Julius Baer จัดทำรายงาน “ราคา” ของไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตแบบคนรวยใน 28 เมืองทั่วโลก เพื่อจัดอันดับเมืองที่แพงที่สุดในการใช้ชีวิตหรูหรา ไล่ตั้งแต่ราคาอสังหาริมทรัพย์ ร้านอาหารแบบ fine dining ราคาเสื้อผ้าเครื่องประดับ ค่าเทอมลูก ไปจนถึงบริการความงาม ผลพบว่า “ฮ่องกง” คือเมืองที่แพงที่สุดในโลกสำหรับชีวิตลักชัวรี ขณะที่ “กรุงเทพฯ” อยู่ในอันดับ 11 แพงยิ่งกว่า “ปารีส” ประเทศฝรั่งเศส
รายงานฉบับนี้สำรวจ 10 เมืองในทวีปเอเชีย 12 เมืองในทวีปยุโรป-ตะวันออกกลาง-แอฟริกา (EMEA) และ 6 เมืองในทวีปอเมริกา รวมทั้งหมด 28 เมือง โดย Julius Baer พบว่า เมืองในทวีปเอเชียติดโผในลำดับต้นๆ ไปถึง 4 แห่ง ได้แก่ ฮ่องกง เซี่ยงไฮ้ โตเกียว และสิงคโปร์
ส่วนเมืองในลำดับท้ายๆ ซึ่งถือว่าคนรวยจะใช้ชีวิตได้แบบคุ้มค่ากับเงินที่จ่ายมากกว่ามักจะอยู่ในทวีปยุโรป เช่น บาร์เซโลนา แฟรงก์เฟิร์ต ขณะที่ “กรุงเทพฯ” เมืองหลวงของไทยเรา อยู่ในอันดับ 11 ซึ่งเป็นครึ่งบนของตาราง แพงไม่น้อยหน้าใครเช่นกัน
การสำรวจครั้งนี้วัดผลจากราคาสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ของชนชั้นบน 20 รายการ แบ่งเป็น 5 หมวด คือ
1.การอยู่อาศัย ได้แก่ ราคาบ้าน รถ เปียโน
2.ประสบการณ์ ได้แก่ ราคาตั๋วชั้นธุรกิจ ห้องสวีทในโรงแรม ร้านอาหาร fine dining ไวน์ และวิสกี้
3.แฟชั่น ได้แก่ ราคารองเท้าสตรี ชุดสูทผู้ชาย เครื่องประดับ นาฬิกาข้อมือ และกระเป๋าถือของผู้หญิง
4.ครอบครัว ได้แก่ ค่าเทอมโรงเรียนประจำ ค่าเทอมมหาวิทยาลัย ค่าจ้างทนายความ และค่าจัดงานแต่งงาน 5.เวลเนส ได้แก่ บริการความงาม การทำเลสิก และเทรนเนอร์ส่วนตัว
ด้วยมาตรวัดเหล่านี้ ทำให้เมืองในทวีปเอเชียมักจะเป็นเมืองที่แพงสำหรับชีวิตลักชัวรี เพราะ 6 ใน 10 เมืองของเอเชียมีราคาอสังหาฯ ที่แพงระยับ และ 8 ใน 10 เมืองของเอเชียมีราคารถหรูที่แพงมากเช่นกันเนื่องจากภาษีนำเข้าสูง รวมไปถึงมีกำแพงภาษีสูงสำหรับสิ่งของลักชัวรีอื่นๆ ด้วย
นอกจากนี้ Julius Baer ยังระบุด้วยว่า จากเทรนด์ใส่ใจความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมของผู้บริโภค เทรนด์นี้เกี่ยวข้องกับสินค้าลักชัวรีด้วย โดยผู้บริโภคในประเทศกำลังพัฒนาเช่นบางประเทศของเอเชียและละตินอเมริกา มีแนวโน้มจะยอมจ่ายแพงกว่า สำหรับสินค้าที่มาจากบริษัทที่ใส่ใจความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นแบรนด์ต่างประเทศมากกว่าแบรนด์ท้องถิ่น
หากเปรียบเทียบกับผู้บริโภคในยุโรปและอเมริกาเหนือ พวกเขายอมจ่ายเพิ่มได้น้อยกว่าสำหรับสินค้าที่รักษ์สิ่งแวดล้อม เนื่องจากกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดของประเทศบีบให้ผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ต้องทำตามกฎหมายอยู่แล้ว นี่จึงเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้ชีวิตคนรวยของเอเชียแพงกว่าฝั่งตะวันตก
อย่างไรก็ตาม สำหรับอันดับ 1 ของปีนี้อย่าง “ฮ่องกง” ในปีต่อๆ ไปอันดับของเมืองนี้อาจจะตกลงหลังการประท้วงที่ยืดเยื้อติดต่อกันหลายเดือนเริ่มมีผลกระทบกับเศรษฐกิจประเทศ
กลับมาที่ “กรุงเทพฯ” ในภาพรวมเราอยู่ที่อันดับ 11 แต่มีสินค้าหรูบางหมวดเช่นกันที่เรามาเป็น อันดับ 1 (คำนวณราคาเป็นเหรียญสหรัฐ) ได้แก่ หมวดรองเท้าสตรีและสูทผู้ชาย และมีกลุ่มสินค้าราคาสูงอันดับต้นๆ เช่น นาฬิกาข้อมือ แพงเป็นอันดับ 2 เทียบกับอีก 27 เมือง เปียโนแพงเป็นอันดับ 4 และการทำเลสิกแพงอันดับ 4
ส่วนกลุ่มสินค้าหรือบริการหรูที่ไทยเราถือว่าถูกมากเทียบกับเมืองอื่น คือ ห้องสวีทในโรงแรม ซึ่งอยู่ในอันดับ 28 ถูกที่สุดในการจัดอันดับนี้ รวมไปถึงการจัดงานเลี้ยงแต่งงานซึ่งอยู่ในอันดับ 26
ในมุมผู้ผลิตสินค้าให้กับวิถีชีวิตลักชัวรี Julius Baer กล่าวว่า เป็นธรรมดาที่ดีมานด์ (และราคา) สำหรับสินค้าหรูจะเพิ่มขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจดี และลดลงหากเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย อย่างไรก็ตาม วัฏจักรเศรษฐกิจเป็นเรื่องที่คาดการณ์ได้ยาก สิ่งที่ผู้ค้าจะทำได้คือการจับจุดการซื้อแบบที่ “เห็นแล้วอยากได้ ตัดสินใจซื้อทันที” ดังนั้น การลงทุนกับ ภาพลักษณ์แบรนด์ คือเรื่องสำคัญ
ส่วนถ้าคุณเป็นผู้บริโภคระดับบน แต่ต้องการจะซื้อสินค้าที่พกพาข้ามประเทศได้จำพวกเสื้อผ้าเครื่องประดับ ไวน์ และวิสกี้ ให้ถูกลงกว่าเดิม Julius Baer แนะนำให้คุณบินไปซื้อกันได้ที่ซิดนีย์ แวนคูเวอร์ หรือแฟรงก์เฟิร์ต