีส่วนแบ่งการตลาดแตกต่างกัน (ดูภาพด้านบน) แต่จะมีแบรนด์ที่มีส่วนแบ่งตลาดอันดับ 1 อยู่ เช่น ห้างเซ็นทรัลในหมวดห้างดีพาร์ตเมนต์สโตร์ของประเทศไทย (โดยมีโรบินสันเป็นอันดับ 2) ห้างลา รีนาเชนเต้ ในตลาดห้างระดับลักชัวรีของอิตาลี Supersports ในหมวดร้านขายเครื่องกีฬาไทย Power Buy ในหมวดร้านขายเครื่องใช้ไฟฟ้าไทย Tops ในหมวดซูเปอร์มาร์เก็ตไทย บิ๊กซี/Go! ในหมวดไฮเปอร์มาร์เก็ตประเทศเวียดนาม

 

4.ปี’62 รายได้โต 4.1% กำไรโต 3.8% แปรผันตามเศรษฐกิจ

สรุปรวมรายได้เซ็นทรัล รีเทล ปี 2561 อยู่ที่ 2.07 แสนล้านบาท มีการเติบโตช่วงปี 2559-61 เฉลี่ย 8.3% ต่อปี กำไรสุทธิ ปี 2561 อยู่ที่ 8.6 พันล้านบาท เติบโตช่วงปี 2559-61 เฉลี่ย 9.7% ต่อปี

อย่างไรก็ตาม ช่วง 9 เดือนแรกของปี 2562 CRC มีรายได้รวม 1.6 แสนล้านบาท เติบโต 4.1% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน และกำไรสุทธิอยู่ที่ 6.07 พันล้านบาท เติบโต 3.8% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน จะเห็นได้ว่าอัตราการเติบโตลดลงไป

ปัจจุบันสัดส่วนรายได้หากแบ่งตามประเทศ ส่วนใหญ่ยังมาจากไทยเกือบ 75% รองลงมาเป็นเวียดนามประมาณ 18% ส่วนที่เหลือราว 7% เป็นรายได้จากอิตาลี

ญนน์กล่าวภาพกว้างไว้ว่า ธุรกิจของเซ็นทรัล รีเทลนั้นมักจะเป็นไปตามสภาพเศรษฐกิจ โดยทั่วไปจะเติบโต 1.5-2 เท่าของอัตราการเติบโตจีดีพีประเทศ

 

5.ระดมทุนเปิดเพิ่มปีละ 180 สาขา ล็อกเป้า “เวียดนาม” โอกาสโตสูง

การระดมทุนครั้งนี้บริษัทระบุว่าจะนำไปใช้เพื่อลงทุนเปิดสาขาใหม่และรีโนเวตสาขาเดิม โดย บล.ภัทร ที่ปรึกษาการเสนอขายหุ้น IPO ของเซ็นทรัล รีเทลให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า จากการระดมทุนจะทำให้มีเงินสดเข้ามาในบริษัท 2.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งปกติแล้วเซ็นทรัล รีเทลมีการลงทุนปีละประมาณ 1 หมื่นล้านบาท เท่านั้น และสามารถลงทุนเองได้ โดยมีอัตราหนี้สินต่อทุน (D/E Ratio) เพียง 0.7 แต่การระดมทุนจะทำให้บริษัทมีความพร้อมเมื่อ “โอกาส” ปิดดีลที่น่าสนใจมีเข้ามา

ด้าน ญนน์ บอกว่าปีนี้บริษัทมีแผนขยายสาขาห้างฯ และร้านค้าอีก 180 สาขาในไทย และห้างฯ Go! อีก 7 สาขาที่เวียดนาม

บนเวทีแถลงข่าวญนน์ยังให้ความสนใจกับตลาดเวียดนามเป็นพิเศษ โดยปัจจุบันห้างร้านของ CRC ในเวียดนาม ได้แก่ บิ๊กซี/Go!, Nguyen Kim และ Lanchi Mart (มินิสโตร์) มีทั้งหมด 133 สาขา ซึ่งบริษัทตั้งเป้าจะขยายเป็นเท่าตัว และญนน์ยังระบุว่าโอกาสตลาดของเวียดนามมีสูงมาก มีพื้นที่สำหรับทำรีเทลได้ถึง 800-1,000 สาขาทั่วประเทศ

 

6.ไม่กลัวดิสรัป เตรียม Omnichannel ไว้รองรับแล้ว

กลับมาที่ปัจจัยเสี่ยงสำคัญของธุรกิจค้าปลีกดั้งเดิมนั่นคือ “อี-คอมเมิร์ซ” เซ็นทรัล รีเทลเสนอแผนธุรกิจว่าบริษัทได้เตรียมทางหนีทีไล่ไว้แล้ว โดยมีทั้งแพลตฟอร์ม Central.co.th ขายสินค้าจากห้างเซ็นทรัล มีแพลตฟอร์มร่วมทุน JDCentral และ Tops ก็มีระบบสั่งซื้อออนไลน์แล้ว

(photo: CRC)

ญนน์ยังไฮไลต์จุดเด่นของการที่ “ห้าง” มาทำ “อี-คอมเมิร์ซ” คือสามารถสร้างระบบการขายแบบ Omnichannel ได้ง่ายเพราะมีตัวห้างเป็นจุดมาเลือกชมและรับสินค้าอยู่แล้ว ยกตัวอย่าง Tops นั้นมีลูกค้าเลือกวิธีรับสินค้าเองที่ซูเปอร์มาร์เก็ตเป็นจำนวนมาก รวมถึงอ้างอิงเทรนด์ในต่างประเทศ เช่น ห้างดั้งเดิมอย่าง Walmart สามารถปรับตัวจากการใช้ Omnichannel เอาชนะ Amazon ได้ ทำให้ CRC มีความมั่นใจว่าจะไม่ถูกดิสรัปในตลาด

 

7.เคาะราคาหุ้น IPO ที่ 40-43 บาท เตรียมขึ้นเป็น SET50

มาว่ากันที่การเปิดราคาซื้อขายหุ้น IPO ของ CRC เคาะราคามาที่ 40-43 บาทต่อหุ้น และจะเปิดขาย 1,860.1 ล้านหุ้น คิดเป็นมูลค่าเสนอขายรวมประมาณ 7.4-8.0 หมื่นล้านบาท ซึ่งเซ็นทรัล รีเทลระบุว่า เป็นหุ้น IPO ที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และมาร์เก็ตแคปจะใหญ่เป็นอันดับ 15 ของตลาด ทำให้จะถูกจัดเข้าไปอยู่ในกลุ่ม SET50 อัตโนมัติ

“ญนน์ โภคทรัพย์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เซ็นทรัล รีเทล

สำหรับการซื้อขายหุ้น IPO ของ CRC มีขั้นตอนพิเศษตรงที่จะนำ บมจ.โรบินสัน (ROBINS) เข้ามารวมใน CRC ด้วย ทำให้มีการทำ Tender Offer แลกหุ้น ให้ผู้ถือหุ้น ROBINS เข้ามาถือหุ้นใน CRC ได้ ปัจจุบันเมื่อเคาะราคาหุ้น CRC แล้ว จึงจะมีการเสนอแลกหุ้นของสองบริษัทในอัตราส่วนหุ้นสามัญเพิ่มทุน CRC 1.55-1.66 หุ้น ต่อ 1 หุ้นสามัญเดิมของ ROBINS

ผู้ที่สนใจจองซื้อสามารถจองได้ 4 วัน ระหว่างวันที่ 29-31 ม.ค. 63 และ 3 ก.พ. 63 ส่วนผู้ที่ต้องการแลกหุ้น ROBINS สิ้นสุดการยื่นตอบรับคำเสนอซื้อภายใน 3 ก.พ. 63 แต่หุ้น ROBINS จะเทรดได้ต่อเนื่องจนถึง 1 วันก่อนที่หุ้น CRC จะเข้าสู่ตลาด

หลังจากนั้นวันที่ 5 ก.พ. 63 จะระบุราคา IPO ที่ชัดเจน และคาดว่าภายในสองสัปดาห์ หรือประมาณวันที่ 20 ก.พ. 63 หุ้น CRC จะเข้าเทรดในตลาดวันแรก

 

8. P/E 30-32 เท่า “เอเซีย พลัส” ประเมินราคาเหมาะสม

สรุปว่าควรซื้อหรือไม่ควรซื้อหุ้น CRC เราสอบถามไปที่ “สุวัฒน์ วัฒนพรพรหม” ผู้ช่วยผู้อำนวยการสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส ประมาณการณ์กำไรสุทธิ 8 พันล้านบาทของเซ็นทรัล รีเทล เมื่อคำนวณออกมาจากราคา 40-43 บาท จะได้ค่า P/E 30-32 เท่า ซึ่งอยู่ในช่วงบนของกลุ่มหุ้นค้าปลีก ถือเป็นราคาที่ “สมเหตุสมผล” ไม่ตั้งราคาสูงเกินไป และมองว่าหากนักลงทุนสนใจซื้อเชื่อว่าราคาเทรดวันแรกไม่น่าจะต่ำกว่าราคาจองซื้อ

ส่วนการประเมินพื้นฐานบริษัทเซ็นทรัล รีเทล สุวัฒน์มองว่ามีพื้นฐานที่ดี โดยเฉพาะธุรกิจประเภทไฮเปอร์มาร์เก็ตในเวียดนาม และกลุ่มร้านค้าสินค้าเฉพาะอย่าง ไทวัสดุ, Power Buy, Supersports รวมถึงโดยรวมของธุรกิจมีความครบรอบด้าน

อย่างไรก็ตาม สุวัฒน์มองปัจจัยลบระยะสั้นว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคช่วงนี้ไม่ดีนัก (อ้างอิงข้อมูลจากมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยประชาชนส่วนใหญ่ 50.3% มองว่าเศรษฐกิจไทยอยู่ในระดับแย่) ทำให้ในรอบ 6 เดือนข้างหน้า รายได้และกำไรของค้าปลีกอาจจะมีความเสี่ยง

หรือถ้ามองระยะยาว มีปัจจัยลบเช่นกัน เพราะสัดส่วนรายได้ 32% ของ CRC อิงอยู่กับสินค้าแฟชั่นซึ่งถูกดิสรัปโดยการค้าออนไลน์ แม้ว่า CRC จะปรับตัวไปสู่ Omnichannel แล้ว แต่ประเมินว่าการแก้เกมครั้งนี้จะช่วยพยุงตัวไว้มากกว่าที่จะทำให้เติบโตได้