งานใหญ่ “อภิสิทธิ์” หลังวิกฤตม็อบแดง เดินเครื่องฟื้นฟูประเทศ

หลังเพลิงเผาเมืองจากวิกฤตม็อบคนเสื้อแดงสงบ ภารกิจเก็บกู้ซากปรักหักพังฟื้นฟูประเทศชาติ บ้านเมืองเป็นเรื่องของผู้คนทั้งประเทศ โดยมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ ที่ได้กระแสสังคมสนับสนุนให้เป็น “นายช่างใหญ่” งานครั้งนี้

ถึงจะมีคนบางส่วนที่ยังคลางแคลงใน “ความชอบธรรม” หลังจาก “ดับวิกฤต” ที่ราชประสงค์แล้วเกิด “ไฟลุกลาม” มีความสูญเสียตามมามหาศาล นอกจากอาคาร ทรัพย์สิน ยังมีชีวิตผู้คนที่บาดเจ็บล้มตาย

ทำให้นายกฯต้องติดข้อกล่าวหาฆาตกร “มือเปื้อนเลือด”

ฉะนั้น การที่จะอ้างกระแสสังคมส่วนที่สนับสนุน เพื่ออยู่ปฏิบัติภารกิจสร้างบ้านแปลงเมือง ฟื้นฟูประเทศชาติหลังวิกฤตต่อไป สิ่งที่จะเป็นการพิสูจน์ตัว ล้างเลือดในมือของ “อภิสิทธิ์” ได้ คือการทำตามแผนปรองดองที่ประกาศไว้

นอกจากการแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้า ฟื้นฟูเยียวยาความเสียหายเบื้องต้นแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากวิกฤต ทั้งห้างร้าน ศูนย์สรรพสินค้า ผู้ประกอบการรายใหญ่ รายย่อย พนักงาน ลูกจ้าง พ่อค้าแม่ขาย คนหาเช้ากินค่ำ

แม้แต่ “คนเสื้อแดง” ที่ถือว่าเป็นอีกกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบเช่นกัน ทั้งผู้คนที่บาดเจ็บล้มตาย ตลอดจนชาวบ้านที่ยังฝังติดเข้าใจผิดเพราะถูก “ปลุกปั่น” บาดเจ็บเก็บความคับแค้นชิงชังกลับสู่ถิ่นฐาน

เพราะประเทศไทยไม่ใช่แค่กรุงเทพฯ และไม่ได้มีแค่คนชนชั้นกลาง คนเสื้อแดงกลุ่มนี้ รัฐบาล และผู้ที่รับผิดชอบก็ไม่ควรที่จะละเลย จะต้องมีการเยียวยา “ปลอบขวัญ” คนกลุ่มนี้เช่นกัน

โดยเปิดพื้นที่รับฟังความคิดเห็น สร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง แก้ความคิดที่ผิดพลาดด้วยหลงผิด ดึงมวลชนคนเสื้อแดงที่เคลิ้มไปตาม “เวทมนตร์” ของ “ซาตาน” กลับมาร่วมกันสร้างชาติ

แม้คิดต่างได้ แต่ไม่ทำร้ายบ้านเมือง!

ที่สำคัญหลังผ่านศึกซักฟอกการอภิปรายไม่ไว้วางใจโดยฝ่ายค้าน นายกฯ ได้ใช้เวทีการเมืองแก้การเมืองเสร็จสิ้นแล้ว แต่ที่ยังรอการแก้ไข คือเรื่องการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงกลไกการทำงานของรัฐบาล

ที่จากวิกฤตเห็นได้ชัดว่าหลายจุดยังล้มเหลวไร้ประสิทธิภาพ

ต้องจับตาการปรับคณะรัฐมนตรีที่จะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ “อภิสิทธิ์” ที่ถือตั๋วเดินเครื่องประเทศไทยต่อ จะบริหารจัดการกลไกลการทำงานของรัฐบาลให้มีประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหน

จะมีการปรับ ครม. เพื่อแก้ปัญหาการเมือง หรือเปลี่ยนแปลงตัวรัฐมนตรีเพื่อประเทศชาติ

อันดับแรกที่จากปัญหาการชุมนุมที่ยืดเยื้อกว่า2เดือน เห็นได้ชัดว่าเป็น “จุดอ่อน” ของรัฐบาล จนทำให้ปัญหาลุกลามบานปลาย คือ “รัฐมนตรีด้านความมั่นคง”

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ ที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลงานทั้งกองทัพและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะต้องถูกตรวจการบ้าน และควรต้องทบทวนตัวเอง

ถึงแม้รายนี้ อีกสถานะคือ “ผู้จัดการรัฐบาล” ที่ทรงอิทธิพลใน ครม.ชุดนี้ แต่จากการทำงานที่ผิดพลาดต่อเนื่องตั้งแต่เหตุสงกรานต์เลือดปี 2552 จนถึงพฤษภาฯเดือดปีนี้ ต้องยอมรับการปรับเปลี่ยน

โดยเฉพาะการรับผิดชอบดูแล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่เกิดปัญหา “ตำรวจมะเขือเทศ” ใส่เกียร์ถอย เกียร์ว่าง แม้กระทั่งบางส่วนยังดับเครื่อง กลายเป็นแนวร่วมม็อบเสื้อแดงเสียเอง จนต้องพึ่งกำลังทหารเป็นหลักในการคลี่คลายสถานการณ์
เมื่อเห็นแล้วว่า หากปล่อยให้ปัญหาการเมืองส่งผลต่องานความมั่นคงจนล้มเหลว จะกระทบต่อประเทศมากมายเช่นใด ดังนั้นถึงจะมีข้อจำกัด แต่อภิสิทธิ์ก็ควรต้องหาทางปรับปรุง

ทั้งการจำกัดบทบาท ลดทอนอำนาจ ถ่ายโอนงานสำคัญของ “สุเทพ” ออกไปในจุดอื่น หรือถ้าจำเป็น นายกฯก็ควรมาคุมหน่วยงานด้านความมั่นคงเอง

ขณะที่มือไม้สำคัญอีกด้านคือรัฐมนตรีที่ดูแลสื่อของรัฐ ที่ต้องยอมรับว่า สาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ไร้ประสิทธิภาพในการทำงานในวิกฤต

ที่สำคัญ ก่อนหน้านั้น งานสื่อภาครัฐของรัฐบาลก็ไม่สามารถต้าน “สื่อสีแดง” ที่บิดเบือน สร้างความเข้าใจผิดผ่านทางทีวีผ่านดาวเทียม วิทยุชุมชน เว็บไซต์อินเทอร์เน็ต

การชวนเชื่อปลุกปั่นล้างสมอง จน “เซลล์ร้าย” ขยายวงกว้าง และอันตรายแค่ไหนก็เห็นกันแล้ว

เชื่อว่าผู้นำที่ต้องพิจารณาภาพรวมคงรับรู้แล้วว่า การทำงานของสื่อรัฐมีผลงานเป็นเช่นใด และคงปฏิเสธไม่ได้ว่าจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงคนทำงานด้านนี้

ส่วนผู้ที่จะมาทำงานแทนในด้านสื่อที่มีความสำคัญ “อภิสิทธิ์” ไม่ควรยึดที่โควตาในพรรค แต่ต้องเปิดกว้าง สรรหาผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมกับงานด้านสื่อจริงๆ

นอกจากนี้ ในจุดอื่นๆ ของพรรคประชาธิปัตย์ที่จะมีการปรับเปลี่ยน ล้วนเป็นไปตามสูตรสมบัติผลัดกันชม ชิงเก้าอี้ดนตรี หาใช่หลักการบริหารที่ดี

จัดคนให้เหมาะสมกับงาน ??

ถึงจะเข้าใจข้อจำกัด การปรับ ครม. ที่นอกจากหวังผลในประสิทธิภาพการทำงาน ยังต้องบริหารงานทางด้าน “การเมือง” ไปพร้อมๆ กัน

แต่ “อภิสิทธิ์” ที่ได้ตั๋วบริหารประเทศต่อ กอปรกับมีกระแสสังคมหนุนหลัง หลังผ่านวิกฤตหนักมาสองครั้ง จนแข็งแกร่ง สามารถกระชับอำนาจที่มีอยู่ในมือได้มากกว่าเดิม

จึงน่าจะใช้พลังตรงนี้เป็นแรงส่งในการจัดการองคาพยพ กลไกลของรัฐบาล

โดยเฉพาะกับดุลอำนาจที่เทกลับมาอยู่ที่ตัวนายกฯ และพรรคประชาธิปัตย์ ทั้งจากการสามารถฝ่าฟันวิกฤตจนผ่านพ้น ประกอบกับปฏิทินการเมืองเป็นใจ ช่วงเวลาจากนี้อีกอย่างน้อยครึ่งปี ที่ฝ่ายค้านไม่สามารถยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจได้ ไม่จำเป็นต้องพึ่งเสียงโหวตจากพรรคการเมือง

อำนาจการต่อรองของ “อภิสิทธิ์” เพิ่มขึ้น

ตลอดหนึ่งปีกว่า มีวิกฤตทางการเมืองมาหลายครั้ง รวมทั้งในสถานการณ์ปกติ การทำงานในหลายจุดที่ยังเป็นปัญหาที่ทำให้ภาพรวมของรัฐบาลไม่สามารถเดินหน้าไปได้อย่างที่ต้องการของนายอภิสิทธิ์

กระทรวงสำคัญของพรรคร่วมรัฐบาล ต้องทบทวนปรับเปลี่ยน!

ทั้งหน่วยงานด้านความมั่นคงภายใน อย่างกระทรวงมหาดไทย ที่ด้อยประสิทธิภาพ ไร้การมีส่วนร่วมในการป้องกันและแก้ปัญหาการเผาเมืองที่ลุกลามบานปลายไปยังต่างจังหวัด

หรือหน่วยงานด้านเศรษฐกิจ ที่นอกจากระทรวงการคลัง ทั้งกระทรวงพาณิชย์ คมนาคม อุตสาหกรรม เกษตรฯ พลังงาน การท่องเที่ยวและกีฬาฯ รวมทั้งกระทรวงไอซีที ที่ต้องขับเคลื่อนดูแลงานด้านสื่อสมัยใหม่

การตอบแทนบุญคุณ ตาม “เงื่อนไข” และ “สัญญาใจ” กับพรรคร่วมรัฐบาล ทำให้ยอมการจัดแบ่งเก้าอี้สำคัญ แลกกับเสียงสนับสนุนในการจัดตั้งรัฐบาล น่าจะผ่อนคลายได้ในระดับหนึ่ง

ดังนั้นเป็นเรื่องที่ “อภิสิทธิ์” จะใช้โอกาสนี้ ตัดสินใจว่าจุดไหนกระทรวงใดที่ขับเคลื่อนได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ

หากจำเป็นต้องขอคืนเก้าอี้ แลกเปลี่ยนกระทรวง ก็ต้องทำ

ภายหลังวิกฤตเป็นเรื่องใหญ่ การบริหารบ้านเมืองวันนี้เดินมาสู่ในจุดที่ควรหมด “ระยะเกรงใจ”

เมื่อจำเป็นต้อง “ผ่าตัดใหญ่ ครม.” เพื่อเดินเครื่องงานฟื้นฟูประเทศ!

อยู่ที่ว่า “อภิสิทธิ์” จะกล้าหรือเปล่า ??