เปิดดีลใหญ่แห่งวงการค้าปลีกท่ามกลางวิกฤต COVID-19 หลัง Seven & i บริษัทเเม่ของร้านสะดวกซื้อที่เราคุ้นเคยอย่าง 7-Eleven ในญี่ปุ่น บรรลุข้อตกลงเข้าซื้อกิจการ Speedway ร้านสะดวกซื้อและสถานีบริการน้ำมันในอเมริกา ของ Marathon Petroleum ด้วยมูลค่า 2.1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 6.56 แสนล้านบาท)
ปัจจุบัน Seven & i เป็นผู้เล่นรายใหญ่ที่สุดในตลาดร้านสะดวกซื้อในอเมริกา ด้วยการขยายสาขากว่า 9,000 แห่ง ตามมาด้วยอันดับ 2 อย่าง Alimentation Couche-Tard เจ้าของร้าน Circle K จำนวน 8,000 สาขา เเละอันดับ 3 อย่าง Speedway ที่มีสาขาประมาณ 4,000 แห่ง
การรวมกันของเจ้าตลาดร้านสะดวกซื้ออันดับ 1 เเละ 3 ในครั้งนี้ เเม้จะมีมูลค่ามหาศาลเเต่ก็ถือว่าคุ้มค่า เพราะจะทำให้ Seven & i เป็นผู้นำธุรกิจค้าปลีกสัญชาติญี่ปุ่นที่มีอิทธิพลในประเทศที่มีเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่างสหรัฐฯ ด้วยจำนวนสาขาในสหรัฐฯ และแคนาดากว่า 14,000 แห่ง โดยคาดว่าจะสามารถปิดดีลได้ในไตรมาสแรกของปี 2021
“ร้าน 7-Eleven ในอเมริกาจะเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญที่สุดในการเติบโตของธุรกิจ เเละเป็นอีกก้าวในประวัติศาสตร์ที่จะทำให้เราขึ้นไปเป็นผู้ค้าปลีกระดับโลก” Ryuichi Isaka ประธานของ Seven & i ระบุ
มีการเปิดเผยถึงดีลดังกล่าว มาตั้งเเต่เดือนกุมภาพันธ์ พร้อมประเมินว่าจะมูลค่ามากถึง 2.2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เเต่ต้องมีการเจรจาเรื่องราคากันใหม่ เนื่องจากความกังวลด้านเศรษฐกิจที่ชะลอตัวเเละราคาน้ำมันที่ลดลงอย่างมาก จากการเเพร่ระบาดของ COVID-19
Seven & i เป็นเจ้าของร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven รวมถึงซูเปอร์มาร์เก็ตและห้างสรรพสินค้าในญี่ปุ่นและชาติอื่นๆ กว่า 69,000 สาขาทั่วโลก เริ่มวางเเผนเข้ามาเจาะตลาดชาวอเมริกัน หลังร้านสะดวกซื้อในญี่ปุ่นถึงจุด “อิ่มตัว” เเละมีการเเข่งขันสูงมากจากคู่เเข่งอย่าง Lawson เเละ แฟมิลี่มาร์ท
โดยจุดเด่นของ 7-Eleven ในญี่ปุ่นคือพัฒนาสินค้าของตัวเองจนได้รับความนิยม ส่วน Lawson มีชื่อเสียงด้านขนมหวาน ขณะที่แฟมิลี่มาร์ทพยายามที่จะพัฒนาธุรกิจใหม่ๆ ในร้านสะดวกซื้อ อย่างเช่นแอปฯ ชำระเงิน
อ่านต่อ : เร่งศึก “ร้านสะดวกซื้อ” ในญี่ปุ่น Itochu Corp จ่อซื้อหุ้น 100% ฮุบ “แฟมิลี่มาร์ท”
เเต่ความเเตกต่างระหว่างตลาดค้าปลีกในญี่ปุ่นเเละสหรัฐฯ นั้นยังมีอยู่มาก เช่น ในญี่ปุ่นจะร้านสะดวกซื้อ จะตั้งอยู่ทั่วไปในย่านชุมชน แต่ร้านสะดวกซื้อในสหรัฐฯ มักจะอยู่ใกล้กับปั๊มน้ำมัน
นอกจากนี้ จากวิกฤตประชากรในสังคมสูงวัยในญี่ปุ่น ทำให้เกิดการขาดเเคลนเเรงงานเเละมีข้อจำกัดในวิถีของธุรกิจที่ต้องเปิดตลอด 24 ชั่วโมง ขณะที่สหรัฐฯ ยังคงเป็นดินเเดนที่มีผู้บริโภคเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เเม้จะได้รับผลกระทบหนักจาก COVID-19 เเต่เป็นประโยชน์ต่อธุรกิจค้าปลีกในระยะยาว ด้วยการขยายตัวของอีคอมเมิร์ซในปัจจุบัน ทำให้ร้านสะดวกซื้อถูกมองว่าจะกลายเป็น “last mile” จุดที่จะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางสำหรับการส่งมอบพัสดุไปยังผู้บริโภค
- ร้านสะดวกซื้อในญี่ปุ่น เปิด “ไม่ถึง 24 ชั่วโมง” รับมือวิกฤตขาดแรงงาน
- ค้าปลีกในญี่ปุ่น เริ่มขยายเวลาเกษียณอายุการทำงานจาก 65 ปี เป็น 80 ปี รับวิกฤตสังคมสูงวัย
อย่างไรก็ตาม การเข้าซื้อกิจการ Speedway ที่เป็นร้านสะดวกซื้อและสถานีบริการน้ำมัน ยังมีอุปสรรคเเละมีความท้าทายรอยักษ์ค้าปลีกจากญี่ปุ่นอยู่มาก เพราะการมาของ “รถยนต์ไฟฟ้า” จะเปลี่ยนให้รถยนต์เครื่องยนต์สันดาปที่ขับเคลื่อนด้วยน้ำมันนั้น “ตกยุค” ซึ่ง Seven & i จะต้องมีการลงทุนอีกมาก เพื่อสร้างสถานีชาร์จไฟฟ้ารองรับผู้บริโภคในอนาคตด้วย
ที่มา : Nikkei Asian Review, Reuters