ปั่นแล้วเท่

ไอเท็มฮอตใน พ.ศ.นี้ไม่ได้มีเพียง I-Pad และ BB…ยิ่งถ้าคุณมี Fixed Gear มาเป็นพาหนะข้างกายด้วยแล้ว คุณกำลังอินเทรนด์มากกว่าใคร

แม้ว่า Fixie เป็นหนึ่งในสิ่งประดิษฐ์แห่ง “โลกอนาล็อก” ที่เข้ากันได้อย่างแสนดีกับผู้คนในสังคม “ดิจิตอล” เสมือนความคลาสสิกของกล้องโลโม่ที่เติบโตในยุคไฟล์เจเพ็ค นี่คือบทสรุปที่กระชับและชัดเจนที่สุดของ Fixie กับความหมายของคำว่า “น้อยแต่มาก”

“Fixie” หรือที่ใช้ชื่อจริงว่า “Fixed Gear Bike” มีความโดดเด่นในภาพลักษณ์ Mix & Match ที่เปิดโอกาสให้เจ้าของได้สวมบทบาทสไตลิสต์ใส่ Apostrophe Sให้กับพาหนะคู่ใจเพื่อแสดงออกถึงความเป็น “ตัวฉัน” และ “ของฉัน” ได้อย่างเต็มที่
การ “Customize” เกิดขึ้นผ่านกระบวนการคัดสรรชิ้นส่วนหรืออุปกรณ์ตกแต่งตามรสนิยม หรือจะครีเอต DIY สไตล์ส่วนตัวลงไปด้วยก็ยังได้ “Fixie” จึงเสมือนหนึ่ง Accessories ชิ้นใหญ่ที่ช่วยการันตี “ความเท่ เก๋ คูล” ของผู้ขับขี่ …รูปทรงที่เรียบง่าย ทว่าสะดุดตาด้วยความมีเอกลักษณ์ในแบบ Street Fashion ยิ่งมองก็ยิ่งเคลิ้มจนอยากจับจองเอาซะดื้อๆ… นี่ล่ะคือมนต์สเน่ห์ของ Fixie ที่ยากจะเลียนแบบ จึงไม่น่าแปลกที่วันนี้ Fixed Gear Society เริ่มเป็นที่จับตามองของนักการตลาดFlexi Fixie

ในยุโรป อเมริกา รวมถึงประเทศในเอเชียอย่างญี่ปุ่น ไต้หวัน ฮ่องกง พลเมืองราว 70 % ใช้ “จักรยาน” เป็นพาหนะ ต้นกำเนิดของ Fixed Gear อยู่ใน “อเมริกา” ยุค70-80 ด้วยความที่ค่าซ่อมบำรุงของพาหนะทั่วไปจะมีราคาสูง พาหนะที่มีรูปแบบเรียบง่ายที่สุด ราคาถูกที่สุด ดูแลรักษาง่าย และสามารถประกอบเองได้อย่าง Fixed Gear จึงเหมาะกับผู้มีรายได้น้อยอย่าง “คนจัดส่งเอกสาร” ก่อนจะตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ในเวลาต่อมา

Fixed Gear “ไม่มีเกียร์” ทำให้ปั่นได้ไกลและเร็วขึ้น ขณะเดียวกันก็ช่วยให้อะดรีนาลีนหลั่งจากความตื่นเต้นและท้าทายที่รถ “ไม่มีระบบเบรก”

ความกังวลใจต่อสิ่งแวดล้อมและพลังงานเชื้อเพลิง ไม่ได้เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้คนไทยรุ่นใหม่หันมาให้ความสนใจใน Fixed Gear ทว่า “วัฒนธรรม Fixie” ถูกนำติดตัวมาในฐานะที่เป็น “ชีวิตประจำวัน” ของคนไทยรุ่นใหม่ที่เคยใช้ชีวิตอยู่ต่างประเทศ

“กันตพัฒน์ สิริเกียรติยศ” เจ้าของร้าน Sneaka Villa สยามสแควร์ แกนนำรุ่นแรกของสิงห์ Fixie ให้ภาพว่า ขณะเขาอยู่ในนิวยอร์ก บนถนนมีเพียงรถยนต์และรถจักรยาน “…ที่นั่นไม่มีมอเตอร์ไซค์เหมือนบ้านเราครับ ผมเห็นเค้าปั่น Fixed Gear กันเยอะมาก เลยเริ่มเห็นว่ามันก็ใช้งานได้จริงบนท้องถนนนะ”

ทว่าเมื่อกลับมาเมืองไทย ไม่เพียงหาซื้อไม่ได้ ซ้ำร้ายยังไม่มีใครรู้จัก เขาจึงติดต่อขอซื้อ Fixie 1 ใน 3 คัน จาก “เจ-มณฑล จิรา” ดารานักร้องซึ่งเป็น Trend Setter คนหนึ่งของเมืองไทย ก่อนจะชวนกันเปิดคอมมิวนิตี้เว็บ “BKKFIXED” ในปี 2008 เพื่อเป็นแหล่งให้ข้อมูลและเป็นจุดนัดพบบนโลกไซเบอร์ของคนไทยที่สนใจ Fixed Gear อย่างเป็นทางการแห่งแรก กระทั่ง Fixie เป็น “แฟชั่นไลฟ์สไตล์” ใหม่ของสังคมไทยในเวลาต่อมา

กันตพัฒน์แสดงความมุ่งมั่นในการสร้าง Social Network เริ่มด้วยการติดต่อขอซื้อจักรยานประเภทลู่จากนักปั่นในเว็บเสือหมอบ เพื่อนำมาแจกจ่ายกับให้กับเพื่อนฝูง โดยอีเวนต์แรกที่จัดเป็นแรลลี่ที่จำลองแบบมาจากนิวยอร์ก เขาได้สปอนเซอร์เป็นฝรั่งทั้งหมด เนื่องจากสมัยนั้นผู้ประกอบการคนไทยยังไม่มีใครรู้จัก

จากอีเวนต์แรกที่มีผู้เข้าร่วม 40 คน ปัจจุบัน “BKKFIXED” มีฐานสมาชิกร่วม 2,000 คน “ผมว่า ส่วนใหญ่คนที่หันมาจับ Fixie ตอนนี้น่าจะเป็นเรื่องของความเท่หรือไม่ก็เป็นไปเพื่อการเข้าสังคมมากกว่าน่ะครับ”

Fixed Gear เป็นไลฟ์สไตล์หนึ่งที่มีลักษณะความเป็น “สังคม+นิยม” คือนิยมการมีสังคมและให้ประโยชน์ทางสังคมสูง การปั่นจักรยานเป็น “ก๊วน” ให้ความสนุกสนาน ให้ความรู้และเทคนิคจากการแชร์ประสบการณ์ และยังให้ไอเดียที่กิน-ที่เที่ยวได้มากขึ้น ขณะเดียวกัน การปั่นเป็นกลุ่มช่วยลดแรงต้านทานหรือแรงปะทะจากลม ทำให้ผู้ปั่นทำความเร็วได้มากกว่า และเพิ่มระยะทางการปั่นได้มากขึ้น

สไตล์การตกแต่ง Fixie แยกได้เป็นสไตล์ “วินเทจ” และ “โมเดิร์น” ในขณะที่ลักษณะการใช้ จะแบ่งออกเป็น “สายปั่น(Track)” ติสต์ๆ ชิลด์ๆ เอาระยะทางและความเร็ว กับ “สายเล่นท่า (Trick)” ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีพื้นฐานการขี่ BMX มาก่อน โดยคลิปต่างๆ ใน Youtube มีหน้าที่ “ให้ท่า” แก่บรรดาผู้ฝึกซ้อมในสายนี้อย่างกว้างขวาง

“ขบวนการ Fixie Riders” มีให้พบเห็นตามหัวเมืองใหญ่ตั้งแต่ กทม. เชียงใหม่ โคราช และอีกหลายๆ จังหวัด “รัฐ เรืองอร่าม” Graphic Designer นิตยสาร Elle Decorationใช้เวลา 3 เดือนในการรวบรวมข้อมูล Fixieจากเว็บเมืองนอก พร้อมๆ กับรอชิ้นส่วนต่างๆ ที่ตนสั่งซื้อทั้งจากในและต่างประเทศ เพื่อมาประกอบเองทีละชิ้นจนได้พาหนะคู่ใจคันใหม่ “ผมมองว่าการขี่จักรยานมาทำงานเป็นอีกทางเลือกใหม่ของคนเมือง ได้เปลี่ยนบรรยากาศจากเดิมที่นั่งแต่รถไฟฟ้า” เขาเป็นหนึ่งในคนส่วนน้อยที่ปั่น Fixie เป็น “พาหนะ” เนื่องจากแดดที่แรงจัดของเมืองไทยเป็นอุปสรรค

อีกด้านหนึ่ง “กฤษฎา อนุนาท” ช่างภาพและหัวหน้าแก๊งนักปั่นในเครือสำนักพิมพ์อมรินทร์พรินติ้งที่ปั่น Fixie เป็น “งานอดิเรก” เขาเล่าถึง Fixie ในฐานะเป็นสิ่งที่วัยรุ่นกำลังโฟกัสกันอยู่ “ตอนนี้คนปั่นมากขึ้นนะครับ เพราะมีผู้นำเข้ามากขึ้น เลยหาซื้อง่ายในราคาที่จับต้องได้ ถ้าสั่งจากเน็ตเองจะแพงกว่า” เขาเล่าว่า ในออฟฟิศมีก๊วนจักรยานร่วม 10 กว่าคัน ประกอบด้วยนักเขียน ช่างภาพ และกราฟิกดีไซเนอร์เป็นส่วนใหญ่ โดยจะขนจักรยานขึ้นรถมาจากบ้าน นัดกันเพื่อออกปั่นไปตามที่ต่างๆหลังเลิกงานอาทิตย์ละครั้ง ก่อนแยกย้ายกันกลับ

ปัจจุบัน คอมมูนิตี้ใหญ่ๆ ของ The Fixie Riders มีอยู่ราว 20 กลุ่ม อาศัยหลักการรวมตัวกันทั้งโดย “โลเกชั่น” และโดย “สายงาน” เช่น

– Duckfixed เป็นการรวมตัวกันของคนที่ทำงานด้าน Visual Art ภายใต้แบรนด์ Duck Unit ทีมลูกเป็ดนี้หาได้ขี้เหร่แต่อย่างใด เพราะมีความชัดเจนมากทางด้านภาพลักษณ์ที่เป็นการรวมตัวของ Fixed Gear ระดับ High-end ทุกคันเป็นรถสไตล์ “วินเทจ” ทั้งหมด และใช้อะไหล่แท้ที่ส่งตรงจากสนามแข่งในญี่ปุ่นเลยทีเดียว

– JNSNP ถอดซับฯ ไทยมาจากชื่อกลุ่มชวนน่าเอ็นดู “เจ้าหนูสิงห์นักปั่น” หรือ JNSNP โด่นเด่นในด้านการสร้าง “แบรนดิ้ง” ให้งานอดิเรกของพวกเขาเอง อีเวนต์โดยความร่วมมือกับแบรนด์ดังๆเกิดขึ้นได้ภายใต้คอนเนกชั่นของสมาชิก JNSNP ทั้ง 34 คน ที่ทำงานในสายโฆษณาและธุรกิจบันเทิง เพียงเดือนเดียวหลังเปิดตัวใน Facebook มีคนแสดงตัวเป็นผู้ชื่นชอบ JNSNP ถึง 600 คน

“ใครขี่จักรยาน เข้างานฟรี” คอมมิตเก๋ๆ ล่าสุดที่กลุ่ม JNSNP จัดร่วมกับเบียร์ไทเกอร์ อาศัยที่ “ชาย ลิมานนท์” M.D. กลุ่ม ซึ่งเป็น Creative & Design Consultant ให้ Tiger Translate เขาจึงสามารถนำเสนอกิจกรรมตัวใกล้และกลุ่มผู้บริโภคที่สอดคล้องกับแนวทางของแบรนด์ได้ง่ายขึ้น

การรวมกลุ่มกันของ JNSNP เกิดจากความต้องการที่จะหากิจกรรมเพื่อการสังสรรค์อันมี “แฟชั่น” เป็นองค์ประกอบหลัก ก่อนจะมีมติลงเอยที่เจ้า Fixie “พวกเราชอบแฟชั่น ผมมองมันเป็นเรื่องของ Culture เป็นไลฟ์สไตล์ใหม่ ซึ่งไปไกลกว่าการสื่อสารด้วย Content” ชาย ในฐานะต้นคิดกล่าว หลายครั้งเขาปั่นจักรยานไปพรีเซนต์งานที่เอเยนซี่ “มันช่วยเซฟเวลามากๆ เลยนะ”

ทุกอีเวนต์ของ JNSNP จะอาศัยการ “แสดงงานศิลปะ” เรียกความสนใจ ซึ่งนับว่าประสบความสำเร็จมากตั้งแต่ในครั้งแรก กิจกรรมต่อมาในชื่อ “I’m here” แสดงออกถึงกิจกรรมทางสังคมที่พวกเขาต้องการมีส่วนผลักดัน เรื่องการให้ความสำคัญกับการติดไฟท้ายของจักรยาน และเชิญชวนนักปั่นมาร่วมรณรงค์ไปตามเส้นทางสำคัญเพื่อให้ผู้ขับขี่บนท้องถนนฉุกคิดถึงการมีอยู่ของผู้ใช้จักรยาน ขณะเดียวกันก็ทำให้สังคมกรุงเทพฯ เห็นภาพความเป็นไปได้ของการใช้จักรยานเป็นพาหนะ โดยอีกนัยหนึ่งก็หวังกระทบคราดไปยังฝ่ายบริหารของ กทม.

ด้วยความที่สมาชิกแต่ละคนมีต้นทุนความสามารถทางศิลปะอยู่เป็นทุนเดิม JNSNP จึงมีเสื้อผ้า หมวก ผ้าพันคอ ฯลฯ ของตัวเองออกมาต่อยอด ถึงขนาดมีการก๊อบปี้กันราวกับเป็นแบรนด์เนมดัง “ในปีนี้เราจะมีอีก 2-3 โปรเจกต์ซึ่งน่าจะสร้างเสียงกรี๊ดให้กับชาว Fixie ได้แน่นอน” งานอดิเรกของ JNSNP มีการดำเนินงานที่เป็นระบบ มีทีมดีไซน์ โปรดักชั่น มาร์เก็ตติ้ง รวมถึงมีคนดังที่สามารถไหว้วานเป็นพรีเซ็นเตอร์ได้ เช่น คเชนทร์ วงศ์แหลมทอง ช่างภาพดัง, เป้-Slur, สิงห์-Squeeze Animal, ฟรอยด์-ณัฏฐพงษ์ (บ้านนี้มีรัก)

ณ เวลานี้ ไม่เพียงนักปั่น หากแต่กลุ่มผู้ประกอบการเองก็มีการรวมตัวกันเป็น Community เช่นกัน อาทิ กลุ่ม “Fellow Freestyle Fixed” ซึ่งประกอบด้วยร้าน Brother Bike, Fary Fixed, Rollya, Tista, Roundskiddy ร่วมกันจัดอีเวนต์ทุก 3-4 เดือน กิจกรรมไฮไลต์คือ “Fixed School” ที่สอนการเล่นท่าต่างๆ แก่ผู้เข้าร่วมงานซึ่งมีราว 500 คน

Gears of Fixed

ในตลาด Fixed Gear มีแบรนด์ดังๆ อยู่มากมายทั้งจากยุโรป อเมริกา และญี่ปุ่น ทว่าในเมืองไทยมีร้านที่เป็นตัวแทนจำหน่าย Fixed Gear อย่างเป็นทางการอยู่แค่ 3-4 แบรนด์เท่านั้น “ฐิติวรัตณ์ ปกรณ์สถิตย์” นักปั่น Fixieเจ้าของร้าน Brother Bike แหล่งจำหน่ายจักรยานและของแต่ง Fixed Gear ชื่อดัง เผย

Fixie มีราคาเริ่มต้นสำหรับรถประกอบสำเร็จอยู่ที่คันละ 13,000 บาท เป็น OEMจากจีนที่ตีแบรนด์อิสระ แต่หากเป็นการซื้อชิ้นส่วนมาประกอบเอง ตัวเลขจะจบที่เท่าไหร่นั้น ขึ้นอยู่กับความพอใจในการแสวงหาอะไหล่ตามสไตล์ของลูกค้าแต่ละคน ยิ่งเป็นของเก่าคลาสสิกก็อาจมีราคาสูงเป็นหลักหมื่นหลักแสน เช่น อะไหล่ที่มีตราประทับ “NJS” ของประเทศญี่ปุ่น (สมัยก่อนทุกชิ้นส่วนต้องมีตรานี้เท่านั้น จึงจะสามารถลงแข่งในญี่ปุ่นได้) นับเป็นหนึ่งใน Rare Item ของสาวกสายแต่งวินเทจเป็นอย่างยิ่ง ด้วยแสดงถึงความคลาสสิกขั้นสุด

นักปั่นเกือบทั้งหมดเป็นผู้ชาย เพราะสาวไทย “กลัวตัวดำ” เป็นชีวิตจิตใจ ทว่าในปัจจุบัน มีแนวโน้มที่ดีขึ้น ฐิติวรัตณ์เล่าว่า ทางร้านเริ่มมีลูกค้าผู้หญิงแล้ว ด้วย Fixie เป็นจักรยานที่มีภาพลักษณ์ของความสวยงามและสีสันสดใส จึงเริ่มเจาะกลุ่มสาวไทยได้บ้างแล้ว อนาคต บ้านเราอาจมีกลุ่มนักปั่นหญิงล้วนชื่อดังอย่างไต้หวันที่ใช้ชื่อกลุ่มว่า “Lady Fixed Gear” หรืออย่าง Chart Bike แบรนด์ฝั่งตะวันตก ที่ 1ใน 2 ของโปรทีมก็เป็นผู้หญิงเช่นกัน

ฐิติวรัตณ์คาดการณ์ว่า กระแสความนิยมใน Fixed Gear จะยังไม่ถดถอยไปในระยะเวลาอันใกล้นี้แน่นอน โดยอิงจากกระแสความนิยมในอเมริกาและญี่ปุ่นที่ Fixie ยังคงไต่อันดับเทรนด์มาแรงแห่งปี ด้วยเป็นจักรยานที่ใช้งานได้จริง ตอบสนองทั้ง Functional และ Emotional Benefits อุปกรณ์ต่างๆ ของจักรยานยังมีความพยายามในการพัฒนาต่อยอด ควบคู่ไปกับการนำเสนอศิลปะและความคิดสร้างสรรค์บนจักรยานที่ไม่มีวันสิ้นสุด

น่าอัศจรรย์ที่ Fixie เป็นหนึ่งในสิ่งประดิษฐ์แห่ง “โลกอนาล็อก” ที่เข้ากันได้อย่างแสนดีกับผู้คนในสังคม “ดิจิตอล” เสมือนความคลาสสิกของกล้องโลโม่ที่เติบโตในยุคไฟล์เจเพ็ค บทสรุปที่กระชับและชัดเจนที่สุดสำหรับ Fixie อธิบายได้ดีในกรอบแห่งวลี “น้อยแต่มาก”

ชื่อเรียก
สหรัฐอเมริกาเรียก จักรยานฟิกซ์เกียร์
สหราชอาณาจักร เรียก ฟิกซ์วีล
ชื่อเล่น ฟิกซี่
ราคา 15,000 บาทขึ้นไป
ระดับความชื่นชอบ ในสังคมมีผู้ขับขี่ฟิกซีมากกว่า 20 กลุ่ม ในกรุงเทพฯ เชียงใหม่ โคราช
ปรากฏการณ์
* หลายคนชื่นชอบดัดแปลงและตกแต่งจักรยานตนด้วย DIY Graphics นักปั่นบางกลุ่ม เช่น Duckfixed เปิดตัวสินค้า DIY เพื่อตอบสนองคนรักฟิกซี่
*นักปั่นหลายคนหันมานิยมสะสมจักรยานฟิกซี่โบราณ

มีผู้หญิงหลายคนสนใจในฟิกซี่ โดยไม่สนใจเรื่องการจะต้องมีผิวขาวเหมือนผู้หญิงส่วนมากในสังคมไทย

ที่มาของข้อมูล : บทความจากมายด์แชร์ โดย อัจฉรา มัสอูดี และ ศิธมา สินธวานนท์