สิงห์ เอสเตท บริษัทอสังหาฯ ตระกูลภิรมย์ภักดีที่เติบโตรวดเร็วจากการไล่ล่าซื้อกิจการโรงแรมและออฟฟิศ เผชิญผลกระทบระยะสั้นจาก COVID-19 ยอมรับต้องลดเป้ารายได้ปี 2563 เหลือ 9,000 ล้านบาท ส่วนแผนระยะยาวของบริษัทที่จะลงทุนพัฒนาและซื้อกิจการอีก 6.8 หมื่นล้านช่วงปี 2563-67 บริษัทยังยืนยันตัวเลขเดิม เพียงแต่มีการปรับกลยุทธ์บางส่วนเพื่อลดความเสี่ยง
“นริศ เชยกลิ่น” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.สิงห์ เอสเตท นำทีมผู้บริหารชี้แจงผลกระทบจากวิกฤต COVID-19 และทิศทางของบริษัทต่อจากนี้ ทั้งช่วงปี 2563 และแผนระยะยาว
สำหรับผลกระทบระยะสั้น ปีนี้สิงห์ เอสเตทมีการปรับเป้าหมายรายได้ลงจากเดิม 2 หมื่นล้านบาท เหลือเพียง 9,000 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากธุรกิจที่อยู่อาศัยเพื่อขายและออฟฟิศบิลดิ้ง (ไม่รวมตึกซันทาวเวอร์สซึ่งขายเข้ากองรีทไปแล้ว) มูลค่ารวม 5,000 ล้านบาท และรายได้จากธุรกิจโรงแรม 4,000 ล้านบาท
หากย้อนกลับไปมองเป้าหมายเดิมเมื่อต้นปีของสิงห์ เอสเตท จะเห็นได้ว่า ธุรกิจโรงแรมได้รับผลกระทบหนัก จากเดิมตั้งเป้ารายได้ไว้ 6,500-7,000 ล้านบาท สะท้อนวิกฤต COVID-19 ทำให้รายได้กลุ่มนี้หายไปประมาณ 40% รวมถึงธุรกิจที่อยู่อาศัยเพื่อขาย เดิมตั้งเป้ารายได้ 9,000-12,000 ล้านบาท เป้าหมายใหม่มีการลดรายได้ส่วนนี้ไปกว่าครึ่งหนึ่ง
โรงแรมเผชิญวิกฤตหนัก
สถานการณ์โรคระบาด COVID-19 นั้นมีผลกับสิงห์ เอสเตทค่อนข้างหนักหน่วง เพราะรายได้ราว 35% ของบริษัทมาจากธุรกิจโรงแรมซึ่งได้รับผลกระทบทางตรง ต้องปิดดำเนินการโรงแรมเกือบทุกแห่งทุกประเทศคือ ไทย อังกฤษ มัลดีฟส์ ฟิจิ และมอริเชียส มาตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2563 ก่อนทยอยเปิดให้บริการในเดือนนี้ ทำให้อัตราเข้าพักช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ตกรุนแรงโดยลดไปถึง 50-80%
และแม้จะกลับมาดำเนินการได้ก็ยังยากลำบาก โดยเฉพาะโรงแรมในไทยและมัลดีฟส์ เพราะยังไม่ใช่ฤดูท่องเที่ยว ดังนั้น นริศจึงคาดว่า ธุรกิจโรงแรมจะฟื้นตัวได้อีกครั้งในไตรมาส 4 รวมถึงต้องปรับเป้าหมายลูกค้าเป็นนักท่องเที่ยวในภูมิภาคเดียวกันมากกว่าหวังนักท่องเที่ยวจากทวีปอื่น อย่างไรก็ตาม ในแง่การทำราคาแข่งขัน บริษัทมองว่าจะไม่ใช้โปรโมชันลดราคาดึงดูดแต่จะเน้นโปรฯ “แถม” มากกว่า เช่น พัก 2 คืนแถม 1 คืน
ส่วนภาพระยะยาว ซีอีโอสิงห์ เอสเตทมองว่าการท่องเที่ยวทั่วโลกจะฟื้นกลับมาได้เร็ว คาดว่าปี 2564 จะกลับมาเป็นปกติ เพราะลูกค้ายังมีดีมานด์ท่องเที่ยวเช่นเดิม เพียงแต่จะปรับวิธีการจอง อย่างที่เห็นช่วงนี้ลูกค้าจะไม่จองล่วงหน้านาน การวางแผนเที่ยวจะกระชั้นชิดมากขึ้น
เลื่อนคอนโดฯ ไปปีหน้า ออฟฟิศกระทบน้อยสุด
ด้านที่อยู่อาศัยเพื่อขาย นริศกล่าวว่าบริษัทตัดสินใจลดการเปิดโครงการใหม่จาก 6 โครงการเหลือ 3-4 โครงการ (รวมโครงการของเนอวานาไดอิ บริษัทในเครือแล้ว) โดยต้นปีเปิดตัวคอนโดฯ The Extro พญาไท-รางน้ำไปโครงการเดียว ส่วนที่เหลือจะเป็นโครงการแนวราบทั้งหมด คอนโดฯ ที่มีแผนอยู่เดิมจะถูกเลื่อนไปปีหน้า เนื่องจากขณะนี้ตลาดคอนโดฯ เริ่มขายยาก
ธุรกิจคอนโดฯ เป็นอีกพอร์ตหนึ่งที่ COVID-19 มีผลกระทบ เพราะก่อนหน้านี้ ลูกค้าสำคัญของสิงห์ เอสเตทกลุ่มหนึ่งคือ นักลงทุนต่างชาติ เช่น สิงคโปร์ จีน ฮ่องกง เมื่อประเทศไทยปิดน่านฟ้า การบินเข้ามาชมโครงการ หรือมาตรวจรับห้องเพื่อโอนกรรมสิทธิ์ จึงทำไม่ได้โดยปริยาย
ขณะที่ธุรกิจออฟฟิศบิลดิ้งดูจะปาดเหงื่อน้อยที่สุดในชั่วโมงนี้ เดิมคาดว่าจะทำรายได้ให้บริษัท 1,000 ล้านบาท หลังเผชิญโรคระบาด นริศมองว่า รายได้ส่วนนี้จะลดไป 5-10% เท่านั้น เพราะผู้เช่าที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาดจนอาคารต้องลดค่าเช่าเพื่อช่วยเหลือลูกค้านั้นมีไม่มาก ได้แก่กลุ่มธุรกิจการบิน ท่องเที่ยว บริษัทที่ปรึกษา จนถึงผู้เช่าพื้นที่รีเทลของตึกที่ต้องหยุดกิจการระยะหนึ่ง อีกทั้งบางธุรกิจ เช่น อีคอมเมิร์ซ กลับมีโอกาสทำรายได้มากขึ้นจนขยายกิจการขอเช่าพื้นที่เพิ่มด้วย (ปัจจุบัน Shopee มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ตึกสิงห์ คอมเพล็กซ์)
ลงทุนแน่แต่ปรับกลยุทธ์ใหม่
สำหรับแผนระยะยาว 5 ปี (2563-67) ของสิงห์ เอสเตท ที่จะลงทุนมูลค่า 6.8 หมื่นล้านบาท รวมทั้งโครงการพัฒนาเองและเข้าซื้อกิจการ นริศยังยืนยันเม็ดเงินลงทุนแต่ละกลุ่มธุรกิจตามเดิม (อ่านแผนลงทุน 5 ปีของสิงห์ เอสเตทย้อนหลังได้ที่นี่) อย่างไรก็ตาม แต่ละธุรกิจจะมีการปรับในรายละเอียด เพื่อความเหมาะสมกับสถานการณ์ตลาดปัจจุบัน ดังนี้
ธุรกิจที่อยู่อาศัย – ยังคงเน้นพัฒนาโครงการระดับบนเป็นหลัก แต่จะเปลี่ยนมาเน้นโครงการแนวราบและมิกซ์ยูสมากขึ้น
ธุรกิจออฟฟิศบิลดิ้ง – มองหาโครงการ co-working space เพิ่มขึ้น ตอบรับความต้องการผู้บริโภคยุคนี้ รวมถึงอาจจะพิจารณาอาคารสำนักงานตามแนวรถไฟฟ้าแต่อยู่นอกเขตซีบีดีมากกว่าเดิม เนื่องจากวิกฤตโรคระบาดทำให้ไลฟ์สไตล์การทำงานเปลี่ยน อาจจะไม่ต้องเข้าออฟฟิศทุกวัน และออฟฟิศไม่จำเป็นต้องอยู่กลางเมืองแต่เดินทางสะดวกด้วยรถไฟฟ้าก็เพียงพอ
ธุรกิจโรงแรม – บริษัทยังยืนยันการลงทุนโรงแรมในทำเลแหล่งท่องเที่ยวระดับโลก เพราะเชื่อว่าการท่องเที่ยวจะฟื้นอย่างรวดเร็ว
อย่างไรก็ตาม จะเปลี่ยนกลยุทธ์มาเน้น ‘Asset Light Model’ นั่นคือ การซื้อกิจการอาจไม่เข้าถือหุ้น 100% หรือเป็นหุ้นส่วนหลักของกิจการนั้นๆ แต่สามารถเป็นหุ้นส่วนรองได้โดยเป็นหุ้นส่วนรองที่ดีลได้สิทธิทำสัญญาบริหารโรงแรมพ่วงด้วย ดังนั้น บริษัทจะเข้าไปเป็นพาร์ตเนอร์กับเจ้าของโรงแรมเดิม ในลักษณะช่วยเติมกระแสเงินสดและประสบการณ์บริหาร โดยเจ้าของเดิมยังทำงานร่วมกันอยู่
นอกจากนี้ โรงแรมที่ศักยภาพไม่ดีพอในพอร์ตอาจมีการขายออก และโรงแรมที่ศักยภาพดีจะขายเข้ากองรีทเพื่อ Recycle Capital นำเงินทุนกลับมาหมุนเวียนลงทุนรอบใหม่
นริศมองว่าวิธีนี้จะช่วยลดความเสี่ยงของบริษัท มีโอกาสได้ผลกำไรคืนจากการลงทุนมากกว่า และเจ้าของเดิมมีโอกาสตอบตกลงมากขึ้น เพราะเขายังไม่เสียกิจการไป
“Keep on the right way คือสิ่งที่เราบอกกับทีมงาน วิกฤตนี้คืออุปสรรคการเดินทางที่ทำให้เราเซไปบ้าง ออกนอกเส้นทางบ้าง แต่เราก็ยังไปในทิศทางที่ถูก” นริศกล่าวปิดท้าย