SCB EIC สำรวจข้อมูลจากเว็บไซต์ประกาศรับสมัครงาน JobsDB ณ วันที่ 24 เมษายน 2563 พบมีจำนวนประกาศรับสมัครงานเพียง 9,200 ตำแหน่ง ลดลง 37.4% จากวันที่ 21 มีนาคม 2563 (ก่อนการประกาศปิดศูนย์การค้าในกรุงเทพฯ 1 วัน) สะท้อนให้เห็นว่าสถานการณ์การระบาดของไวรัส COVID-19 มีผลต่อตลาดแรงงาน โดยมีรายละเอียดที่น่าสนใจดังนี้
ตำแหน่งงานพาร์ตไทม์กระทบหนัก
หากแบ่งการสำรวจตามประเภทการจ้างงาน คือ พนักงานประจำ กับ พนักงานพาร์ตไทม์ พบว่าตำแหน่งงานของพนักงานพาร์ตไทม์ที่รับสมัครใหม่ลดน้อยลงมากกว่าตำแหน่งของพนักงานประจำ โดยตำแหน่งพาร์ตไทม์ที่รับสมัครใหม่ลดลงไปถึง 55.4% หรือมากกว่าครึ่งหนึ่ง และลดมากกว่าค่าเฉลี่ย 37.4% ดังกล่าวข้างต้น (ทั้งนี้ ตำแหน่งงานพาร์ตไทม์คิดเป็นเพียง 0.8% ของตำแหน่งงานทั้งหมดใน JobsDB)
ยิ่งเงินเดือนต่ำยิ่งรับสมัครน้อยลงมาก
ถ้าแบ่งการสำรวจตามอัตราเงินเดือน พบว่า ยิ่งอัตราเงินเดือนอยู่ในระดับต่ำจะยิ่งมีประกาศรับสมัครงานลดลงมาก กลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากกว่าค่าเฉลี่ยของตลาด คือกลุ่มอัตราเงินเดือนต่ำกว่า 15,000 บาท ตำแหน่งรับสมัครงานลดลงไป 50.9% และกลุ่มอัตราเงินเดือน 15,000-30,000 บาท ตำแหน่งรับสมัครงานลดลง 44.1% ส่วนกลุ่มที่กระทบน้อยที่สุดคือตำแหน่งที่มีอัตราเงินเดือนมากกว่า 100,000 บาท จำนวนตำแหน่งงานรับสมัครลดลง 26.8%
SCB EIC วิเคราะห์ว่า เนื่องจากกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว ค้าปลีก-ค้าส่ง เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบสูงจากไวรัสระบาด และธุรกิจเหล่านี้มีการจ้างงานพนักงานในระดับเงินเดือนไม่สูงจำนวนมาก ทำให้กลุ่มนี้เป็นผู้ได้รับผลกระทบ
ท่องเที่ยว-ยานยนต์อ่วมสุด
ถัดมาเป็นการประเมินจากภาคธุรกิจที่รับสมัครงานน้อยลงหนักที่สุด โดย SCB EIC ระบุว่างานในสาขาธุรกิจต่างๆ ส่วนใหญ่ลดการรับสมัครงานใหม่ลงเกิน 20% ยกเว้นองค์กรภาครัฐ/องค์กรอิสระที่ยังมีการประกาศรับเพิ่มขึ้น 25%
10 ภาคธุรกิจที่รับสมัครงานลดลงมากที่สุด ณ เดือนเมษายน’63
- ธุรกิจท่องเที่ยว -63.0%
- ผลิตรถยนต์ -58.9%
- ค้าส่ง-ค้าปลีก -48.0%
- ธุรกิจบริการด้านสุขภาพ -42.3%
- ก่อสร้าง -42.1%
- อสังหาริมทรัพย์ -40.0%
- โทรคมนาคม -39.9%
- อาหารและเครื่องดื่ม -30.5%
- อิเล็กทรอนิกส์ -24.7%
- ธุรกิจไอที -23.8%
SCB EIC สรุปภาวะการจ้างงานใหม่ที่ลดลงอย่างรุนแรงภายในเวลาอันสั้นเพียง 1 เดือน ถือเป็นสัญญาณสะท้อนภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจ และยังประเมินด้วยว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มจะฟื้นตัวช้า ทำให้ตลาดแรงงานน่าจะยังซบเซาต่อไปอีกระยะหนึ่ง สำหรับแรงงานที่ว่างงานขณะนี้และบัณฑิตจบใหม่จะกระทบมากที่สุด และการปรับขึ้นเงินเดือนระยะต่อไปจะมีข้อจำกัด
ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ Positioning รายงานข้อมูลตำแหน่งงานรับสมัครใหม่จาก JobThai อีกหนึ่งเว็บไซต์ประกาศรับสมัครงาน โดยเป็นข้อมูลเดือนมีนาคม 2563 พบว่าตำแหน่งงานใหม่ลดลงเกือบ 10% จากเดือนก่อนหน้า แสดงให้เห็นว่าสถานการณ์ตลาดแรงงานเริ่มซบเซาตั้งแต่เดือนมีนาคมและเข้าสู่วิกฤตในเดือนเมษายน เป็นไปตามภาวะโรคระบาดซึ่งเดือนเมษายนเป็นช่วงที่เริ่มประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วประเทศแล้ว