จากรายงานของ The Global E-Waste Monitor 2020 มหาวิทยาลัยสหประชาชาติ (United Nation University, UNU) คาดการณ์ว่าปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เกิดขึ้นทั่วโลกจะมีมากถึง 53.6 ล้านเมตริกตัน ในปี 2019 และจะสูงขึ้นถึง 74.7 ล้านเมตริกตันในปี 2030 โดยทวีปเอเชียเป็นทวีปที่ผลิตขยะอิเล็กทรอนิกส์สูงที่สุดกว่า 24.9 ล้านเมตริกตัน ในปริมาณขยะทั้งหมดมีเพียง 17.4% ที่ได้รับการกำจัดอย่างถูกวิธี ที่เหลืออีกกว่า 82.6% ไม่สามารถติดตามได้
ด้วยปัจจัยในปัจจุบัน อาทิ วิกฤติ COVID-19 และการมาของ 5G ที่ขับเคลื่อนให้มีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้น ดังนั้น กระบวนการกำจัดอย่างถูกวิธีก็จะยิ่งมีความสำคัญ และในฐานะที่ ‘เอไอเอส’ (AIS) เป็น Digital Life Service Provider ที่จำหน่ายสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และให้บริการโครงข่าย ดังนั้น เอไอเอสตระหนักดีว่าต้องเป็นส่วนหนึ่งที่จะชักชวนให้คนนำ E-Waste มาทิ้งอย่างถูกวิธีเพื่อนำไปรีไซเคิลและนำวัตถุดิบกลับมาใช้ใหม่ และป้องกันการรั่วไหลของสารเคมีลงสู่แผ่นดินและแหล่งน้ำอันจะก่อให้เกิดอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตบนโลก
“ความยั่งยืนเป็นเรื่องยาวมาก เวลาเราคุยกันมันคือความเสี่ยงเกิน 10 ปีขึ้นไป ซึ่งตอนนี้องค์กรต่าง ๆ เริ่มหันมาตื่นตัวเรื่องความยั่งยืนมากขึ้น รวมถึงกองทุนต่าง ๆ ที่มองว่าเรื่องความยั่งยืนเป็นจุดตั้งต้น ดังนั้นเชื่อว่าภายในปี 2030 คาดว่าทุกองค์กรจะนำเรื่องความยั่งยืนเข้าหลอมรวมมาอยู่ในกระบวนการการดำเนินงานอย่างชัดเจน รวมถึงผลอย่างเป็นรูปธรรม” นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เอไอเอส กล่าว
ที่ผ่านมา เอไอเอสเริ่มเก็บข้อมูลการกำจัดขยะตั้งแต่ปี 2016-2019 โดยทำการกำจัดขยะจากโครงข่ายไปกว่า 700 ตัน โดยมีสัดส่วนที่นำไปรีไซเคิลถึง 96% และตั้งเป้าที่รีไซเคิลให้ได้ 97% ในอนาคต ขณะที่ส่วนของการรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์จากผู้บริโภคอยู่ที่ 3 ตัน สามารถรีไซเคิลได้ 100% และตั้งเป้าที่จะกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์แบบ Zero Landfill หรือไม่มีการฝังกลบให้ได้ในอนาคต
อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่เอไอเอสและหลาย ๆ องค์กรพบคือ คนไทยมักไม่ทิ้งหรือทิ้งกับซาเล้ง ดังนั้น การสร้างการรับรู้และการปลูกฝังจิตสำนึกจึงเป็นสิ่งสำคัญที่เอไอเอสต้องการเน้นย้ำ โดยที่ผ่านมาเอไอเอสได้ขยายจุดรับขยะโดยร่วมกับพันธมิตรกว่า 52 องค์กร เพื่อขยายจุดรับขยะอิเล็กทรอนิกส์ รวมเป็น 2,000 จุดทั่วไทย นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อสร้างเอนเกจเมนต์ อาทิ มีการจัดเกมและผลิตสื่อต่าง ๆ
ล่าสุด เอไอเอสออกแคมเปญใหม่ ‘เอไอเอส E-Waste ทิ้งรับพอยท์’ ที่ร่วมภารกิจเพื่อสิ่งแวดล้อมครั้งสำคัญไปกับเอไอเอส เปลี่ยนทุกการทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ให้เป็นคะแนน AIS Points เพื่อเป็นสิ่งจูงใจ และเมื่อหลังจากที่เอไอเอสนำขยะอิเล็กทรอนิกส์ไปรีไซเคิลแล้ว เงินที่ได้จากการรีไซเคิล เอไอเอสจะนำไปบริจาคเพื่อให้เกิดกระบวนการกำจัดขยะที่ยั่งยืนต่อไป
“เรื่อง E-Waste เราทำอย่างจริงจังต่อเนื่องตลอด แม้เราจะใช้วิธีเหมือนการตลาดแต่วัตถุประสงค์ต่างกัน เพราะต้องยอมรับว่าเมื่อผลกระทบยังเห็นไม่ชัดเนื่องจากเป็นเรื่องระยะยาว แรงกระตุ้นที่ให้คนตระหนักจึงมีน้อยมาก ดังนั้น จุดรับขยะที่มีจำนวนมากขึ้นเราก็หวังว่าจะช่วยสร้างการรับรู้และปรับวิธีคิดให้คนเปลี่ยนพฤติกรรม และภายใน 1 ปีจากนี้ เราจะต้องมีแผนงานอีกหลายอย่าง เพื่อให้เกิดกระแสต่อเนื่องจนเกิดการเปลี่ยน”
อย่างไรก็ตาม เอไอเอสไม่ได้มุ่งเน้นแค่ด้านขยะอิเล็กทรอนิกส์เท่านั้น แต่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนในทุกด้าน ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยได้มีการจัดตั้งแผนกงานพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืนเพื่อดูแลโดยเฉพาะ และที่ผ่านมาได้มีการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนศูนย์ DATA Center แล้ว 2 แห่ง จากทั้งหมด 9 แห่ง และติดตั้งตามสถานีฐาน 1,000 แห่งจากทั้งหมด 3 หมื่นแห่ง โดยคาดว่าจะติดตั้งได้ประมาณ 6,000 แห่งภายใน 3 ปี นอกจากนี้ยังมีการรณรงค์การประหยัดพลังงานในองค์กร รวมถึงการเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ของเอไอเอสช็อปแต่ละสาขาให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่ดีต่อโลก เช่น เปลี่ยนจากขวดน้ำพลาสติกเป็นกระดาษ เป็นต้น
สำหรับแคมเปญ เอไอเอส E-Waste ทิ้งรับพอยท์ ทำได้ใน 3 ขั้นตอน ดังนี้
1.นำขยะอิเล็กทรอนิกส์ 5 ประเภท ได้แก่ โทรศัพท์มือถือ/แท็บเล็ต, แบตเตอรี่มือถือ, สายชาร์จ, หูฟัง และพาวเวอร์แบงก์ ไปยังเอไอเอสช็อปใกล้บ้าน
2.แจ้งกับพนักงานว่าต้องการนำขยะอิเล็กทรอนิกส์มาทิ้ง
3.นำขยะหย่อนลงถัง และสแกน QR Code เพื่อรับ AIS Points จากแท็บเล็ตของพนักงาน ซึ่งจะแสดงผลจำนวน AIS Point ที่ได้รับทันทีผ่าน Notification โดยลูกค้าสามารถตรวจสอบยอดรวม AIS Point ได้ที่ App My AIS
โดยขยะอิเล็กทรอนิกส์ 1 ชิ้นมีค่า 5 คะแนน 1 หมายเลขสามารถรับ AIS Points ได้สูงสุด 10 คะแนนต่อวัน ระยะเวลาโครงการตั้งแต่ 1 กันยายน 2563 ถึง 31 ตุลาคม 2563