จับความเคลื่อนไหว “อสังหาฯ” Q1/63 “COVID-19” ทุบรายได้-กำไรหล่น 30-35%

สำรวจผลประกอบการ 8 บริษัทอสังหาฯ ในตลาดหลักทรัพย์ฯ พบรายได้ไตรมาส 1 ปี 2563 ลดลงเฉลี่ย 30% และกำไรสุทธิลดเฉลี่ย 35% เหตุผลทั้งเป็นผลประกอบการจากฐานที่สูงมากของปีที่แล้ว และผลกระทบเศรษฐกิจ COVID-19 ซ้ำเติม “เสนาฯ-ออริจิ้น” ถึงรอบโอนคอนโดฯ ลอตใหญ่ช่วยกู้สถานการณ์ ขณะที่ “พฤกษา” มองเป็นสถานการณ์ที่ “ดีกว่าที่คาด”

Positioning สำรวจผลประกอบการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยยก 8 บริษัททั้งขนาดใหญ่จนถึงขนาดกลางเป็นตัวอย่างสภาวะตลาด พบว่ารายได้ไตรมาส 1 ปี 2563 บริษัทอสังหาฯ มีรายได้ลดลงเฉลี่ย -30% ด้านกำไรสุทธิลดลงเฉลี่ย -35% (ดูตารางด้านล่างประกอบ)

โดยบริษัทที่ทำรายได้ได้ดีที่สุดในแง่ของการเติบโตคือ บมจ.ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ โดยมีรายได้เติบโต 13% จากช่วงเดียวกันปีก่อน สวนทางกับตลาดรวม ขณะที่ผลกำไรสุทธิ บมจ.เสนาดีเวลลอปเมนท์ ทำได้ดีที่สุดคือมีกำไรเพิ่มขึ้น 45% จากช่วงเดียวกันปีก่อน

ในทางตรงข้าม บริษัทขนาดกลางอย่าง บมจ.ริชี่ เพลซ 2002 อยู่ในสถานการณ์ที่ค่อนข้างหนัก โดยมีรายได้ลดลง -47% และกำไรสุทธิลดลงมากถึง -70%

เทียบฐานสูงของปี’62 ทำให้ตัวเลขดูเลวร้ายกว่าที่ควร

สำหรับคำอธิบายถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น หลายบริษัทอธิบายว่า รายได้และกำไรของ Q1/63 เมื่อถูกนำไปเปรียบเทียบกับ Q1/62 จะเป็นการเทียบที่ค่อนข้าง “ผิดฝาผิดตัว”

เพราะไตรมาส 2 เมื่อปีก่อนนั้นเป็นไตรมาสที่ภาคอสังหาฯ สร้างผลประกอบการได้ดีเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากเป็นโค้งสุดท้ายก่อนที่รัฐจะเริ่มบังคับใช้มาตรการเข้มงวดอัตรา LTV ที่ใช้คำนวณสินเชื่อบ้าน และจะทำให้ลูกค้ามีโอกาสกู้บ้านได้ในวงเงินที่ต่ำลงกว่าเดิม

ส่งผลให้ลูกค้าหลายรายเร่งตัดสินใจซื้อและโอนบ้าน-คอนโดฯ ให้เรียบร้อยใน Q1/62 เพื่อหนีมาตรการเข้มงวด LTV จึงได้เห็นหลายบริษัททำรายได้-กำไรพุ่ง 25-40% ในไตรมาสดังกล่าว มาถึงปีนี้ การเปรียบเทียบจึงเป็นการเทียบกับฐานที่สูงผิดปกติอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่า COVID-19 จะไม่มีผล เพราะทุกบริษัทต่างกล่าวถึงผลประกอบการที่ลดลงว่าเกิดจากภาวะเศรษฐกิจและโรคระบาด

 

อานิสงส์คอนโดฯ ถึงรอบโอนกรรมสิทธิ์

สำหรับบางบริษัทที่ยังทำรายได้หรือกำไรเติบโต จะพบว่ามาจากการโอนกรรมสิทธิ์คอนโดฯ ในไตรมาสแรก เช่น บมจ.เสนาดีเวลลอปเม้นท์ ที่แม้ว่าจะทำรายได้ไตรมาสแรกที่ 976 ล้านบาท ลดลง -12% แต่กำไรสุทธิอยู่ที่ 227 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 45% ที่บรรทัดสุดท้ายของเสนาฯ สูงขึ้นมากเนื่องจากคอนโดฯ ร่วมทุน “นิช โมโน สุขุมวิท แบริ่ง” สร้างเสร็จพร้อมโอน และส่งกำไรกลับมาที่บรรทัดสุดท้ายของบัญชี

นิช โมโน สุขุมวิท-แบริ่ง

รวมถึง บมจ.ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ ที่ทำรายได้ 3,394 ล้านบาท เติบโต 13% แม้ว่ากำไรสุทธิ 595 ล้านบาท จะลดลง -17% แต่ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดีกว่าบริษัทอื่นๆ เนื่องจากคอนโดฯ ร่วมทุน 2 แห่ง คือ “ไนท์บริดจ์ ไพร์ม รัชโยธิน” และ “ไนท์บริดจ์ คอลลาจ รามคำแหง” สร้างเสร็จและเริ่มรับรู้กำไรเข้ามา

 

พฤกษามอง “ดีกว่าที่คาด”

ด้าน บมจ.พฤกษา โฮลดิ้ง อสังหาฯ รายใหญ่ของวงการ ทำรายได้ 7,176 ล้านบาท ลดลง -40% และกำไรสุทธิ 922 ล้านบาท ลดลง -45% แม้ตัวเลขจะลดลงไปเกือบครึ่ง แต่ “สุพัตรา เป้าเปี่ยมทรัพย์” ซีอีโอ บมจ.พฤกษา เรียลเอสเตท มองว่าภาพรวมธุรกิจยังอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพึงพอใจกว่าที่คาด พร้อมอ้างอิงยอดขายใหม่ของ 5 โครงการพฤกษาที่เปิดตัวช่วงไตรมาสแรกว่ามีอัตรายอดขาย (Take Up Rate) ที่ 25% สูงกว่าในตลาดซึ่งอยู่ที่เฉลี่ย 16%

อย่างไรก็ตาม ไตรมาสแรกของปีนั้นได้รับผลกระทบจาก COVID-19 เพียงเดือนเดียว และส่วนใหญ่ยังเป็นช่วงเริ่มต้นของการระบาด ขณะที่การเริ่มล็อกดาวน์ศูนย์การค้าและแหล่งชุมนุมชน พร้อมกับการบังคับใช้สถานการณ์ฉุกเฉิน จะปรากฏผลอย่างเต็มที่ในไตรมาส 2

ทำให้ช่วงที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าภาคอสังหาฯ งัดกลยุทธ์การขายและโปรโมชันมาใช้ในทิศทางเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นการเยี่ยมชมโครงการและจองบ้านแบบออนไลน์ต้อนรับวิถีชีวิตคนกักตัวอยู่กับบ้าน ไปจนถึงการลดราคากระหน่ำ จัดโปรฯ “ผ่อนให้” ลูกค้าในช่วง 2-3 ปีแรกเพื่อบรรเทาความกังวลใจทางเศรษฐกิจ

ต้องรอติดตามในไตรมาสนี้ว่าการจูงใจด้วยโปรโมชันสำหรับ “บ้าน” อันเป็นปัจจัยสี่แต่เป็นของหนักตัดสินใจยาก จะได้ผลหรือไม่ ท่ามกลางเศรษฐกิจ COVID-19