“ไปรษณีย์ไทย” ยุคซีอีโอใหม่ “ก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร” ตัดรายจ่ายไม่จำเป็น-เน้นจับมือพันธมิตร

ก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร มารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ ไปรษณีย์ไทย เมื่อเดือนมีนาคม 2563 โจทย์ใหญ่ที่ต้องเผชิญคือการแข่งขันในตลาดที่รุนแรงจน ปณท. อาจจะรักษาตำแหน่งมาร์เก็ตแชร์อันดับ 1 ไว้ไม่อยู่ คำตอบที่ก่อกิจมุ่งไปเพื่อแก้โจทย์นี้เป็นการตัดรายจ่ายไม่จำเป็นและหารายรับเพิ่มผ่านการจับมือพันธมิตร มากกว่าการลงไปแข่งขันสงครามราคา พร้อมเรียกร้องให้มีการกำกับการทุ่มตลาดของบริษัทคู่แข่ง ซึ่งอาจจะทำให้คนไทยเผชิญปัญหาแบบเดียวกับที่ Grab กลืนกิน Uber และเป็นผู้กำหนดราคา

เป็นครั้งแรกที่แม่ทัพคนใหม่ “ก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ออกพบปะสื่อมวลชนอย่างเป็นทางการ แต่เขาเป็นคนหน้าเก่าที่สื่อคุ้นเคยกันดีเพราะตำแหน่งก่อนหน้านี้คือ รองเลขาธิการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) รวมถึงเป็นซีอีโอ ปณท. คนแรกที่ไม่ใช่คนภายในมาก่อน

ก่อกิจฉายภาพก่อนว่า DNA ขององค์กรไปรษณีย์ไทยที่เป็นมาตลอด 137 ปี ตั้งแต่ยุคที่ยังเป็นกรมสู่รัฐวิสาหกิจ คือเป็นหน่วยงานที่คำนึงถึงประโยชน์สังคมเป็นหลัก แม้ปัจจุบันจะเผชิญการแข่งขันรุนแรงในตลาด แต่ ปณท. ยังต้องสร้างสมดุลทั้งการทำกำไรและบริการประชาชนด้วย

ในมุมของการทำกำไร จะเกิดขึ้นได้ต้องสมดุลทั้งสองทางคือ “ตัดรายจ่าย” และ “เพิ่มรายรับ” โดยก่อกิจกล่าวว่า อยู่บนฐานที่ท้าทายมาก เพราะองค์กรต้องปรับสิ่งเหล่านี้ให้เร็ว แต่เร็วมากก็ยากด้วยธรรมชาติของความเป็นรัฐวิสาหกิจ มีขั้นมีตอนในการจัดซื้อ และงบประมาณยังถูกวางไว้ล่วงหน้าถึง 2 ปีในโลกที่ปรับตัวกันเร็วกว่านั้น อย่างไรก็ตาม เขาก็ได้วางแผนสารพัดอย่างไว้ให้ ปณท. แล้ว ทั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นจริง และที่เป็นไอเดียที่ต้องการไปให้ถึง

 

ตัดรายจ่ายที่ “ไม่เพิ่มประสิทธิภาพ” การทำงาน

“โลกหลัง COVID-19 ทำให้เรายิ่งเห็นว่าต้องรักษากระแสเงินสด อย่าให้เป็นภาระกับชาติ อะไรไม่จำเป็น ไม่ได้สร้างผลตอบแทนกับบริษัทในระยะยาวก็ไม่ต้องทำ อย่างพวก hard asset โครงการก่อสร้างที่ทำการใหญ่แห่งใหม่ก็ไม่จำเป็น นำเงินไปลงทุนกับเรื่องดิจิทัลหรือเทคโนโลยีดีกว่า” ก่อกิจกล่าว

สิ่งแรกที่ก่อกิจลงมือทำในช่วงรับตำแหน่งซึ่งตรงกับช่วง COVID-19 ระบาด ทำให้บริษัทพิจารณาแผนลงทุนใหม่ ยกเลิกโครงการก่อสร้างที่ทำการสำนักงานใหญ่แห่งใหม่มูลค่า 3,000 ล้านบาททันที จะลดเหลือแค่การรีโนเวตอาคารเดิม

อาคารที่ทำการสำนักงานใหญ่ไปรษณีย์ไทย ถนนแจ้งวัฒนะ

งบลงทุนที่ยังใช้อยู่คือไปลงทุนกับเทคโนโลยี Sorting Belt สายพานคัดแยกพัสดุใหม่ 8 ไลน์ มูลค่ารวมประมาณ 1,200 ล้านบาท (ตามราคากลางจากการจัดทำทีโออาร์) เพื่อทำให้ทำงานคัดแยกได้เร็วขึ้น รับงานได้มากขึ้น ลดการใช้คนในจุดนี้ นำคนไปทำงานส่วนอื่นที่ยังต้องมีทักษะมนุษย์เกี่ยวข้อง

 

ตู้แดงติดเซ็นเซอร์ IoT ลดเวลาทำงานบุรุษไปรษณีย์

ไปรษณีย์ไทยยังจะมีการใช้เทคโนโลยี IoT ที่ “ตู้แดง” ในนามโครงการ “ตู้ไปรษณีย์ชาญฉลาด” เนื่องจากปัจจุบันมีบุคคลนำส่งไปรษณีย์ติดแสตมป์ทางตู้แดงน้อยลงมาก แต่พนักงานยังต้องไขตู้ 22,000 แห่งทุกวัน วันละ 2 เวลา ทั้งที่เป็นตู้ว่างเปล่า ทำให้ “เสียเวลาและพลังงานมาก”

เซ็นเซอร์ IoT นี้จะตรวจจับว่ามีผู้ส่งจดหมายนำจดหมาย/ไปรษณียบัตรมาส่งลงตู้หรือไม่ แล้วส่งสัญญาณบอกไปที่บุรุษไปรษณีย์ซึ่งจะมาไขตู้ว่าตู้นี้มีของรออยู่ ก่อกิจบอกว่า ขณะนี้ยังไม่มีการศึกษาว่าพนักงานพบตู้เปล่ามากแค่ไหน แต่เชื่อว่าการไม่ต้องไขทุกตู้และไม่ต้องออกไปทุกเวลาเหมือนเดิม จะช่วยลดค่าเสียโอกาสเรื่องเวลาได้มากกว่า 50% ทำให้นำพนักงานไปทำงานส่วนอื่นเพิ่มได้

ตู้ไปรษณีย์ชาญฉลาด ติดตั้งเซ็นเซอร์ IoT ไว้ในตู้เพื่อตรวจจับว่ามีจดหมายถูกหย่อนลงไปในตู้หรือไม่

ส่วนการลงทุนเซ็นเซอร์และระบบส่งสัญญาณนี้ ปณท.ร่วมกับหน่วยงาน บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT โดย ปณท. เช่าเซ็นเซอร์ราคาต่ำกว่า 100 บาทต่อตู้ต่อเดือน ปีนี้จะทดลองติดตั้งก่อนประมาณ 1,000 ตู้ในเขตกรุงเทพฯ และ CAT จะมีระยะให้ทดลองใช้ฟรีก่อนขยายไปติดตั้งทั่วประเทศ ดังนั้น ปณท.จึงไม่ต้องลงทุนสูงตั้งแต่แรก

 

หา “รายได้” เพิ่มผ่านการเป็น “ตัวกลาง”

ด้านการหารายได้ ปณท.ใช้ข้อได้เปรียบของการเป็นหน่วยงานรัฐในการเจรจากับรัฐด้วยกัน โครงการที่ทำมาแล้ว 3-4 เดือนคือ จับมือ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) 1,000 แห่งทั่วประเทศ รับส่งพัสดุยาประจำเดือนให้กับคนไข้ โดยคนไข้ไม่ต้องมารับที่โรงพยาบาล เนื่องจากตรงกับช่วง COVID-19 ทำให้โครงการนี้ “เกิด” ทันที เพราะทุกฝ่ายต้องการลดจำนวนคนไข้มาโรงพยาบาลให้น้อยที่สุด โครงการนี้สร้างรายได้ให้ ปณท. แล้ว 3-4 ล้านบาทต่อเดือน

โครงการต่อไปที่จะทำคือจับมือพันธมิตรธนาคารกรุงไทยทำระบบเรียกเก็บเงินภาษีให้กับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เริ่มต้นจากเก็บ “ภาษีที่ดิน” ซึ่งเริ่มปีนี้เป็นปีแรก

ข้อได้เปรียบของไปรษณีย์ไทยคือความใกล้ชิดและผูกพันกับชุมชน

แนวคิดคือปกติหน่วยงาน อปท. จะต้องส่งเอกสารแจ้งให้ประชาชนมาชำระภาษีที่ดินทางไปรษณีย์อยู่แล้ว แต่การมาชำระหากจะต้องเดินทางไปชำระที่ อปท. ประชาชนจะเสียเวลาและค่าใช้จ่ายมาก ปณท.ร่วมกับ ธ.กรุงไทย จึงเสนอตัวเป็นตัวกลางรับชำระภาษีที่ดินได้ที่ไปรษณีย์ไทยและสาขา ธ.กรุงไทย ทุกแห่ง ภาษีที่ได้รับมา ปณท.จะหักค่าใช้จ่ายการส่งเอกสารเรียกชำระและค่าธรรมเนียมตัวกลาง ส่วนที่เหลือส่งให้กับ อปท.

แนวคิดคล้ายกันนี้ ก่อกิจยังนำไปเจรจากับ “ไมโครซอฟท์” ที่สิงคโปร์ กล่าวถึงช่องว่างในระบบราชการไทยบางแห่งไม่มีบัตรเครดิตขององค์กรรูดจ่ายค่าซอฟต์แวร์ได้เหมือนเอกชน แต่จะต้องมีบริษัทออกบิลเรียกเก็บเงิน ซึ่ง ปณท.เสนอตัวเป็นตัวกลางในระบบนี้เพื่อให้ผู้ซื้อที่ไม่มีบัตรเครดิตทั้งรัฐและประชาชนทั่วไปซื้อซอฟต์แวร์ง่ายขึ้น ปัจจุบันยังอยู่ระหว่างเจรจาดีล

 

ไอเดียอนาคต ร่วมลงทุนทำ “ร้านกาแฟ” ในที่ทำการ

ก่อกิจยังคิดไกลถึงการหาลำไพ่พิเศษให้กับที่ทำการไปรษณีย์ซึ่งมักจะมีพื้นที่ว่าง คือการทำ “ร้านกาแฟ” โดยไม่ต้องการให้เช่าที่เท่านั้น แต่ต้องการร่วมลงทุนกับเอกชน เพื่อโอกาสได้รายได้มากกว่าค่าเช่า

โมเดลที่ต้องการคือนำระบบร้านกาแฟเอกชนมาลงในร้านแต่ใช้ชื่อร้านว่า Post Cup ตกแต่งในแบบไปรษณีย์ไทย รายได้ที่ได้แบ่งกันตามตกลง สิ่งที่เอกชนจะได้คือทำเลไปรษณีย์ไทยซึ่งคนในชุมชนรู้จักอยู่แล้ว และทาง ปณท.จะมีพื้นที่ร้านกาแฟที่เปิดเช้ากว่าหรือปิดช้ากว่าเวลาทำการปกติ ใช้ต่อยอดโครงการอนาคต

ขณะนี้บริษัทมีเจรจาร้านกาแฟ 2 แห่ง แห่งหนึ่งคือ Bellinee’s ในเครือซีพี ส่วนอีกเจ้าขอไม่เปิดเผย ทั้งนี้ หากทั้ง 2 เจ้าไม่สามารถจบดีลภายในเดือนตุลาคมนี้ จะเดินหน้าหาพันธมิตรอื่นต่อไป

 

จุดรับพัสดุด้วยตนเอง iBox แก้ปัญหาคนไม่อยู่บ้าน

อีกโมเดลที่กำลังศึกษาอยู่คือโครงการ iBox เป็นตู้ลักษณะคล้ายตู้ล็อกเกอร์ สำหรับให้บุรุษไปรษณีย์นำจ่ายพัสดุในตู้นี้แทนเมื่อผู้รับไม่อยู่บ้าน และให้ผู้รับนำรหัสที่ได้ทางโทรศัพท์ไปไขล็อกตู้รับพัสดุที่ iBox ใกล้บ้านได้ตลอด 24 ชม. ปัจจุบันมีทดลองใช้แล้ว 10 ตู้

ตู้ไปรษณีย์ไทย iBox รับพัสดุได้ด้วยตนเอง

ก่อกิจกล่าวว่าโมเดลเบื้องต้นคือการตอบโจทย์เรื่อง Last Mile มีเป้าหมายขยายเป็น 30,000 ตู้ภายใน 3 ปี (2564-66) ขณะนี้กำลังศึกษารูปแบบ เนื่องจากหวังให้ตู้เหล่านี้เป็นตู้รักษาอุณหภูมิด้วยสำหรับกรณีพัสดุเป็นยารักษาโรคหรือของเน่าเสียง่าย รวมถึงโมเดลค่าใช้จ่ายหากผู้รับมารับพัสดุออกจากตู้ช้ากว่าเวลาที่กำหนด

ส่วนมุมมองอนาคต ตู้ iBox แบบนี้อาจจะพัฒนาไปทำหน้าที่ First Mile ด้วย คือเป็นตู้ส่งพัสดุด้วยตนเอง และจะไปผูกกับร้านกาแฟ ณ ที่ทำการ ปณ.ดังกล่าว คืออาจจะมีตู้ iBox ที่ร้านกาแฟและสามารถชำระค่าส่งไปรษณีย์กับแคชเชียร์ร้านกาแฟได้เลย

 

ห่วงเอกชน “ทุ่มตลาด” ระยะยาวเกิดปัญหา

ปิดท้ายในแง่การทำตลาดลูกค้ารายย่อย ก่อกิจกล่าวว่าตลาดปัจจุบันแข่งขันดุเดือดจริง โดยเฉพาะเรื่องสงครามราคา ทำให้ ปณท. ต้องลดราคาลงบ้างแม้จะยังไม่ถึงระดับขาดทุนต่อชิ้น แต่จะทำให้รายได้และกำไรบริษัทลดลง ช่วงครึ่งปีแรกปี 2563 บริษัททำรายได้ประมาณ 12,000 ล้านบาท และกำไรก่อนหักภาษีอยู่ที่กว่า 1,000 ล้านบาท รวมรายได้ทั้งปีอาจจะต่ำกว่าปีก่อน ด้วยตัวเลขนี้ มาร์เก็ตแชร์ของบริษัทลดลงเหลือต่ำกว่า 50%

ประเด็นนี้ ก่อกิจแสดงความกังวลต่อการทุ่มตลาดของเอกชน เพราะขณะนี้หลายเจ้าลดราคาต่ำกว่า ปณท. ไป 5-10 บาทต่อชิ้นซึ่งอาจจะเป็นราคาที่บิดเบือนความเป็นจริง

“การแข่งขันเยอะเราโอเคนะ แต่ที่ไม่โอเคคือการทุ่มตลาด มองระยะยาวผู้บริโภคจะได้ประโยชน์จริงหรือเปล่า สิ่งนี้เคยเกิดขึ้นแล้วเมื่อ Grab ควบรวมกิจการ Uber ทำให้เหลือเจ้าเดียวที่ทำธุรกิจประเภทนี้และเป็นคนกำหนดราคาได้ อนาคตอาจจะเห็นการควบรวมแบบนี้เหมือนกันในธุรกิจขนส่ง” ก่อกิจกล่าว “ดังนั้นมองว่าควรจะต้องมีหน่วยงานรัฐกำกับดูแล เหมือนกับสัญญาณโทรคมนาคมหรือพลังงาน ถ้ายึดโมเดลคล้ายกับต่างประเทศ หน่วยงาน กสทช. น่าจะเป็นผู้ดูแล”

ระหว่างร้องเรียนคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าอยู่ ไปรษณีย์ไทยก็ยังต้องแข่งด้วยอาวุธเท่าที่ตนเองมีไปก่อน โดยจุดแข็งที่สุดที่ก่อกิจมองเห็น ก็ต้องย้อนกลับไปที่ DNA ที่บ่มเพาะมาตลอด 137 ปีและความเป็นรัฐวิสาหกิจ ทำให้บุรุษไปรษณีย์เป็นพนักงานประจำ อยู่กันยาวๆ ในพื้นที่ รู้จักบ้านทุกหลังและคนทุกคนเหมือนเป็น “ญาติ” คนหนึ่งของชุมชนนั่นเอง