ส่อง 5 เมืองรอบโลก เปิดโครงการรับ “ขวดน้ำ” ใช้แล้ว แลกตั๋วโดยสารรถไฟฟ้า/รถเมล์

เครื่องแลกขวดเป็นตั๋วโดยสารรถไฟฟ้าใต้ดินที่กรุงโรม ประเทศอิตาลี เปิดใช้ในเดือนกรกฎาคม 2019 (Photo by Stefano Montesi - Corbis/Corbis via Getty Images)
ปัญหาขยะล้นโลกโดยเฉพาะขยะพลาสติกนั้นต้องใช้วิธีแก้ปัญหาหลายแบบร่วมกัน ทั้งการลดปริมาณการใช้งาน และพลาสติกใช้แล้วก็ต้องเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลด้วย แต่จะทำอย่างไรเพื่อดึงคนให้เข้าร่วมกระบวนการรีไซเคิลขยะให้มากที่สุด คำตอบของ 5 เมืองเหล่านี้คือ “ให้ผลประโยชน์ตอบแทน” การแยกขยะ ด้วยโครงการ “ขวดแลกตั๋ว”

ตั้งแต่ปี 2012 เป็นต้นมา มีหลายเมืองรอบโลกที่เริ่มโครงการ “ขวดแลกตั๋ว” เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการจูงใจประชาชนให้ช่วยกันแยกขยะสำหรับนำไปรีไซเคิล คอนเซ็ปต์ในแต่ละเมืองไม่ต่างกันนัก นั่นคือการติดตั้งจุดรับขวดน้ำใช้แล้วไว้ตามสถานีรถไฟฟ้าหรือรถเมล์ เมื่อผู้โดยสารนำขวดพลาสติกมาเข้าระบบก็จะได้ค่าโดยสารคืนกลับไปใช้งาน

เท่าที่สืบค้นได้ เมืองแรกที่ปรากฏระบบขวดแลกตั๋วคือ “ปักกิ่ง” ประเทศจีน ตามมาด้วย “อิสตันบูล” ประเทศตุรกี “สุราบายา” ประเทศอินโดนีเซีย “โรม” ประเทศอิตาลี และ “กัวยาคิล” เมืองท่าทางตะวันตกเฉียงใต้ของเอกวาดอร์

เครื่องแลกขวดเป็นตั๋วโดยสารที่อิสตันบูล (photo: Istanbul Metropolitan Municipality)

ประเด็นที่น่าสนใจของการใช้วิธีนี้แก้ปัญหาขยะพลาสติกคือ วิธีนี้ไม่ได้เรียกร้องให้ประชาชนมีจิตสำนึกต่อการรักษาสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นเรื่องยากและต้องใช้เวลา

“ถ้าคุณใช้เงินจูงใจคนเข้าสู่ระบบรีไซเคิลขยะ แม้แต่ประชาชนที่ไม่มีจิตสำนึกเรื่องรีไซเคิลเลยก็จะเข้าร่วมด้วย” คลอดิโอ เพเรลลิ ชาวเมืองผู้อาศัยอยู่ในกรุงโรม ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว Reuters

หรือกรณีเมืองกัวยาคิล ประเทศเอกวาดอร์ ราคาแลกเปลี่ยนขวดกับตั๋วโดยสารรถบัสนั้นได้ราคาดีกว่าการขายขวดให้ศูนย์รีไซเคิลขยะ ทำให้ประชาชนกระตือรือร้นกับวิธีการนี้ โดยสำนักข่าว The Straits Times รายงานว่ามีชาวเมืองวัยเกษียณรายหนึ่งหันมาเดินเก็บขวดที่เป็นขยะตามท้องถนนเพื่อนำไปใช้แลกตั๋ว

 

ต้องใช้กี่ขวดเพื่อแลกตั๋ว 1 ใบ?

เจาะลึกวิธีการใช้ขวดแลกตั๋วโดยสาร แต่ละเมืองมีเรทราคาที่ให้และวิธีการแตกต่างกันอยู่บ้าง เช่น

“ปักกิ่ง” – ใช้ 20 ขวดเพื่อแลกตั๋วโดยสารรถไฟฟ้าใต้ดิน 1 ใบ มูลค่า 2 หยวน (ประมาณ 9 บาท) สามารถแลกได้ที่เครื่องในสถานี

“อิสตันบูล” – 1 ขวดใหญ่ (1.5 ลิตร) แลกเป็นเงินเติมในบัตรโดยสารได้ 6 คูรุส และ 1 กระป๋องอะลูมิเนียมใหญ่ (0.5 ลิตร) แลกเป็นเงินได้ 9 คูรุส ดังนั้นจะต้องใช้ขวดน้ำใหญ่ประมาณ 28 ขวดเพื่อเติมเงินจนได้ค่าโดยสารรถไฟฟ้า 1 เที่ยว มูลค่า 2.6 ลีร่า (ประมาณ 13.6 บาท) สามารถแลกได้ที่เครื่องในสถานี (*บัตรดังกล่าวสามารถใช้ขึ้นรถเมล์ รถราง และเข้าห้องน้ำสาธารณะได้ด้วย)

“สุราบายา” – ใช้ขวดน้ำ 5 ขวด หรือแก้วพลาสติก 10 ใบ เพื่อแลกตั๋วโดยสารรถบัสระยะเวลา 2 ชั่วโมง สามารถแลกได้โดยตรงบนรถบัส

“โรม” – ใช้ขวดน้ำ 30 ขวดแลกเป็นตั๋วโดยสารรถไฟฟ้าใต้ดิน 1 ใบที่เดินทางได้ 100 นาที วิธีการใช้งานต้องดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่นสำหรับโครงการขวดแลกตั๋ว เมื่อแลกขวดที่เครื่องแล้วจะได้ตั๋วเข้ามาในแอปฯ สามารถใช้แอปฯ สแกนเข้าระบบรถไฟฟ้าได้เลย ไม่ต้องแลกตั๋วกระดาษอีก

“กัวยาคิล” – ขวดน้ำ 15 ขวดแลกเป็นเงิน 30 เซนต์ โดยผู้บริโภคจะได้รับเป็นเงินสด เงินจำนวนนี้เท่ากับตั๋วโดยสารรถบัส 1 ใบ โดยแลกได้ที่เครื่องในสถานีรถบัส

จะเห็นได้ว่าวิธีการแลกมีตั้งแต่ระบบสุดล้ำของโรม และระบบง่ายๆ ที่ไม่ต้องคิดอะไรซับซ้อนแบบสุราบายา ดังนั้นเรื่องเทคโนโลยีจึงไม่ได้สำคัญเท่ากับการลงมือทำ

 

ทุกบริษัท…เริ่มได้

โครงการขวดแลกตั๋วอาจจะดูเหมือนเป็นงานในอำนาจรัฐหรือบริษัทเดินรถแบบโมเดลในกัวยาคิลหรือโรม แต่ก็ไม่ใช่เสมอไป เพราะอย่างโครงการในปักกิ่งนั้นเกิดขึ้นจากการเริ่มต้นของบริษัทรีไซเคิลขยะ Beijing Incom Resources Recovery ซึ่งติดตั้งเครื่องรับคืนขวดแบบนี้ไปทั่วเมืองปักกิ่ง นอกจากสถานีรถไฟใต้ดินแล้วยังมีในศูนย์การค้าและหน่วยงานราชการด้วย โดยมีเครื่องแบบนี้กระจายไปกว่า 2,200 เครื่องแล้ว

เครื่องแลกขวดเป็นสินค้าและบริการอย่างอื่นซึ่งติดตั้งโดย Incom บริษัทรีไซเคิลขยะของจีน

สำหรับคำถามในใจบางคนที่อาจมองว่า โครงการแบบนี้จะได้ผลแค่ไหน? ใครจะยอมแบกขวดหลายสิบขวดมาเพื่อแลกตั๋วโดยสารใบเดียว

ขอยกตัวอย่างกรณีใน กรุงโรม ซึ่งเริ่มติดตั้งเครื่องแลกขวดในเดือนกรกฎาคม 2019 ผ่านไป 3 เดือน เครื่องเหล่านี้ได้รีไซเคิลขวดไปแล้ว 350,000 ขวด เฉลี่ยมีการนำขวดมาแลกวันละ 20,000 ขวด โดยผู้โดยสารส่วนใหญ่จะนำขวดมาครั้งละ 15-20 ขวด มีผู้โดยสารทำยอดสูงสุดคือแลกไป 3,500 ขวดภายในเวลา 20 วันเท่านั้น! เท่ากับคนๆ นั้นจะได้ตั๋วรถไฟฟ้าไปใช้ฟรีๆ 175 ใบ

ส่วนประเทศไทยนั้น มีบริษัทที่เริ่มดำเนินการเครื่องแลกขวดแบบเดียวกันแล้วบ้างคือ บริษัท รีฟัน จำกัด เป็นเครื่องแลกขวดเป็นแต้ม จากนั้นนำแต้มไปใช้แลกผลิตภัณฑ์หรือบริการอื่นๆ โดยติดตั้งตามคอนโดมิเนียมในเครือแสนสิริ ศูนย์การค้า มหาวิทยาลัย สำนักงาน ส่วนแต้มสะสมนำไปใช้แลกอะไรได้บ้าง ขึ้นอยู่กับสถานที่ตั้งเครื่อง

คงจะดีไม่น้อยถ้าเมืองไทยเรามีโครงการ “ขวดแลกตั๋ว” กับเขาบ้าง เพราะการเดินทางเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทุกวัน และจะช่วยดึงคนเข้าสู่ระบบการรีไซเคิลพลาสติกได้อีกมาก

 

Source: