ไม่จบแค่ COVID-19! CISCO มองอนาคตโซลูชั่น ‘Video Conference’ ยังได้ไปต่อแม้หมดวิกฤติ

หลังจากที่หลายหน่วยงานได้ประกาศให้พนักงานสามารถ Work from home หลายบริษัทจึงจำเป็นต้องหาเทคโนโลยีเข้ามาใช้ โดยเฉพาะ Video Conference ส่งผลให้การเติบโตของผู้ให้บริการเหล่านี้เติบโตอย่างก้าวกระโดด ไม่ว่าจะเป็น Microsoft Teams, Zoom และเกิดผู้เล่นหน้าใหม่มากมายเข้ามาทำตลาด อย่างไทยก็มี TRUE VIRTUAL WORLD ที่เข้ามาเล่นในตลาดนี้ด้วย

Cisco Webex เป็นอีกหนึ่งทางเลือกหนึ่งที่เข้าแก้ไขปัญหานี้ โดยสำหรับประเทศไทยเอง การใช้งาน Webex มีการเติบโตกว่า 7 เท่า แค่ช่วงระยะเวลาเพียง 1 เดือน จากเดือนกุมภาพันธ์มีการใช้งานที่ 27,689 ครั้ง เพิ่มเป็น 239,896 ครั้งในเดือนมีนาคม ขณะที่ทั่วโลกจากที่มีผู้ร่วมประชุม 33,628 รายในเดือนกุมภาพันธ์ ตัวเลขเพิ่มเป็น 1,047,109 รายในเดือนเดียว เติบโตขึ้น 3013.80%

“จากที่เราทั้งทำโปรโมต ทั้งทำเวิร์กช็อปมานานมาก แต่เพราะมี COVID-19 ทำให้การรับรู้เติบโตขึ้นมากในทันที ไม่ใช่แค่ใช้เพื่อประชุมทางไกล แต่ยังใช้เป็นห้องเรียนเสมือน เปิดตัวสินค้า จัดอีเวนต์ออนไลน์  และจะกลายเป็น New Normal ที่จะเปลี่ยนไลฟ์สไตล์การทำงานของผู้คนในปัจจุบัน” วัตสัน ถิรภัทรพงศ์ กรรมการผู้จัดการซิสโก้ ประเทศไทย และภูมิภาคอินโดจีน กล่าว

วัตสัน ถิรภัทรพงศ์ กรรมการผู้จัดการซิสโก้ ประเทศไทย และภูมิภาคอินโดจีน

แม้ไม่สามารถระบุอย่างชัดเจนได้ว่าหลังจากจบ COVID-19 ลง เทคโนโลยีอะไรจะเป็นที่น่าจับตามองในการลงทุนจากฝั่งองค์กร แต่เชื่อมั่นว่าโซลูชั่น Video Conference จะยังถูกลงทุน จากเดิมที่จะใช้ในกลุ่มผู้บริหาร แต่จากนี้จะปรับไปใช้กับพนักงานในระดับอื่น ๆ ต่อไป รวมถึงภาคการเรียนการสอนออนไลน์

“เพราะเอกชนต้องให้พนักงานทำงานจากบ้าน ส่วนโรงเรียนและมหาวิทยาลัยเองก็ต้องหันมาสอนผ่านวิดีโอแทน ซึ่งภาคการศึกษา ถือเป็นส่วนที่มีการใช้งานมากเป็นอันดับหนึ่ง”

แน่นอนว่าวิกฤติจาก COVID-19 ไม่ได้ทำให้การใช้งาน Cisco Webex เติบโตขึ้นเพียงรายเดียว แต่คู่แข่งก็เติบโตขึ้นเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ยังไม่สามารถประเมินได้ว่าการแข่งขันจากนี้จะอยู่ที่อะไร แต่เชื่อว่าผู้ใช้งานเริ่มตระหนักถึงด้านความปลอดภัยมาเป็นอันดับต้น ๆ ขณะที่ Cisco Webex เองมีหลากหลายฟีเจอร์เพื่อใช้ตอบสนองการใช้งานในหลายรูปแบบ ทั้งการประชุม การเรียนการสอนต่าง ๆ อีกทั้งยังรองรับผู้เข้าร่วมประชุมผ่านวิดีโอได้ 1,000 คนในคราวเดียว

“จะเห็นว่ามีผู้ให้บริการบางรายที่มีปัญหาด้านความปลอดภัย ส่งผลให้หลายประเทศเลือกที่จะแบนแพลตฟอร์มนั้น ๆ และเลือกไปใช้งานแพลตฟอร์มที่ปลอดภัยกว่า”

อย่างไรก็ตาม ความท้าทายหลักของหน่วยงานไทยคือ อุปกรณ์พื้นฐานที่อาจจะเก่าเกินไป โดยเฉพาะองค์กรภาครัฐ นอกจากนี้ เครื่องมือเป็นเพียงตัวช่วยเท่านั้น โดยองค์กรเองต้องปรับไมด์เซต รวมทั้งกระบวนการที่เหมาะสมกับเครื่องมือต่าง ๆ ที่จะนำมาใช้งานด้วย