สถานการณ์การระบาดของไวรัส COVID-19 ทวีความรุนแรงขึ้น โดยล่าสุดวันที่ 19 มี.ค. 63 กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) รายงานยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มเป็น 272 ราย และรัฐบาลมีคำสั่งปิดสถานบริการ เช่น ผับ ร้านนวด ฟิตเนส ฯลฯ จนถึงสิ้นเดือนมีนาคมนี้ ทำให้หลายองค์กรในประเทศไทยทยอยออกนโยบาย “ทำงานที่บ้าน” หรือ Work from Home เพื่อลดความเสี่ยงให้กับพนักงาน
จากการสอบถามของ Positioning พบว่าบางบริษัทในไทยเริ่มบังคับใช้มาตรการทำงานที่บ้านกันแล้ว หรือมีการจัดเตรียมนโยบายไว้พร้อมสั่งการได้ทันทีหากพิจารณาว่าสถานการณ์มีความเสี่ยงสูงขึ้น แต่แต่ละแห่งมีวิธีการจัดการต่างกัน ขึ้นอยู่กับพื้นฐานความพร้อมของบริษัท ลักษณะงาน และจำนวนพนักงาน โดยมีตัวอย่างการจัดการมาฝากเป็นแนวทางเผื่อให้บริษัทอื่นพิจารณานำไปปรับใช้ดังนี้
*หมายเหตุ: บางบริษัทต้องการปิดเป็นข้อมูลลับ จึงไม่สามารถเปิดเผยชื่อได้*
บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) (DTAC) – พนักงานทุกสายงานแบ่งทีมเป็น 2 กลุ่มเพื่อสลับกันทำงานจากบ้าน เริ่มตั้งแต่วันที่ 18 มี.ค. 63 โดยขึ้นไฟล์งานบนระบบคลาวด์รูปแบบ SharePoint หรือ Microsoft Teams เพื่อให้เข้าถึงได้ทุกที่ สำหรับเครือข่ายข้อมูลขององค์กรมีการเข้ารหัส VPN เพื่อให้เข้าถึงข้อมูลจากภายนอกบริษัทได้อย่างปลอดภัย
การจัดการภายในอาคารสำนักงานใหญ่ มีการติดตั้งเครื่องเทอร์โมสแกน และตรวจวัดไข้ทุกคนตั้งแต่ชั้นล่างก่อนเข้าสู่โถงลิฟต์ และพนักงานรายใดที่มีประวัติเดินทางไปต่างประเทศจะต้องกักตัวเองในบ้านพัก 14 วัน
ทั้งนี้ สำหรับพนักงาน Call Center เนื่องจากมีการกระจายศูนย์ไว้ทั้งหมด 4 แห่ง และจัดสลับเข้ากะอยู่แล้ว ทำให้พนักงานกลุ่มนี้จะยังคงทำงานตามปกติเพื่อให้บริการลูกค้า
บริษัท แอล.พี.เอ็น ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) – ให้พนักงานสำนักงานใหญ่สลับกันทำงานจากที่บ้าน เพื่อให้มีคนเข้าสู่สำนักงานพร้อมกันลดลง 50% เริ่มตั้งแต่วันที่ 17 มี.ค. 63 ด้านการจัดการสุขอนามัยสำนักงาน บริษัทยกเลิกการสแกนนิ้วเพื่อลดความเสี่ยงติดเชื้อ
ส่วนพนักงานที่อยู่ประจำโครงการบ้านและคอนโดมิเนียม ซึ่งไม่สามารถทำงานจากบ้านได้ บริษัทซื้อประกันโรคโควิด-19 ให้ทั้งหมดเพื่อช่วยเหลือด้านความเสี่ยงให้พนักงาน
บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน จิตตะ เวลธ์ จำกัด (Jitta) – เนื่องจากเป็นบริษัทสตาร์ทอัพ ทำให้มีความคล่องตัวในการจัดการ ที่ผ่านมาบริษัทได้จัดนโยบายทำงานที่บ้านเพื่อรับมือกับปัญหาค่าฝุ่น PM 2.5 และเป็นนโยบายการทำงานที่ยืดหยุ่นให้กับพนักงานด้วย ดังนั้นจึงมีการ Work from Home มาโดยตลอด
การจัดการในบริษัทเพื่อให้ทำงานได้ราบรื่น จะจัดตารางกำหนดเวลาประชุมที่ชัดเจน จัดเป้าหมายการทำงานในแต่ละวัน และพนักงานต้องติดต่อได้เสมอหรือมีบุคคลสำรองให้ติดต่อแทน ทั้งนี้ Jitta แนะนำว่าสำหรับบริษัทที่ไม่พร้อมลงระบบใหม่ การใช้แอปพลิเคชันทั่วไป เช่น Line, Facebook สามารถแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในการทำงานก่อนได้
บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) – ให้พนักงานทำงานจากบ้านตั้งแต่วันที่ 10 มี.ค. 63 เป็นเวลา 1 สัปดาห์ และจะขยายเวลาทำงานจากบ้านต่อเนื่องหากสถานการณ์ไม่ดีขึ้น พร้อมให้พนักงานงดจัดประชุมสัมมนา และงดเดินทางต่างประเทศ
บริษัทประกันชีวิต A – ให้บางแผนกแบ่งเป็น 2 ทีมเริ่มต้นสลับ Work from Home ตั้งแต่วันที่ 18 มี.ค. 63 ทั้งนี้ ให้ทุกคนสำรองข้อมูลในโน้ตบุ๊กส่วนตัวและนำกลับทุกวัน ในกรณีฉุกเฉินที่ต้องปิดสำนักงานสามารถทำงานจากที่บ้านได้พร้อมกันทั้งแผนก การจัดการสำนักงานมีการตรวจวัดไข้ก่อนเข้างานทุกคนทุกวัน หากพบมีไข้เกิน 37.5 องศา ให้ลางานทันที
บริษัทพลังงาน B – แต่ละแผนกเตรียมจัดนโยบายที่เหมาะสม เช่น เตรียมตัวเพื่อรองรับการทำงานจากที่บ้านทุกคน แต่อาจมีการจัดเวรสลับกันเข้ามาที่สำนักงานตามความจำเป็น โดยให้รอคำสั่งเริ่มใช้นโยบายทำงานที่บ้านอีกครั้ง
บริษัทเอเจนซี่โฆษณา C – ยกระดับความเสี่ยง เริ่มต้น Work from Home ทุกคนตั้งแต่วันที่ 17 มี.ค. 63 (ก่อนหน้านี้เริ่มแผนแรกคือให้บุคคลที่มีความเสี่ยงกักตัวทำงานจากบ้าน 14 วัน) โดยพนักงานสามารถนำคอมพิวเตอร์และโน้ตบุ๊กกลับบ้านได้ พร้อมประชุมแบบทางไกลผ่านแอปพลิเคชัน Zoom
ทั้งนี้ จากการสอบถามหลายบริษัทพบว่าส่วนใหญ่ยังอยู่ระหว่างเตรียมหามาตรการรองรับ เช่น ซักซ้อมการประชุมออนไลน์ เตรียมเครื่องมือดิจิทัลและระบบไอทีเพื่อให้เข้าถึงข้อมูลจากระยะไกลได้ ประเมินการจัดการว่าแผนกใดสามารถทำงานจากที่บ้านได้
นอกจากบริษัทเอกชนแล้ว หน่วยงานราชการมีความเคลื่อนไหวแล้วเช่นกัน โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการเมื่อวันที่ 17 มี.ค. 63 ให้ทุกหน่วยงานรัฐเตรียมจัดทำแผน Work from Home ที่เหมาะสมกับหน่วยงานของตนเองมาเสนอ และจัดตารางเหลื่อมเวลาทำงาน
บริษัทขนาดกลางปรับตัวยากที่สุด
“กฤษดา สาธุกิจชัย” ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร บริษัท เนทติเซนท์ จำกัด (Netizen) ที่ปรึกษาการวางระบบซอฟต์แวร์
ทำให้บริษัทสามารถเทียบเคียงจากประสบการณ์ได้ว่า บริษัทขนาดเล็กจะมีความคล่องตัวสูง หลายบริษัททำงานในลักษณะ Work from Home อยู่แล้วทำให้สามารถหิ้วโน้ตบุ๊กไปทำงานที่บ้านได้เลย และผู้ประกอบการบริษัทใหญ่ได้เปรียบเช่นกัน เพราะมีเงินทุนและการจัดการความเสี่ยง ทำให้ลงทุนระบบเทคโนโลยีไว้รองรับแล้ว
ดังนั้นมองว่า บริษัทขนาดกลางมีความเสี่ยงที่สุดในสถานการณ์นี้ เพราะเริ่มขยายขนาดจนมีทีมงานหลายคนหลายฝ่าย แต่วิธีการทำงานยังเป็นแบบรวมศูนย์ตัดสินใจ ทำให้การทำงานจากที่บ้านจะมีปัญหาเรื่องการสื่อสารและการส่งต่อเอกสาร
อย่างไรก็ตาม Netizen แนะนำว่าปัจจุบันมีแพลตฟอร์มหลายอย่างที่ช่วยแก้ปัญหา เช่น การทำเอกสารออนไลน์สามารถใช้ Google Suites หรือ Office365, การประชุมทางไกล สามารถใช้ Microsoft Teams, Zoom หรือ Hangouts, ระบบอนุมัติงานและบริหารทรัพยากรบุคคล สามารถใช้แพลตฟอร์ม Origami ได้ ฯลฯ
เห็นได้ว่าวิกฤตที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้นได้เสมอ ดังนั้นการสร้างระบบที่ทำให้พนักงานสามารถทำงานได้จากทุกที่บนโลกจะกลายเป็นประโยชน์ ช่วยลดความเสี่ยงไม่ให้การทำธุรกิจต้องสะดุดได้ในอนาคต