เชิญค่ะ…หุ่นยนต์ยินดีต้อนรับ

“หุ่นยนต์” สิ่งประดิษฐที่มีมานาน และเป็นผู้ช่วยในหลายธุรกิจมานาน แต่เวลานี้กำลังสร้างสีสันและเพิ่มรสชาติให้กับธุรกิจร้านอาหาร เป็นจุดเชื่อมโยงระหว่างร้านและลูกค้าได้อย่างดี นี่คือเวลาที่หุ่นยนต์จะโลดแล่นจากจิตนาการมนุษย์ออกมาเซอร์วิสให้เห็นกันตัวเป็นๆ และคืออนาคตที่สดใสของธุรกิจหุ่นยนต์

เมื่อได้ยินเพลง Nobody ของวง Wonder Girls เรามักนึกถึงท่าเต้นของ 5 นักร้องสาวที่เป็นเอกลักษณ์ แต่ภาพแดนเซอร์ในร้านฮาจิเมะกลับเป็น “หุ่นยนต์” สวมชุดซามูไรญี่ปุ่นออกมาวาดลวดลายตามจังหวะดนตรี แม้จะไม่ “พลิ้ว” เท่าต้นฉบับเดิม แต่ก็ได้ “ความแปลกและความตื่นเต้น” เพียงเท่านี้ก็สร้างแรงดึงดูดให้กับผู้เข้าร้านได้ทุกเพศทุกวัยแล้ว
ธุรกิจร้านอาหารเป็นธุรกิจบริการแรกที่นำหุ่นยนต์มาใช้งานได้อย่างชัดเจนที่สุด เพราะสามารถใช้บริการได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น ต้อนรับลูกค้า รับออร์เดอร์อาหาร พนักงานเสิร์ฟ ไปจนถึงพ่อครัว ซึ่งฮาจิเมะนับเป็นร้านอาหารรายแรกในไทยที่นำหุ่นยนต์มาใช้บริการอย่างใกล้ชิดกับมนุษย์มากที่สุด โดยใช้หุ่นยนต์เคลื่อนที่ตามรางเพื่อเสิร์ฟอาหารแก่ลูกค้าแต่ละโต๊ะที่ห่างกันแค่เพียงกระจกกั้น 2 ชั้นเพื่อป้องกันอันตรายเมื่อสัมผัสเท่านั้น
เจ้าหุ่นยนต์ที่เอ่ยถึงนี้คือสัญลักษณ์ของร้านฮาจิเมะที่วาง Position ตัวเองเป็น “ภัตตาคารหุ่นยนต์” รายแรกในไทย โดยต้นแบบความคิดนี้มาจาก ลภัสรดา ธนพันธ์ หรือบี ทันตแพทย์สาวที่มีความฝันเช่นเดียวกับหลายๆ คนที่อยากมีหุ่นยนต์มาใช้งานในร้านอาหาร ซึ่งเริ่มต้นจากความชื่นชอบตั้งแต่สมัยเด็กประกอบกับได้ไปชมงานแสดงหุ่นยนต์ที่ญี่ปุ่นเมื่อ 5 ปีก่อน เป็นจุดเริ่มต้นให้ร้านอาหารญี่ปุ่นประเภทปิ้งย่างสไตล์บุฟเฟ่ต์แห่งนี้เกิดขึ้นบนโครงการโมโนโพลีปาร์ค ย่านพระราม 3 ของวุฒิภูมิ จุฬางกูร หรือวุฒิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เจแมกซ์ โมโนโพลี จำกัด ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการดังกล่าวและเป็นเพื่อนชายของเธอที่ชอบและสนใจหุ่นยนต์เช่นกัน
นอกจากทั้งคู่จะสนใจหุ่นยนต์เหมือนกันแล้ว วุฒิยังมีตำแหน่งกรรมการและผู้อำนวยการฝ่ายจัดซื้อ บริษัท ซัมมิท คอร์ปอเรชั่น ซึ่งอยู่ในกลุ่มไทยซัมมิทที่ดำเนินธุรกิจอุตสาหกรรมประกอบชิ้นส่วนยานยนต์มาเป็นเวลานาน “เราใช้หุ่นยนต์ในอุตสาหกรรมมาเป็นเวลากว่า 20 ปีแล้ว ตอนนี้มีหุ่นยนต์ที่ใช้ในโรงงานกว่า 1 พันตัว” วุฒิเล่า ด้วยเหตุนี้การนำหุ่นยนต์มาใช้ในร้านฮาจิเมะจึงไม่ใช่เรื่องยาก ซึ่งเขาทำหน้าที่ออกแบบซอฟต์แวร์เพื่อสั่งการหุ่นยนต์ภายในร้านให้ พร้อมกับนำเอาระบบออโตเมชั่นแบบเดียวกับที่ใช้ในอุตสาหกรรมประกอบชิ้นส่วนรถยนต์มาใช้ที่ร้านนี้ด้วย
ระบบดังกล่าวถือเป็นหัวใจของฮาจิเมะที่เชื่อมโยงระบบในร้านทั้งหมด ตั้งแต่การสั่งอาหารผ่านหน้าจอทัชสกรีนที่ส่งข้อมูลไปยังเซิร์ฟเวอร์เพื่อกระจายคำสั่งไปยังส่วนต่างๆ หลังร้าน จากนั้นพ่อครัวจะหยิบถาดอาหารมาวางบนสายพานเพื่อให้หุ่นยนต์แขนเดียวทำหน้าที่หยิบแล้วส่งให้หุ่นยนต์ 2 แขนทำหน้าที่เสิร์ฟอาหารต่อให้ลูกค้า ซึ่งระบบออโตเมชั่นนี้จะโยงไปจนถึงการคิดค่าบริการจากแคชเชียร์
“ฮาจิเมะ แปลว่า ครั้งแรก หรือ แรกเริ่ม” บีบอกความหมายของชื่อร้านเป็นภาษาไทย ซึ่งเข้ากันกับแนวคิดที่นำหุ่นยนต์มาใช้บริการเสิร์ฟอาหารจริงเป็นรายแรก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดปัญหา “ป่วย ลา มาสาย” ของพนักงานที่เป็นมนุษย์ ช่วยลดความเสี่ยงเรื่อง “การปนเปื้อน” ของอาหารขณะหยิบจับเพื่อป้องกันโรคติดต่อระหว่างคนสู่คน รวมทั้งได้แสดงศักยภาพของคนไทยที่สามารถพัฒนาหุ่นยนต์เพื่อใช้บริการได้จริงอีกด้วย
เธอใช้ทุนส่วนตัวลงทุนร้านนี้ไม่ต่ำกว่า 30 ล้านบาท ใช้หุ่นยนต์ที่นำเข้าจากญี่ปุ่นทั้งหมด 4 ตัว ประกอบด้วยหุ่นยนต์ 2 แขนเพื่อใช้เสิร์ฟอาหาร 2 ตัว ราคาตัวละ 4 ล้านบาท และหุ่นยนต์แขนเดียวอีก 2 ตัวทำหน้าที่ช่วยงานพ่อครัวหลังร้านตัวละ 2 ล้านบาท ภายในร้านแบ่งพนักงานออกเป็น 2 ทีมคือพ่อครัวและผู้ช่วยพ่อครัวจำนวน 20 คน และทีมวิศวกรที่ดูแลหุ่นยนต์และระบบภายในร้านอีก 7 คน ซึ่งการนำหุ่นยนต์มาใช้บริการในร้านสามารถลดจำนวนพนักงานเสิร์ฟได้ 4 คน
แม้วันนี้ฮาจิเมะเพิ่งเปิดให้บริการได้เพียง 1 เดือน แต่ “กระแสตอบรับเกินความคาดหมาย” วุฒิบอกกับ POSITIONING โดยเฉพาะช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่หยุดต่อเนื่องกันถึง 8 วันมีลูกค้าเข้าร้านถึงวันละ 400 คนซึ่งเกินกว่าที่ตั้งเป้าไว้วันละ 300 คน จึงเกิดปัญหาการเสิร์ฟอาหารล่าช้าเพราะพนักงานและระบบในร้านยังไม่พร้อมรองรับต่อความต้องการลูกค้าจำนวนมาก ซึ่งตอนนี้เขายืนยันว่าฮาจิเมะพร้อมรับมือปัญหาทุกอย่างที่กล่าวมาแล้ว
การตอบรับอย่างล้นหลามจากช่วงสงกรานต์เป็นเครื่องยืนยันว่า “หุ่นยนต์” ไม่เพียงแค่สร้างกิมมิกเท่านั้น แต่ยังเป็นเครื่องมือชั้นดีเพื่อดึงดูดลูกค้าได้ทุกเพศ ทุกวัย ที่ผ่านมาฮาจิเมะลงทุนจัดงานแถลงข่าวเปิดตัวร้านเท่านั้น จากนั้นก็มีสื่อต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศอย่างฝรั่งเศส เบลเยียม และญี่ปุ่นให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีลูกค้าที่มาใช้บริการแล้วถ่ายวิดีโอไปลงยูทูบซึ่งมีผู้เข้าไปดูกว่า 8 หมื่นครั้งภายในเวลาไม่ถึง 1 เดือน จึงแทบเรียกได้ว่าฮาจิเมะเกิดจาก “การบอกปากต่อปาก” ล้วนๆ
“สิ่งสำคัญคือไม่ใช่แค่มาดูอย่างเดียวแล้วจบ แต่ต้องเกิดการซื้อซ้ำด้วย” วุฒิบอก นั่นคือการพัฒนาคุณภาพอาหารและบริการที่บีเป็นผู้ดูแล ส่วนเขาจะช่วยพัฒนาระบบระบบออโตเมชั่นภายในร้านให้ดีขึ้นเพื่อให้ฮาจิเมะเป็นร้านอาหารอันดับต้นๆ ของไทยที่มีชื่อเสียงระดับสากล

Show Case
อีกขั้นของหุ่นยนต์ในร้านอาหาร
สำหรับวุฒิแล้ว ฮาจิเมะ คือจุดเริ่มต้นเพื่อต่อยอดสู่ธุรกิจหุ่นยนต์ในอนาคตของเขาและเพื่อช่วยเพิ่มรายได้ให้กับทีมวิศวกรที่ดูแลหุ่นยนต์ในร้านฮาจิเมะมากขึ้น แผนต่อไปที่วางไว้คือการเปิดร้านอาหารหุ่นยนต์สาขาที่สอง ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงหาผู้ลงทุน โดยซัมมิททำหน้าที่วางระบบและพัฒนาหุ่นยนต์ให้เช่นเดียวกัน เบื้องต้นมีผู้สนใจลงทุนร้านอาหารซีฟู้ดที่เน้นกลุ่มลูกค้าต่างชาติ
นอกจากนี้ ก่อนที่จะเปิดร้านฮาจิเมะ วุฒิได้วางแผนนำหุ่นยนต์มาใช้เป็นพนักงานต้อนรับลูกค้าที่มาโครงการโมโนโพลีปาร์คของเขา แต่เมื่อเปิดร้านก็ต้องพับโครงการนี้ไปเพราะไม่มีเวลาดูแลต่อ ซึ่งในอนาคตทั้งวุฒิและบีมีแผนจะพัฒนาหุ่นยนต์ไปใช้งานในครัวเรือนและโรงพยาบาลเช่นกัน

People
จากยอดมนุษย์เป็นร้านอาหาร
ถ้าหากบีและวุฒิไม่ได้เป็นเพื่อนกันมาก่อน ฮาจิเมะอาจไม่ได้แจ้งเกิด ด้วยความชื่นชอบยอดมนุษย์และหุ่นยนต์ตั้งแต่สมัยเด็กของบีจนกระทั่งเมื่อ 5 ปีก่อนที่เธอได้ไปดูงานแสดงหุ่นยนต์ที่ญี่ปุ่นช่วยจุดประกายให้เธออยากเป็นเจ้าของร้านอาหารญี่ปุ่นโดยมีพนักงานเสิร์ฟเป็นหุ่นยนต์ขึ้น จึงได้ร่วมมือกับวุฒิที่สนใจหุ่นยนต์เช่นเดียวกันและมีประสบการณ์ด้านพัฒนาหุ่นยนต์ในโรงงานอุตสาหกรรมประกอบชิ้นส่วนรถยนต์จากกลุ่มไทยซัมมิทซึ่งเป็นธุรกิจของครอบครัวนำความรู้ด้านนี้มาพัฒนาหุ่นยนต์ในร้านต่อ โดยใช้เวลาก่อสร้างราว 1 ปีพร้อมกับโครงการโมโนโพลีปาร์คของเขา
บีเรียนจบปริญญาตรีจากคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้บริหารและเจ้าของร้านภัตตาคารหุ่นยนต์ฮาจิเมะ รวมทั้งเปิดคลินิกทำฟันของตัวเองด้วย ส่วนวุฒิจบการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านสาขานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้เรียนต่อปริญญาโทด้านคอมพิวเตอร์และกราฟิกดีไซน์ จากซีแอตเติล คอมมูนิตี้ คอลเลจ ที่สหรัฐอเมริกา ปัจจุบันควบตำแหน่งบริหาร 3 ที่คือกรรมการผู้จัดการ บริษัท เจแมกซ์ โมโนโพลี กรรมการและผู้อำนวยการฝ่ายจัดซื้อ บริษัท ซัมมิท คอร์ปอเรชั่น และผู้ก่อตั้งบริษัท อินโนเวทีฟ วิชั่นส์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตสื่อโฆษณา 3 มิติหรือ 3D Holovision ด้วย