รถไฟฟ้ามาหานะเธอ

ในที่สุดความหวังที่จะนำ “ธนายง” ที่โดนพิษวิกฤตต้มยำกุ้ง ปี 2540 จนต้องใช้เวลาสิบกว่าปีในการฟื้นคืนชีพให้กลับมายืนหยัดอีกครั้งของ “คีรี กาญจนพาสน์” ก็เป็นจริง วันแถลงข่าวเปิดตัวบิสซิเนสโมเดลใหม่ จึงเป็นวันที่ “คีรี” อารมณ์ดีเป็นพิเศษ หยอกล้อทีมงานและลูกชาย กวิน กาญจนพาสน์ ที่จะมารับช่วงต่อกิจการอย่างครื้นเครง

“ยอมๆ เขาหน่อย เขาพูดไม่ค่อยรู้เรื่อง เพราะเกิดที่ฮ่องกง” คีรีเอ่ยปากแซวลูกชาย กับผู้สื่อข่าวบนเวที หลังจากกวินอธิบายที่มาของแบรนด์ “แอ๊บสแตร็กส์” ที่เขาได้คิดขึ้น และยืนยันว่า “ไม่มีใครเหมือนและไม่เหมือนใคร”

ที่ไม่เหมือนใคร เพราะบิสซิเนสโมเดลครั้งนี้มี “รถไฟฟ้าบีทีเอส” เป็นพระเอก ซึ่งแน่นอนว่าไม่มีธุรกิจอสังหาริมทรัพย์รายใดจะมีเหมือน

คีรี เริ่มด้วยการปรับโครงสร้างการถือหุ้น โดยนำธนายงไปซื้อกิจการรถไฟฟ้าบีทีเอส และเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์” จากนั้นวางบิสซิเนสโมเดลใหม่ แบ่งเป็น 4 กลุ่มธุรกิจ 1. ธุรกิจรถไฟฟ้าบีทีเอส 2.ธุรกิจให้เช่าพื้นที่โฆษณา (วีจีไอ) 3.ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้า และในทำเลอื่นๆ 4.ธุรกิจให้บริการ เช่น รับบริหารโรงแรม รับเหมาก่อสร้าง และธุรกิจ e-Money หรือการพัฒนาระบบตั๋วร่วมให้ใช้งานได้ทั้งรถไฟฟ้าบีทีเอส และรถไฟฟ้าใต้ดินเอ็มอาร์ที รวมถึงธุรกิจค้าปลีก และท่องเที่ยว

ภายใต้บิสซิเนสโมเดลใหม่ ได้สร้างโมเดลธุรกิจบริการด้านอสังหาริมทรัพย์ใหม่ โดยใช้ชื่อแบรนด์ว่า “แอ๊บสแตร็กส์ (Abstracts)” ให้บริการกับนักลงทุนที่ต้องการลงทุนให้เช่าที่พักอาศัยในโครงการของแอ๊บสแตร็กส์ ร่วมลงทุนกับผู้ที่เป็นเจ้าของที่ดิน และต้องการแอ๊บสแตร็กส์เข้ามาพัฒนาที่ดินให้ หรือแม้แต่ดีเวลลอปเปอร์ที่เจ้าของโครงการอสังหาริมทรัพย์สนใจมาลงทุนร่วมกันได้

โมเดลใหม่นี้ จึงเท่ากับเป็นการ Shot Cut การลงทุนทางด้านอสังหาริมทรัพย์ โดยที่คีรีไม่ต้องนำเงินไปจมกับค่าที่ดิน ยิ่งเป็นทำเลตามแนวรถไฟฟ้าด้วยแล้วราคาสูงมาก แต่จะใช้ “โนว์ฮาว” ด้านอสังหาริมทรัพย์ที่มีมาใช้ลงขันร่วมกับเจ้าของที่ดินแทน ซึ่งจะพัฒนาให้เป็นที่พักอาศัย คอนโดมิเนียม ร้านค้า ได้ทุกรูปแบบ ขึ้นอยู่กับทำเลและเจ้าของที่ดิน

ขณะเดียวกัน ก็มีบริการถไฟฟ้าบีทีเอสมาเป็นแม่เหล็ก โดยทำในรูปบัตรสมาร์ทการ์ด ให้สิทธิ์โดยสารได้ฟรี 10 ปี และยังนำไปใช้บริการต่างๆ ใช้ เป็นส่วนลด หรือสิทธิพิเศษ ใช้บริการร้านอาหาร โรงแรมในเครือข่ายของแบรนด์แอ๊บสแตร็กส์ ซึ่งที่ผ่านมา คีรีได้ลงทุนโรงแรม ภายใต้แบรนด์ “ยู โฮเทล” กำลังขยายไปในหลายจังหวัด เจ้าของโครงการ ยังมีธุรกิจโฆษณาผ่านวีจีไอมาช่วยสนับสนุน

“เรามาทีหลัง ดังนั้นต้องทำในสิ่งที่อสังหาริมทรัพย์รายอื่นไม่มี นั่นก็คือ รถไฟฟ้าบีทีเอส ซึ่งราไม่ได้ให้แค่ขึ้นรถไฟฟ้าฟรี 10 ปี แต่ยังมีบริการภายใต้เครือข่ายแอ๊บสแตร็กส์ที่ให้บริการกับลูกค้าที่มาร่วมลงทุนกับเรา” เป็นเครือข่ายพลเมือง ที่กวินเรียกว่า “แอ๊บสตแตร็กส์ ซิตี้เซ็น”

นอกจากจะความแตกต่างที่ไม่เหมือนคู่แข่งในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ด้วยกันแล้ว เขายังเปลี่ยนคู่แข่งมาเป็นมิตร โดยเปิดให้เจ้าของอสังหาริมทรัพย์เข้ามาร่วมเป็นพันธมิตร ใช้เครือข่ายความเป็นแบรนด์แอ๊บสตแตร็กส์มาใช้ประโยชน์ได้ด้วย

ส่วนโครงการที่แอ๊บสแตร็กส์ลงทุนเอง เวลานี้มี 2 โครงการ มูลค่าหมื่นล้านบาท 2 ทำเล พหลโยธิน ขนาด 3,000 ห้อง และสุขุมวิท ขนาด 112 ห้อง จะเป็นโมเดลต้นแบบของการกลับสู่ตลาดอสังหาริมทรัพย์อีกครั้ง