เหล้าเก่าในขวดใหม่? รื้อเหตุผล ทำไม ‘Get’ ถึงต้องเป็น ‘Gojek’

เข้ามารุกตลาดไทยด้วยชื่อ ‘GET’ ไปเมื่อต้นปี 2019 ในที่สุดก็ถึงเวลากลับมาใช้ชื่อเดิม หรือ ‘Gojek’ ซึ่งหลายคนคงรู้จักเป็นอย่างดี เพราะเป็นสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นรายแรกของอินโดนีเซีย แต่ทำไมถึงไม่ใช่ชื่อ Gojek ตั้งแต่แรก และทำไมถึงมารีแบรนด์เอาตอนนี้ รวมถึงเป้าหมายต่อจากนี้ คุณภิญญา นิตยาเกษตรวัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ Gojek ประเทศไทย จะมาอธิบายให้ฟังกัน

ภิญญา นิตยาเกษตรวัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ Gojek ประเทศไทย

รู้จัก Gojek

อย่างที่รู้ว่า Gojek เป็นสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นของอินโดนีเซีย แต่จุดเริ่มนั้นไม่ได้เริ่มจากการเป็นแอปพลิเคชัน แต่เริ่มจากเป็น Call Center เรียกวินมอเตอร์ไซค์ในปี 2010 และเริ่มทำแอปฯ Gojek ในปี 2015 พร้อมกับขยายบริการไปสู่ บริการส่งอาหาร ส่งสิ่งของต่าง ๆ รวมถึงใช้ซื้อสินค้าตามร้านค้าต่าง ๆ นอกจากนี้ยังสามารถดูหนังหรือใช้บริการทางการเงินได้อีกด้วย ซึ่งรวม ๆ แล้ว ปัจจุบัน Gojek มีบริการให้ใช้งานกว่า 20 บริการ จากเดิมที่ใช้แค่เรียกรถมอเตอร์ไซค์และรถแท็กซี่ พูดง่าย ๆ ว่าเป็น ‘ซูเปอร์แอปฯ’ แบบที่ใคร ๆ ก็อยากเป็น

หลังจากที่เติบโตอย่างก้าวกระโดดจนมียอดการดาวน์โหลดไปแล้วกว่า 190 ล้านครั้ง มีพาร์ตเนอร์คนขับมากกว่า 2 ล้านคน และมีการใช้งานกว่า 100 ล้านครั้ง/เดือน แน่นอนว่าการเติบโตดังกล่าวสามารถดึงดูดเงินจากนักลงทุนได้มากมายไม่ว่าจะเป็น Google กับ Facebook จากฝั่งอเมริกา และ Tencent จากจีน และยังไม่รวมอื่น ๆ อีกเพียบ จนในที่สุดปี 2019 Gojek ก็ได้ขยับตัวออกจากแค่อินโดนีเซีย โดยขยายธุรกิจมายังเวียดนามในชื่อ ‘Go-Viet’ ส่วนไทยใช้ชื่อ ‘Get’ และสิงคโปร์ใช้ชื่อ Gojek เหมือนเดิม

ทำไมต้องเป็น ‘Get’ ก่อน

จะมีใครเข้าใจถึงปัญหาและรู้ถึงพฤติกรรมคนในประเทศได้ดีเท่าคนในประเทศเองจริงไหม? ดังนั้น หลักการบริหารของ Gojek คือ จะเลือกให้คนในประเทศนั้น ๆ บริหารเอง เพื่อทำให้บริการเหมาะสมกับพฤติกรรมของคนในประเทศนั้น รวมถึงเป็นการ ‘ทดลอง’ ตลาดก่อนว่าสามารถไปได้ดีแค่ไหน ซึ่งไทยเองก็ได้พิสูจน์แล้วว่ามีศักยภาพ เพราะในช่วงเวลาปีครึ่ง Get ได้ส่งอาหารกว่า 20 ล้านออเดอร์ มีพาร์ตเนอร์ผู้ขับกว่า 5 หมื่นราย และพาร์ตเนอร์ร้านอาหารกว่า 3 หมื่นร้าน

และในที่สุดก็ถึงเวลาที่ Get จะรีแบรนด์กลับไปเป็น Gojek เหมือนเดิม และไม่ใช่แค่ไทยเท่านั้น Go-Viet ของเวียดนามก็รีแบรนด์กลับเป็น Gojek ด้วยเช่นกันเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งเหมือนเป็นการส่งสัญญาณว่า พร้อมแล้วที่ Gojek จะลุยตลาดโลกอย่างเต็มตัว พร้อมกับตั้งเป้าที่จะ บาลานซ์สัดส่วนรายได้ จากตลาดอินโดนีเซียและต่างประเทศให้ได้ 50-50 ซึ่งปัจจุบันตลาดไทยและเวียดนามถือเป็นตลาดนอกประเทศที่ใหญ่ที่สุด

“ประโยชน์ของความเป็น Global คือ ทุกฟีเจอร์และเทคโนโลยีจะเป็นระดับโลก ดังนั้นในทุกประเทศจะได้ใช้งานแอปที่มีคุณภาพเหมือนกัน แต่การบริหารยังต้องเป็น Local เพื่อให้เข้าใจตลาดอยู่”

ย้ำเป็นแบรนด์ไทย เเม้ใช้ชื่อ Gojek ก็ตาม

แม้จะเปลี่ยนชื่อแบรนด์เป็น Gojek แต่บริษัทยังย้ำว่าเป็นของ ‘ไทย’ แน่นอน และการรีแบรนด์ในครั้งนี้ที่ต้องหันไปใช้ ‘สีเขียว’ ที่แทบจะเหมือนกับคู่เเข่งในตลาด จากที่เคยใช้ สีเขียวสะท้อนแสง ซึ่งแตกต่างจากคู่แข่งอย่างชัดเจน แต่ทาง คุณภิญญา ก็มั่นใจว่าผู้บริโภคจะไม่สับสน เพราะเชื่อว่าชื่อ Gojek เป็นที่รู้จักอยู่เเล้ว และมั่นใจว่าจะใช้เวลาไม่เกิน 6 เดือน ในการที่ทำให้แบรนด์เป็นที่รู้จักในวงกว้างอีกครั้ง เพราะแค่ระยะเวลา 15 วัน ยอดดาวน์โหลดแอปฯ Gojek ก็ทะยานไปหลัก แสนครั้ง เรียบร้อย จากเดิมที่ Get มีผู้ดาวน์โหลด 3 ล้านครั้ง

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่รีแบรนด์ไป ทาง Gojek เองก็ได้ทุ่มงบการตลาดมหาศาล แม้จะไม่สามารถเปิดเผยเป็นตัวเลขได้ แต่สามารถรับรู้ได้ผ่านแคมเปญการตลาดใหม่ ๆ อาทิ มอบคูปองส่วนลดมูลค่าสูงสุดถึง 2,500 บาทให้กับผู้ใช้งานใหม่ พร้อมดีลส่วนลดค่าอาหารสุดคุ้ม ลดสูงสุดถึง 50%, คูปองส่วนลดมูลค่า 12 บาทในส่วนของบริการเรียกรถจักรยานยนต์จำนวน 5 ครั้ง และแจกฟรีโดนัท Krispy Kreme แก่ผู้ใช้บริการ 10,000 ราย วันที่ 17 กันยายน ตั้งแต่ช่วงเที่ยงวันไปจนถึง 6 โมงเย็น

33% ของผู้บริโภคไทยต้องการความหลากหลาย 27% ชอบโปรโมชัน 13% ต้องการความเร็วในการจัดส่ง และ 10% ต้องการความง่ายในการใช้งาน ดังนั้น เรายังคงลงทุนในไทยต่อเนื่อง ทั้งโปรโมชัน การเพิ่มพาร์ตเนอร์ร้านอาหารและพาร์ตเนอร์ผู้ขับ”

วางเป้าโต 10 เท่า พร้อมก้าวเป็น Super Apps

หลังจากรีแบรนด์เป็น Gojek ส่งผลให้ชื่อของบริการต่าง ๆ ก็ต้องเปลี่ยนตาม ได้แก่ ‘GoFood’ บริการส่งอาหาร ‘GoRide’ บริการเรียกรถจักรยานยนต์ ‘GoSend’ บริการรับส่งพัสดุ และ ‘GoPay’ บริการอีวอลเล็ต และได้เพิ่มฟีเจอร์ใหม่อีก 2 ฟีเจอร์ ได้แก่ GoFood Pickup บริการสั่งอาหารล่วงหน้า แล้วไปเองที่ร้าน โดยสาเหตุที่ออกฟีเจอร์นี้ก็เพราะพบว่าผู้ใช้งานในเมืองกว่า 55% เข้าถึงบริการสั่งอาหารผ่านแอปพลิเคชัน ในขณะที่กว่า 75% นิยมการไปซื้ออาหารที่ร้านค้า ซึ่งปัจจุบันมีร้านอาหารกว่า 500 แห่งในกรุงเทพฯ เข้าร่วม

และอีกฟีเจอร์ที่เป็นเหมือน ‘ก้าวต่อไป’ ที่ทำให้ Gojek เข้าใกล้คำว่าซูเปอร์แอปก็คือฟีเจอร์ ‘แชท’ โดยผู้ใช้สามารถพูดคุยกับเพื่อนรวมถึงแชร์ข้อมูลร้านอาหารที่ชื่นชอบร่วมกันได้ หรือจะสร้าง Wishlist สำหรับบันทึกร้านอาหาร หรือเมนูที่ชื่นชอบเอาไว้สำหรับการสั่งอาหารในครั้งต่อไป โดยคุณภิญญาอธิบายว่า เมื่อมีแชทให้ใช้สื่อสาร ผู้บริโภคก็ไม่ต้องออกจากแอปไปคุยเรื่องอาหารกันอีกต่อไป แถมยังช่วยให้อยู่ในแอปฯ นานขึ้นอีกด้วย อย่างไรก็ตาม คงต้องรอดูว่าจะมีฟีเจอร์อะไรใหม่ ๆ เข้ามาอีก เพราะหากพิจารณาจากบริษัทเเม่ที่มีฟีเจอร์กว่า 20 รายการ Gojek ในไทยก็ถือว่ายังห่างไกล

ทั้งนี้ เป้าหมายหลังจากที่รีแบรนด์เป็น Gojek ก็คือ เติบโตให้ได้ 10 เท่า ในทุกส่วน ไม่ว่าจะเป็นรายได้, ผู้ใช้งาน, จำนวนผู้ขับ, จำนวนร้านอาหาร โดยใช้จุดแข็งก็คือ ‘เทคโนโลยี’ และ ‘Passion’ ที่กระหายความสำเร็จซึ่งเปรียบเหมือนวัฒนธรรมขององค์กร และเร็ว ๆ นี้ Gojek ได้เตรียมที่จะขยายตลาดสู่พื้นที่ต่างจังหวัด จากที่ให้บริการเฉพาะกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมถึงเตรียมผุด ‘คลาวด์ คิทเช่น’ ไว้อัดกับคู่แข่งแน่นอน