องค์กรต้องรู้! 5 แนวทางสู้วิกฤต ‘COVID-19’ ใช้เทคโนโลยีเพื่อลดความเสี่ยงให้มากที่สุด

จากวิกฤต Covid-19 จะเริ่มเห็นการหยุดชะงักของเศรษฐกิจ เนื่องจากผู้คนไม่กล้าออกมาจับจ่าย ขณะที่นักท่องเที่ยวจากต่างประเทศก็ลดลงเนื่องจากต้องควบคุมการระบาด ทำให้เริ่มเห็นสัญญาณการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจ ทั้งการลดจำนวนพนักงาน แม้กระทั่งการ ปิดกิจการ บริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด (Bluebik) บริษัทที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์และการจัดการนวัตกรรมและเทคโนโลยีจึงได้ศึกษา 5 แนวทางปฏิบัติเร่งด่วน เพื่อช่วยให้องค์กรปรับตัวเพื่อไม่ให้ธุรกิจต้องหยุดชะงัก

จัดทำแผนรองรับการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง

อย่างการปฏิบัติงานร่วมกับคู่ค้า การจัดสรรทรัพยากรอย่างพอเพียง รวมทั้งควรทำการทดสอบแผนดังกล่าวเพื่อให้มั่นใจว่า หากสถานการณ์ระบาดของโรค COVID-19 ขยายวงกว้างหรือเข้าสู่ Phase ที่ 3 จนไม่สามารถดำเนินธุรกิจในรูปแบบปรกติได้ ธุรกิจจะดำเนินกิจการอย่างไรเพื่อกระทบกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียให้น้อยที่สุด

สื่อสารเพื่อลดความตื่นตระหนก

องค์กรควรจัดให้มีการสื่อสารเกี่ยวกับแผนสำรอง รวมทั้งสื่อสารนโยบายและมาตรการที่เกี่ยวข้อง ให้พนักงานทราบวิธีปฏิบัติตนเพื่อหลีกเลี่ยงสถานการณ์เสี่ยงที่จะทำให้ตนเองได้รับเชื้อ และต้องให้พนักงานปฏิบัติอย่างเคร่งครัดผ่านช่องทางที่เข้าถึงง่าย เช่น Line กลุ่ม

จัดสรรแยกกลุ่มพนักงานเพื่อบริหารความเสี่ยง

การแบ่งกลุ่มพนักงานในฝ่ายงานสำคัญต่าง ๆ อย่างน้อย 2 กลุ่ม โดยไม่ให้พบปะกันโดยตรง เพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้อทั้งกลุ่ม รวมถึงแยกกลุ่มพนักงานที่มีความเสี่ยงสูง เช่น พนักงานขาย และปรับใช้เทคโนโลยีเพื่อให้พนักงานสามารถทำงานคนละที่ได้ เช่น Video Conference และ Collaboration tools ต่าง ๆ (AIS เปลี่ยนเทคโนโลยีให้เป็นโอกาสท่ามกลางวิกฤต COVID-19)

ใช้เทคโนโลยีเพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ

อาทิ หันมาใช้ระบบจดจำใบหน้าแบบชีวภาพ (Biometric Facial Recognition) แทนการสแกนลายน้ำมือ ปรับเปลี่ยนการชำระเงินเป็นแบบไร้เงินสดเพื่อลดการใช้ธนบัตรหรือเหรียญ เป็นต้น

ประเมินคู่ค้าวางแผนสำรองและหาแหล่งทดแทน

ในส่วนองค์กรที่ต้องพึ่งพาวัสดุอุปกรณ์จากประเทศจีนเป็นหลัก อาจประสบปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบหรือต้นทุนในการผลิตได้ ฉะนั้นองค์กรควรจัดทำแผนด้านซัพพลายเชนเพื่อเสาะหาแหล่งผลิตสำรอง โดยการหาข้อมูลเกี่ยวกับผู้ผลิตภายในประเทศหรือประเทศอื่นรวมทั้งวางแผนสำรองวัตถุดิบเพื่อการผลิต รวมทั้งต้องพิจารณาแผนในกรณีที่โรงงานในประเทศจีนเริ่มกลับมาทำงานเป็นปรกติไว้ด้วย (3 แผนรับมือวิกฤต ‘ซัพพลายเชน’)

ที่ผ่านมา กลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 คือ อุตสาหกรรมด้านการท่องเที่ยว ทั้งอุตสาหกรรมการบินและสายการบิน โรงแรม ค้าปลีก ร้านอาหาร สถานที่ท่องเที่ยว การคมนาคมสาธารณะ ฯลฯ ขณะที่ภาพรวมของธุรกิจ E-Commerce (อี-คอมเมิร์ซ) และ Food Delivery (บริการส่งอาหาร) กลับเติบโตสวนทาง เนื่องจากผู้บริโภคไม่สามารถจับจ่ายใช้สอยได้อย่างสบายใจในที่สาธารณะ (พิษ ‘โควิด-19’ ทำท่องเที่ยวสูญ 4 แสนล้านบาท)

“ในวิกฤตยังพอมีโอกาส การที่ธุรกิจหันมาเพิ่มช่องทางจัดจำหน่ายทางช่องทางออนไลน์  (ยอดใช้งานออนไลน์พุ่ง 80% จาก COVID-19) จะเป็นแต้มต่อและช่วยรักษาโอกาสทางการค้าในช่วงความท้าทายนี้ได้ รวมทั้งธุรกิจอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับ E-Commerce ก็ไม่ควรมองข้ามการใช้เทคโนโลยีและ Social Media มาปรับใช้เพื่อรับมือกับวิกฤติที่อาจจะเกิดขึ้นทั้งในปัจจุบันและอนาคต” พชร อารยะการกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กล่าว

พชร อารยะการกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด (Bluebik)