“ไอแพด” เขย่าสิ่งพิมพ์ “ต้องปรับตัว”

นอกจากเข้าอินเทอร์เน็ตได้สนุกขึ้นเพราะจอใหญ่กว่าไอโฟนแล้ว “ไอแพด” ยังกระตุ้นให้วงการสิ่งพิมพ์ตื่นตัว หลังจากถูกบีบคั้นระลอกแรกจาก e-Reader ซึ่งล่าสุด “ไอแพด” ทำให้ e-Reader และการดาวน์โหลดหนังสือผ่านเว็บไซต์เกิดขึ้นได้เร็วในตลาดเมืองไทย หลังจากที่ทำตลาดในอเมริกามานานหลายปี แต่ที่นี่ยังเงียบอยู่

“ทรู ดิจิตอล คอนเทนต์ แอนด์ มีเดีย” ธุรกิจในเครือทรู คอร์ปอเรชั่น ที่เคยพยายามบุกธุรกิจ e-Book เมื่อปี 2548 แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะเทคโนโลยียังไม่เอื้อ และโมเดลธุรกิจที่ขอแบ่งรายได้จากเจ้าของคอนเทนต์ถึง 70% เมื่อเวลาเปลี่ยนไปอุปกรณ์ช่วยการอ่านพัฒนาขึ้นอย่าง e-Reader และกระแสแรงของไอแพด ทรูฯจึงใช้โอกาสนี้ในการรวบรวมสำนักพิมพ์ 20 แห่งรวมพ็อกเกตบุ๊กกว่า 100 เล่มเป็นพันธมิตร ให้ดาวน์โหลดผ่านเว็บไซต์ www.truebookstore.com โดยมี e-Reader ที่นำร่องโปรเจกต์ของ BENQ และคือการเตรียมพร้อมสำหรับค่ายทรูฯ ในการรวบรวมคอนเทนต์ในอนาคต หากทรูจำหน่ายไอแพดหรือพัฒนาแอพพลิเคชั่นในอนาคต

นี่คือการปรับตัวทางธุรกิจหลังจากไอแพดเปิดตัว และกำลังจะมีแท็ปเล็ตพีซีจากแบรนด์ต่างๆ พาเหรดเข้ามาในตลาด และที่สำคัญทำให้ผู้ผลิตคอนเทนต์ต้องเข้าหาสื่อเหล่านี้มากขึ้น

เหมือนอย่างที่ ”วศิน เพิ่มทรัพย์” อุปนายกฝ่ายต่างประเทศ สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย และบรรณาธิการอาวุโส ของโปรวิชั่น ได้ไอแพดมาเขี่ยเล่นหลังจากเปิดตัวที่อเมริกาไม่นาน

“วศิน” ไปมาบุญครอง และถามหาไอแพด สั่งจองล่วงหน้าเพียง 1 วันเขาก็ได้เครื่องมาทดสอบ ด้วยความจำเป็นในหน้าที่การงานที่เขาต้องรู้จักไอแพดให้เร็วที่สุดเพื่อเขียนริวิวในหนังสือและในบล็อกส่วนตัวได้ นอกจากนี้ที่สำคัญคือ ”วศิน” ต้องเข้าใจอย่างถ่องแท้กับอุปกรณ์ตัวใหม่ ที่อาจมาทดแทนหนังสือเล่มในอนาคต โดยเฉพาะนิตยสารที่มีรูปเล่มและสีที่เหมาะกับการอ่านกับแท็ปเล็ตอย่างไอแพดมากกว่า e-Reader ที่เหมาะกับพ็อกเกตบุ๊ก

พ็อกเกตบุ๊กทุกค่ายไม่มีใครปฏิเสธเครื่องมือใหม่ แม้แต่ค่าย ”วิบูลย์กิจ” ที่อยู่มานานกว่า 60 ปี เฉพาะหนังสือการ์ตูนก็นาน 30 ปี ตั้งแต่ยุคแคนดี้ โดราเอมอน ก็หนีไม่พ้นต้องปรับตัว ซึ่ง ”วรวุฒิ วรวิทยานนท์” บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์วิบูลย์กิจ บอกว่า ยากที่จะหลีกเลี่ยงกระแสนี้ ที่สำนักพิมพ์ต้องปรับตัวและมองทิศทางใหม่ เพราะอย่างในญี่ปุ่น e-Book กับหนังสือเล่มมีมูลค่าธุรกิจอย่างละครึ่งทีเดียว

“วรวุฒิ” มองว่าอุปกรณ์เทคโนโลยีช่วยอ่านไม่ว่าจะเป็น e-Reader หรือไอแพด จะทำให้เกิดกลุ่มคนอ่านกลุ่มใหม่ โดยเฉพาะเด็กวัยรุ่นให้หันมาอ่านหนังสือมากขึ้น

เช่นเดียวกับความเห็นของ ”เอื้อยจิตร บุนนาค” ผู้จัดการฝ่ายเว็บไซต์ นานมีบุ๊คส์ ที่บอกว่าสำนักพิมพ์ต้านกระแสไม่ได้ แม้ว่าในอีก 1-2 ปีข้างหน้าจะยังไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงมากนัก เพราะการอ่านพ็อกเกตบุ๊ก หนังสือเล่ม ยังเป็นเรื่องของรสนิยม การซื้อสะสม เพราะรูปเล่มที่สวยงาม และตั้งแต่เธออยู่ในธุรกิจพ็อกเกตบุ๊กมา 17 ปี ความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่สุด

IDCคาดว่าปี 2011 จะมีแท็ปเล็ตพีซีทั่วโลกประมาณ 15 ล้านเครื่อง และปี 2015 ABI Research คาดว่าจะมีถึง 57 ล้านเครื่อง

เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2553 แอปเปิลประกาศทำยอดขายไอแพดได้ 1 ล้านเครื่องภายใน 28 วัน ทำสถิติดีกว่าไอโฟนที่ทำยอด 1 ล้านเครื่องภายใน 74 วัน มียอดดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่น 12 ล้านแอพฯ และดาวน์โหลดหนังสือดิจิตอล 1.5 ล้านเล่ม