บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของจีน กำลังเบนเข็มเพิ่มลงทุนธุรกิจไปหาโซนปลอดภัยอย่าง “สิงคโปร์” หลังความขัดเเย้งระหว่างจีนเเละสหรัฐฯ ทีวีความตึงเครียดขึ้นต่อเนื่อง
จากรายงานของ BBC เผยว่า สองยักษ์ใหญ่อย่าง Tencent และ Alibaba กำลังวางเเผนที่จะขยายธุรกิจในสิงคโปร์ ขณะที่ ByteDance บริษัทเเม่ของ TikTok ที่กำลังมีปัญหากับรัฐบาลสหรัฐฯ อยู่ ณ ขณะนี้ ก็มีเเผนลงทุนหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐในสิงคโปร์เร็วๆ นี้ด้วย
ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลวอชิงตันกับรัฐบาลปักกิ่ง กำลังตึงเครียดมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะบรรดาบริษัทเทคโนโลยีใหญ่ที่กำลังตกเป็นเป้าหมาย เเละดูเหมือน “สิงคโปร์” จะกลายเป็นประเทศปลอดภัยในความขัดเเย้งนี้เพราะมีความสัมพันธ์ที่ดีกับทั้งสหรัฐฯ และจีนมาโดยตลอด
Tencent เทคฯ ยักษ์ใหญ่ของ “หม่า ฮั่วเถิง” มหาเศรษฐีที่รวยที่สุดของจีน ซึ่งเป็นผู้ให้บริการแอปแชทยอดนิยมอย่าง Wechat ประกาศตั้งสำนักงานประจำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งใหม่ในสิงคโปร์ เมื่อ 15 ก.ย.ที่ผ่านมา โดยให้เหตุผลว่า การขยายธุรกิจในสิงคโปร์จะช่วยส่งเสริมกลยุทธ์ของธุรกิจที่กำลังเติบโตในอาเซียนและพื้นที่อื่น ๆ
ก่อนหน้านี้ รัฐบาลสหรัฐฯ สั่งห้ามการดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน WeChat และ TikTok โดยจะมีผลตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ 20 ก.ย. ด้วยข้ออ้างที่ว่าแอปฯ สัญชาติจีนดังกล่าวเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ
ล่าสุด Tencent ได้เปลี่ยนชื่อ WeChat เป็น WeCom เพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้ใช้ก่อนที่จะถูกแบนที่ผู้ใช้งานเฉลี่ย 19 ล้านคนต่อวันในอเมริกา ดังนั้น ผลกระทบจากการถูกแบนจึงมีมากกว่า TikTok เพราะอาจทำให้ผู้ใช้ได้รับผลกระทบจากระบบการโอนเงิน จ่ายเงิน ที่อาจล่าช้าหรือติดขัดตั้งแต่คืนวันอาทิตย์ที่ 20 ก.ย.เป็นต้นไป
ด้าน Alibaba บิ๊กเทคโนโลยีจีนอีกราย มีเเผนจะขยายลงทุนในสิงคโปร์ ซึ่งจะมีการทุ่มเงินเพื่อเพิ่มลงทุนใน Lazada เเละ Grab ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการเจรจา ขณะที่ ByteDance บริษัทเเม่ของ TikTok ก็มีเเผนจะลงทุนหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐในสิงคโปร์เร็ว ๆ นี้ อีกทั้งบริษัทยังได้ยื่นขออนุญาตจัดตั้ง “ธนาคารดิจิทัล” จากธนาคารกลางสิงคโปร์ โดยร่วมมือกับฟินเทคอย่าง Ant Financial ของ Alibaba เเละ Sea ของ Tencent ด้วย
“ความตึงเครียดระหว่างจีนกับสหรัฐฯ มีความเสี่ยงที่จะเกิดการแยกระบบเทคโนโลยีของโลกออกจากกัน ดังนั้นเหล่าบริษัทเทคทั้งหลายจึงต้องหาทางดำเนินธุรกิจทั้งภายในและภายนอกประเทศจีน” Tommy Wu จาก Oxford Economics ให้ความเห็นกับ BBC
ที่ผ่านมา สิงคโปร์เป็นประเทศเนื้อหอมที่บรรดาธุรกิจเทคโนโลยีต่างชาติให้ความเชื่อมั่น ทั้งในเเง่ในแง่ของระบบการเงินและกฎหมายที่ก้าวหน้า เเละตอนนี้ สิงคโปร์ยังเป็นพื้นที่มั่นคงในสายตาบริษัทจีนต่างๆ ทั้งในแง่ความเป็นกลางระหว่างจีนกับสหรัฐฯ การเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมของภูมิภาค หลีกหนีจากความวุ่นวายทางการเมืองในฮ่องกงได้
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจสิงคโปร์บอบช้ำจากพิษ COVID-19 มากกว่าที่ประเมินไว้ เช่นเดียวกับหลายประเทศทั่วโลก บ่งชี้สัญญาณการฟื้นตัวที่ต้องใช้เวลานาน โดยตัวเลขจีดีพีในไตรมาส 2 หดตัวถึง 42.9% เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปี 2020 พร้อมหั่นคาดการณ์เศรษฐกิจทั้งปีนี้ เป็นติดลบ 5-7% จากเดิมที่เคยคาดไว้ที่ 4-7%
- เศรษฐกิจ “สิงคโปร์” เจ็บหนัก ถดถอยกว่าเดิม GDP ไตรมาส 2 ร่วงเกือบ 43%
- สิงคโปร์ จูงใจบริษัทจ้าง “แรงงานท้องถิ่น” สมทบเงินเดือนเพิ่มให้ 1 ปี เกือบ 7 แสนบาทต่อคน
Nick Redfearn จากบริษัทปรึกษาธุรกิจ Rouse ให้ความเห็นว่า ปกติเเล้ว สำนักงานใหญ่ที่มาเปิดประจำภูมิภาคจะดำเนินธุรกิจแทนบริษัทแม่ ทำหน้าที่เป็นผู้ลงทุนต่อในประเทศอื่น ๆ ทั้งในฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และเวียดนาม ซึ่งช่วยให้บรรดาบริษัทจีนหลีกเลี่ยงการเปิดเผยตัวว่าเป็นทุนจีนโดยตรงได้
อย่างไรก็ตาม ความเห็นอีกมุมจาก Rui Ma นักลงทุนและผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีจีน มองว่า ความเคลื่อนไหวของบริษัทเทคฯ จีนที่สนใจลงทุนสิงคโปร์มากขึ้น ก็ไม่ต่างจากการเข้ามาตั้งสำนักงานใหญ่ประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกในสิงคโปร์ของบริษัทเทคโนโลยีตะวันตก อย่าง Google, Facebook, LinkedIn และอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งความขัดแย้งจีนกับสหรัฐฯ เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่ไม่ใช่สาเหตุหลักที่ต้องย้ายธุรกิจ เเต่เป็นการที่บริษัทจีนมองเห็นโอกาสระยะยาวในการขยายธุรกิจทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก
“ถ้าบริษัทตะวันตกสามารถก้าวสู่ระดับโลกได้ ทำไมบริษัทจีนจะทำไม่ได้” Rui Ma กล่าว
ที่มา : BBC