เอาจริง! ญี่ปุ่นจ่อบทลงโทษคนฟันกำไรหน้ากากอนามัย “ติดคุก 1 ปี ปรับเงิน 3 แสน”

Photo : Shutterstock
การขายต่อหน้ากากอนามัยเพื่อทำกำไร จะเป็นการก่ออาชญากรรม ซึ่งมีโทษจำคุก 1 ปี หรือปรับเงิน 1 ล้านเยน (ราว 3 แสนบาท) หรือทั้งจำทั้งปรับ ท่ามกลางอุปสงค์ที่พุ่งทะยานอันมีต้นตอจากการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19

กฎระเบียบใหม่นี้จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม เป็นต้นไป โดยป้องกันพวกหัวใสขูดเอากำไรเกินควร ฉวยโอกาสในยามที่ทั้งประเทศกำลังเผชิญภาวะขาดแคลนหน้ากากอนามัย ท่ามกลางวิกฤตการแพร่ระบาดของ COVID-19

เจ้าหน้าที่ประจำกระทรวงเศรษฐกิจ, การค้าและอุตสาหกรรม บอกว่า การขายต่อหน้ากากอนามัยในราคาเดิมหรือต่ำกว่าที่ซื้อมา จะยังคงได้รับอนุญาต และเน้นย้ำว่า กฎระเบียบใหม่นี้ไม่ได้มีวัตถุประสงค์กีดกันผู้คนจากการนำหน้ากากอนามัยไปแจกจ่ายแก่เพื่อนๆ และครอบครัวเราต้องการรับประกันว่าผู้บริโภคโดยทั่วไปจะเข้าถึงหน้ากากอนามัย

กฎระเบียบดังกล่าวจะเป็นการบังคับใช้ผ่านร่างแก้ไขกฎหมายฉบับหนึ่ง ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับมาตรการฉุกเฉินต่างๆ สำหรับรักษาไว้ซึ่งสภาพความเป็นอยู่ของประชาชน ที่ตราขึ้นในปี 1973 ตอบสนองต่อเหตุแห่ซื้อกักตุนน้ำมันด้วยความตื่นตระหนกระหว่างวิกฤตการณ์ทางพลังงานในเวลานั้น

ส่วนผลิตภัณฑ์อื่นๆ อย่างเช่น น้ำยาฆ่าเชื้อโรค และผ้าอ้อมเด็ก อาจถูกใส่เข้าไปในบัญชีนี้ด้วย หากพิจารณาแล้วว่ามีความจำเป็น ขณะที่รัฐบาลมีแผนยกเลิกกฎระเบียบดังกล่าวหากอุปสงค์ภายในประเทศกลับสู่ภาวะเป็นปกติแล้ว

ทางกระทรวงเคยร้องขอให้บรรดาบริษัทอีคอมเมิร์ซ ทั้งหลาย ระงับประมูลขายหน้ากากอนามัยทางออนไลน์เป็นการชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 14 มีนาคม เป็นต้นไป แต่มาตรการดังกล่าวไม่เพียงพอที่จะสกัดการขายต่อหน้ากากอนามัย

นายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ ประกาศเพิ่มอุปทานหน้ากากอนามัยของประเทศ เป็น 600 ล้านชิ้นต่อเดือน มุ่งเน้นโดยเฉพาะไปที่การป้อนให้แก่สถานรับเลี้ยงเด็กและศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ

อย่างไรก็ตาม เหล่าผู้ผลิตประสบปัญหาผลิตไม่ทันกับอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นอย่างกะทันหัน โดยสามารถพบเห็นชั้นวางที่เต็มไปด้วยความว่างเปล่าแทบเป็นปกติตามร้านค้าและซูเปอร์มาร์เก็ตต่างๆ ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา

ปัญหานี้ยังถูกซ้ำเติมอีก เนื่องจากสต๊อกหน้ากากอนามัยที่มีอยู่น้อยนิด ได้ถูกกว้านซื้อไปโดยพวกขายต่อ แล้วนำไปเสนอขายในราคาที่สูงเกินจริงผ่านเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซต่างๆ อย่างเช่น Rakuten และ Mercari

ในกรณีลักษณะนี้ ยกตัวอย่างเช่น เมื่อช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ฮิโรยูกิ โมโรตะ สมาชิกสภาท้องถิ่นจังหวัดชิซุโอะกะ ออกมาแถลงขออภัยหลังถูกจับได้ว่านำหน้ากากอนามัยไปประมูลขายผ่านอินเทอร์เน็ต จนฟันกำไรเข้ากระเป๋าตัวเองหลายล้านเยน ซึ่งถูกมองว่าเป็นพฤติกรรมฉวยโอกาสในขณะที่ญี่ปุ่นกำลังเผชิญการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่

ทั้งนี้ โมโรตะ วัย 53 ปี ยอมรับว่า ทำเงินได้ถึง 8.88 ล้านเยน (ราว 2.7 ล้านบาท) จากการเปิดประมูลหน้ากากอนามัยรวม 89 ครั้ง ตั้งแต่วันที่ 4 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา

Source