COVID-19 : การระบาดระลอกสองเกิดขึ้นหรือยัง และจะมาเมื่อไหร่?

Photo : Shutterstock
หลังประเทศต่างๆ รอบโลกเริ่มผ่อนคลายการล็อกดาวน์และกฎการเว้นระยะห่างทางสังคม บางพื้นที่จึงเกิดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอีกครั้ง แต่คำถามก็คือ ต้องเกิดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นมากแค่ไหน นานแค่ไหน และเป็นวงกว้างแค่ไหน จึงจะเรียกได้ว่าเป็นการระบาดระลอกสองของโรค COVID-19 และผู้เชี่ยวชาญคาดว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่

ในสหรัฐอเมริกา เคสผู้ติดเชื้อรายใหม่เริ่มลดลงจนเหลือประมาณ 20,000 รายต่อสัปดาห์ ก่อนจะกลับขึ้นมาพุ่งขึ้นอีกเมื่อเร็วๆ นี้ สหรัฐฯ รายงานพบจำนวนผู้ติดเชื้อถึง 40,000 คนเฉพาะในวันที่ 25 มิถุนายน 2020 เพียงวันเดียว นับเป็นวันที่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่มากที่สุดตั้งแต่เกิดโรคระบาดในสหรัฐฯ มา

วันเดียวกันนั้น ฮานส์ คลูจ ผู้อำนวยการประจำภูมิภาคยุโรปของ องค์การอนามัยโลก (WHO) แถลงว่าประเทศ 30 ประเทศในยุโรปพบเคสผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา เพราะเริ่มผ่อนคลายล็อกดาวน์ โดยมี 11 ประเทศในจำนวนดังกล่าวที่มี “การเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ” ของเคสผู้ติดเชื้อ ทั้งนี้ คลูจขอสงวนการระบุชื่อประเทศ

Photo : Shutterstock

อย่างไรก็ตาม กลุ่มผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า จะประกาศว่าพื้นที่เหล่านี้มีการระบาดระลอกสองได้หรือยังนั้นยังไม่แน่ชัด เนื่องจากนิยามของ “ระลอกสอง” ก็ยังไม่ชัดเจนเช่นกัน

“แอนโธนี ฟอซี” ผู้อำนวยการสถาบันภูมิแพ้และโรคติดต่อแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา ให้สัมภาษณ์กับ The Washington Post เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2020 ว่า สหรัฐฯ ยังถือว่าเป็นการระบาดรอบแรกอยู่ แม้ว่าจะเห็นจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลงและกลับเพิ่มขึ้นในเวลาที่แตกต่างกัน และเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ของประเทศก็ตาม

 

ไม่น่าจะเกิดจากการกลายพันธุ์ แต่เกิดจากคนเปลี่ยนพฤติกรรม

ด้าน “จอห์น แมทธิวส์” ศาสตราจารย์เกียรติคุณด้านสุขภาวะโลกและประชากร มหาวิทยาลัยเมลเบิร์น กล่าวว่า “การระบาดระลอกสอง” ตามปกติแล้วจะหมายถึง สภาวะที่โรคมีการระบาดลดลงอย่างรวดเร็ว ตามด้วยการกลับมาระบาดซ้ำสูงอย่างกะทันหัน

“แต่ไม่เคยมีใครให้คำนิยามการวัดสเกลอย่างชัดเจนว่าเท่าไหร่จึงจะเรียกว่าระบาดรอบสอง ไม่ว่าจะเป็นนิยามของช่วงเวลา พื้นที่ หรือจำนวนผู้ติดเชื้อ” แมทธิวส์กล่าวและเสริมว่า นิยามของระลอกสองยังคงคลุมเครือ และไม่ควรมีใครใช้คำนี้อย่างไม่ระมัดระวัง

การระบาดระลอกสองมักจะถูกเชื่อมโยงเข้ากับการระบาดของ ไข้หวัดใหญ่สเปน เมื่อปี 1918 ซึ่งทำให้มีผู้ติดเชื้อ 500 ล้านคน และเสียชีวิต 50 ล้านรายทั่วโลก ความร้ายแรงของมันเกิดจากการระบาดรอบสองซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่ารอบแรก และมาเกิดขึ้นเอาหลายเดือนหลังจากรอบแรกผ่านไปแล้ว รวมถึงยังมีระลอกที่สามตามมาอีกในหลายประเทศช่วงปี 1919

photo: Shutterstock

แมทธิวส์กล่าวว่า การระบาดระลอกสองของไข้หวัดใหญ่แบบนี้มักจะเกิดจาก การเปลี่ยนแปลงของตัวไวรัสเอง หรือ การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคน ซึ่งในกรณีของไข้หวัดสเปน 1918 คาดว่าเกิดจากการเปลี่ยนในตัวไวรัสเอง เนื่องจากประชากรจำนวนหนึ่งเริ่มสร้างภูมิคุ้มกันได้ ทำให้ไวรัสไข้หวัดใหญ่เริ่มพัฒนาตนเองเพื่อ “หลีกเลี่ยงระบบภูมิคุ้มกัน” และกลับมาทำให้คนติดเชื้ออีกครั้ง

“เราไม่คิดว่าสิ่งนี้จะเกิดขึ้นกับไวรัสโคโรนาเร็วๆ นี้” เขากล่าว เนื่องจากปริมาณประชากรที่มีภูมิคุ้มกันยังต่ำอยู่ เปรียบเทียบกับทฤษฎีว่าจะต้องมีประชากรที่มีภูมิคุ้มกัน 60-70% นั่นหมายถึงต้องมีการคิดค้นวัคซีนได้ก่อน และเมื่อประชากรมีภูมิคุ้มกันสูงขึ้น จะบีบบังคับให้ไวรัสต้องหยุดการแพร่ระบาดหรือกลายพันธุ์

เมื่อมาดูสถานการณ์ปัจจุบัน ประชากรส่วนใหญ่ยังอ่อนแอต่อโรค COVID-19 ดังนั้นตัวแปรที่อาจทำให้เกิดการระบาดระลอกสองจึงเป็น “การเปลี่ยนพฤติกรรมของคน” ซึ่งมาจากการบังคับใช้กฎเกณฑ์ของรัฐบาลแต่ละประเทศ

 

“มาแน่” แค่จะมาเมื่อไหร่

“ฮันนาห์ แคลปแฮม” นักระบาดวิทยาและผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านสาธารณสุข มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ เห็นด้วยว่า ปัจจัยสำคัญในการระบาดนี้คือนโยบายด้านสาธารณสุขที่ใช้ตอบโต้การพุ่งขึ้นของจำนวนผู้ติดเชื้อ

นิยามการระบาดระลองสองสำหรับแคลปแฮมนั้น เธอมองว่าไม่ใช่การพบเคสผู้ติดเชื้อพุ่งขึ้นสูงในวันเดียว แต่เป็นการเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ของเคสอย่างต่อเนื่อง และพื้นที่นั้นจะตอบโต้อย่างไรในเชิงนโยบายสาธารณสุขเพื่อควบคุมการติดต่อ

ผู้เชี่ยวชาญบางส่วนกังวลว่าประวัติศาสตร์ไข้หวัดสเปน 1918 จะกลับมาอีกครั้ง “เกือบจะแน่ใจได้เลยว่าการระบาดระลองสองต้องเกิดขึ้น หากยังไม่มีวัคซีนป้องกันเมื่อถึงจุดนั้น” กาเบรียล เหลียง คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮ่องกง กล่าวบนเวทีสัมมนาออนไลน์เมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา

“ระหว่างช่วงกลางถึงปลายฤดูใบไม้ร่วง น่าจะเกิดวิกฤตอีกครั้งหนึ่ง” เขากล่าว (*อยู่ในช่วงราวกลางเดือนตุลาคมถึงเดือนพฤศจิกายน)

Source