เทียบฟอร์มอสังหาฯ ‘ไทย-อาเซียน’ ประเทศไหนเจ็บจาก COVID-19 กว่ากัน

การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ปัจจุบันส่งผลกระทบไปทั่วโลก รวมถึงประเทศในแถบภูมิภาคอาเซียนด้วย โดยภาคอสังหาริมทรัพย์ถือเป็นอีกหนึ่งภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างมาก ส่งผลให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในภูมิภาคมีการปรับตัวเพื่อตอบรับความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นี้ โดย DDproperty.com เว็บไซต์กลางซื้อ-ขายอสังหาริมทรัพย์และเว็บไซต์ในเครือพร็อพเพอร์ตี้กูรู กรุ๊ป ในสิงคโปร์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ได้จัดทำรายงานและวิเคราะห์ความเคลื่อนไหวเพื่อเป็นแนวทางให้ทั้งผู้บริโภคและผู้ประกอบการได้พิจารณาในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19

ราคาอสังหาฯ ไทย ลดลง 9% ในรอบ 1 ปี

ตลาดอสังหาริมทรัพย์ของไทยในปี 2563 มีแนวโน้มชะลอตัวลง โดยมีสัญญาณมาตั้งแต่ปลายปี 2562 ที่ราคาและอุปทานลดลงอย่างต่อเนื่อง จากปัจจัยท้าทายหลายด้านทั้งสภาพเศรษฐกิจที่ยังชะลอตัว หนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง และยิ่งเห็นได้ชัดเมื่อการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 โดยดัชนีราคาในไตรมาสแรกของปี 2563 ลดลง 1% จากไตรมาสก่อนหน้า และลดลงถึง 9% ในรอบ 1 ปี ส่วนดัชนีอุปทานแม้จะยังทรงตัว แต่ก็ลดลง 3% ในรอบ 1 ปี

แม้ว่าตลาดอสังหาฯ ชะลอตัว ส่งผลให้ราคาคอนโดมิเนียม และทาวน์เฮาส์ ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับโปรโมชันต่าง ๆ ที่ออกมาเพื่อเร่งระบายสินค้าคงค้าง จึงเป็นโอกาสที่ดีที่จะได้สินค้าในราคาที่เหมือนกับช่วงเปิดตัวโครงการ นอกจากจะเหมาะแกการซื้ออาศัยเองแล้ว ยังเหมาะกับการลงทุน เนื่องจากราคาอสังหาฯ มีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้นอีกเมื่อสถานการณ์กลับมาเป็นปกติ โดยเฉพาะสินค้าระดับกลาง-บน

ทั้งนี้ หากดูตัวเลขการใช้งานเว็บไซต์ DDproperty.com พบว่ามีการเข้าชมและทำการค้นหาต่อบนเว็บไซต์เพิ่มขึ้นถึง 8% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเคอร์ฟิว แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคยังคงให้ความสนใจอย่างต่อเนื่อง

อสังหาฯ สิงคโปร์ หดตัว 1% และจะลดอีกในไตรมาส 2

จากรายงาน PropertyGuru Singapore Property Market Index ฉบับล่าสุด พบว่า ดัชนีราคาลดลง 1.1% ในไตรมาสแรกของปี 2563 สอดคล้องกับข้อมูลจาก Urban Redevelopment Authority ที่ระบุว่าราคาอสังหาฯ ที่ไม่ใช่ที่ดินและคอนโดมิเนียมจะปรับตัวลดลง 1% และผู้ประกอบการอสังหาฯ จำนวนมากมีแนวโน้มที่จะลดราคาอสังหาฯ ลงอีกในไตรมาสที่ 2 หากสถานการณ์ชัตดาวน์ประเทศสิงคโปร์ยังยืดเยื้อ

อย่างไรก็ดี ภาคธุรกิจในประเทศส่วนใหญ่ไม่หวั่นวิตกกับสถานการณ์การแพร่ระบาดมากนัก เนื่องจากเชื่อมั่นในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล รวมทั้งความแข็งแกร่งของภาคอสังหาฯ ที่มีการออกมาตรการคุมภาระหนี้ต่อรายได้ (TDSR) และ มาตรการกำกับควบคุมการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัย (LTV)

Photo : ROSLAN RAHMAN / AFP

อสังหาฯ มาเลเซีย ปรับขึ้น สวนทางความต้องการที่ลดลง

ภาพรวมตลาดอสังหาฯ ยังคงรักษาการเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งต่อเนื่องมาจากไตรมาสแรกของปี 2563 โดยวัดได้จากดัชนีราคาที่เพิ่มขึ้น สอดคล้องกับรายงาน PropertyGuru Malaysia Property Market Index ฉบับล่าสุด ที่พบว่า ดัชนีราคาในไตรมาสแรกของปี 2563 ปรับตัวขึ้นราว 0.63% แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคยังมองอสังหาฯ ว่าเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดหากต้องการสร้างความมั่นคง สวนทางกับจำนวนอุปทานใหม่ที่ลดลงถึง 10.47% ซึ่งลดลงมากสุดในรอบ 3 ปี

อินโดนีเซีย อสังหาฯ ยังโต

จากรายงาน Rumah.com Indonesia Property Market Index ฉบับล่าสุดชี้ให้เห็นว่า ปี 2563 จะเป็นปีแห่งการฟื้นฟูภาคอสังหาฯ เนื่องจากการสนับสนุนของภาครัฐฯ ที่ออกนโยบายผ่อนปรนมาตรการ LTV สำหรับผู้ซื้อบ้านหลังที่สอง ซึ่งเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับผู้ประกอบการอสังหาฯ นักลงทุน และภาคธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องมากขึ้น

อย่างไรก็ดี จากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศชะลอตัวตั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นมา ทางด้านภาคอสังหาฯ ในไตรมาสแรกของปี 2563 พบว่า มีจำนวนอุปทานใหม่ลดลง สวนทางการเติบโตของความต้องการซื้อ ทำให้ผู้ที่ขับเคลื่อนตลาดอสังหาฯ ของอินโดนีเซียในไตรมาสที่ผ่านมาเป็นกลุ่มผู้บริโภค

จุดร่วม New Normal คือใช้เทคโนโลยี

แม้ว่าแต่ละประเทศจะมีเติบโตและหดตัว แต่จุดร่วมที่เห็นคือ การปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจและการให้บริการของภาคอสังหาฯ​ ที่หันมาสร้าง ‘New Normal’ ให้เกิดขึ้น ถือเป็นการพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสได้ โดยใช้โอกาสนี้เข้าถึงลูกค้าและการเข้าถึงผู้บริโภคผ่านการนำเทคโนโลยีและแพลตฟอร์มออนไลน์มาประยุกต์ใช้

“ผู้ประกอบการอสังหาฯ หลายรายต้องพับแผนในการเปิดตัวโครงการใหม่ การก่อสร้างหยุดชะงัก งานแสดงบ้านระดับบิ๊กอีเวนต์ที่ไม่สามารถจัดขึ้นได้ แต่ผู้ประกอบการในอาเซียนต่างเห็นตรงกันว่า กุญแจสำคัญที่ทำให้รอดพ้นวิกฤติคือการวางแผนการเงินสำรองฉุกเฉิน การทำแผนตลาดให้มีความยืดหยุ่น และยกระดับด้วยเทคโนโลยี ซึ่งอาจจะมีอีกหลากหลายคำตอบที่ใช้เอาชนะความท้าทายต่าง ๆ ได้ เพียงแค่ต้องบริหารจัดการให้เหมาะสม” กมลภัทร แสวงกิจ ผู้จัดการใหญ่ประจำประเทศไทย ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ ในเครือพร็อพเพอร์ตี้กูรู กรุ๊ป กล่าว